หาก ‘คามาลา แฮร์ริส’ เป็นปธน.สหรัฐฯ นโยบายกรุงวอชิงตันจะมีหน้าตาอย่างไร

  • VOA

ปธน.โจ ไบเดน และรองปธน.คามาลา แฮร์ริส ที่การประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต ที่นครฟิลาเดลเฟีย เมื่อ 3 ก.พ. 2566

การที่รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ก้าวขึ้นมาเป็นว่าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ และก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะประกาศถอนตัวจากการชิงชัยเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลในสมัยที่ 2 แฮร์ริสได้เคยแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายหาเสียงและนโยบายที่สนับสนุนในการลงสนามเลือกตั้งของตนเองและปธน.ไบเดนไว้ก่อนแล้ว และความแตกต่างนี้ก็อาจกลายมาเป็นจุดขายที่จะช่วยหนุนนำรองปธน.หญิงคนแรกของสหรัฐฯ ผู้นี้ให้คว้าชัยในการเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ได้

นโยบายผู้อพยพ

ไบเดน

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก ไบเดนสนับสนุนการจำกัดจำนวนผู้อพยพเข้าประเทศผ่านกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมาย Immigration Reform and Control Act ปี 1986 และคัดค้านนโยบาย “เมืองอันเป็นที่พึ่ง” (sanctuary cities) ที่ไม่ต้องรายงานกรณีผู้เดินทางเข้าประเทศโดยผิดกฎหมายให้รัฐบาลกลางรับรู้ แต่ในปี 2020 ไบเดนคัดค้านความพยายามของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะลดงบรัฐบาลกลางเพื่อสนับสนุนแผนงานเมืองอันเป็นที่พึ่งและนโยบายของทรัมป์ในการจับเด็กและพ่อแม่ที่หลบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแยกคุมขัง ต่อมาในช่วงรับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ไบเดนกลับมาสนับสนุนการเปิดทางขอรับสัญชาติอเมริกันสำหรับผู้เดินทางเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในบางประเภท แต่ก็รับรองมาตรการจำกัดสิทธิ์การยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยด้วย

แฮร์ริส

เมื่อครั้งที่ยังเป็นอัยการเขตซานฟรานซิสโกอยู่ แฮร์ริสสนับสนุนนโยบายการเปิดทางให้ผู้อพยเข้ามาพึ่งพิงของนครแห่งนี้ และเมื่อขึ้นมาเป็นวุฒิสมาชิก เธอก็ต้านนโยบายแยกคุมขังสมาชิกครอบครัวผู้เดินทางเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของทรัมป์ และคัดค้านการคุมขังผู้อพยพหญิงที่ตั้งครรภ์โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติของสหรัฐฯ ทั้งยังผลักดันให้มีการผ่านกฎหมายที่มีผลครอบคลุมเป็นวงกว้างและเปิดทางให้ผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายขณะเป็นเด็กได้รับสถานภาพผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในสหรัฐฯ ด้วย

Your browser doesn’t support HTML5

นโยบายกรุงวอชิงตันจะมีหน้าตาอย่างไร หาก ‘คามาลา แฮร์ริส’ ได้เป็นปธน.สหรัฐฯ

สิ่งแวดล้อม

ไบเดน

ในสมัยที่ยังเป็นวุฒิสมาชิกอยู่ ไบเดนเสนอร่างกฎหมายฉบับแรกให้สภาคองเกรสพิจารณาในปี 1986 ว่าด้วยการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยังสนับสนุนร่างกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มากมายด้วย ต่อมา เมื่อเป็นแคนดิเดตเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ไบเดนไม่ได้ให้การรับรองอย่างเต็มตัวต่อข้อเสนอ Green New Deal ที่สมาชิกหัวก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตเสนอมา แต่ก็นำบางส่วนของร่างข้อเสนอนี้มาใช้ในนโยบายหาเสียงของตน จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้ว ไบเดนประกาศให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงปารีสที่รัฐบาลปธน.ทรัมป์ถอนสหรัฐฯ ออกมา ก่อนที่จะผ่านแผนปฏิรูปต่าง ๆ ออกมามากมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไบเดนที่ไม่ทำงานหนักมากพอในเรื่องนี้และสำหรับการปฏิเสธที่จะออกคำสั่งห้ามการสกัดก๊าซธรรมชาติด้วยวิธีขุดเจาะที่เรียกว่า hydraulic fracturing หรือ fracking

แฮร์ริส

ในการหาเสียงปี 2020 นั้น แฮร์ริสรับรองข้อตกลง Green New Deal และเสนอแผนงานมูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2035 นอกจากการดำเนินการยุติการอุดหนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมเรียกเก็บภาษีคาร์บอน และสนับสนุนการสั่งห้ามการสกัดก๊าซธรรมชาติแบบ fracking ด้วย

ปธน.โจ ไบเดน ลงนามรับรองกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและบริการสุขภาพที่พรรคเดโมแครตนำเสนอ เมื่อ 16 ส.ค. 2565

การศึกษา

ไบเดน

แม้จะมีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายให้การศึกษาขั้นสูงฟรีถ้วนหน้ามากมาย ไบเดนกลับมุ่งเน้นการดำเนินมาตรการเฉพาะเจาะจงเช่น นโยบายทำให้การเข้าศึกษาในวิทยาลัยชุมชนไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย และเพิ่มตัวเลขทุนการศึกษาภายใต้โครงการ Pell Grants เป็นต้น โดยแผนงานดังกล่าวมีเนื้อหายกหนี้เงินกู้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นมูลค่าสูงสุดถึง 20,000 ดอลลาร์ให้กับผู้กู้จำนวน 40 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ถูกศาลสูงปัดตกไป

แฮร์ริส

ในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2020 นั้น แฮร์ริสเสนอการยกหนี้การศึกษาแบบจำกัดให้กับนักศึกษาเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยก่อนหน้านั้น เธอสนับสนุนแผนของวุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอร์ส ที่แนะให้ยกเลิกการเก็บค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาในวิทยาลัยชุมชนและนักศึกษาที่เข้าศึกษาในหลักสูตร 4 ปีของมหาวิทยาลัยรัฐและรายได้รวมของครอบครัวมีไม่ถึง 125,000 ดอลลาร์ต่อปี

ระบบบริการสุขภาพ

ไบเดน

ตั้งแต่ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ไบเดนคัดค้านข้อเสนอเกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพแบบฟรีถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงอายุ เช่น กฎหมาย Medicare for All Act แต่สนับสนุนขยายความครอบคลุมของกฎหมาย Affordable Care Act ที่ผ่านออกมาใช้ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่เสนอตัวเลือกการซื้อประกันสำหรับประชาชนทุกคนและอนุมัติการลดหย่อนภาษีให้กับเบี้ยประกันที่จ่ายไป ทั้งยังพยายามลดราคายาที่แพทย์จ่ายและลดเกณฑ์อายุผู้มีสิทธิ์รับบริการภายใต้กฎหมาย Medicare ให้เป็น 60 ปีจากเกณฑ์ปัจจุบันที่ 65 ปี

แฮร์ริส

ขณะดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก แฮร์ริสเป็นผู้ร่วมสนับสนุนกฎหมาย Medicare for All Act ที่สว.แซนเดอร์เสนอ และสนับสนุนความพยายามสร้างทางเลือกประกันของรัฐขึ้นมาด้วย และในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2020 เธอได้เสนอแผน Medicare for All Act ที่มีเนื้อหากลาง ๆ มากขึ้นเพื่อดำเนินการในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าพร้อม ๆ กับเปิดทางเลือกให้ใช้บริการประกันเอกชนด้วย

รองปธน.คามาลา แฮร์ริส ขึ้นกล่าวปราศรัยที่รัฐวิสคอนซิน เมื่อ 22 ก.ค. 2567

การทำแท้ง

ไบเดน

เมื่อครั้งเป็นวุฒิสมาชิก ไบเดนเคยสนับสนุนการจำกัดการทำแท้ง แต่กลายมาเป็นผู้สนับสนุนสิทธิ์การทำแท้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเมื่อศาลสูงสหรัฐฯ มีคำพิพากษากลับคำตัดสิน Roe v. Wade ว่าด้วยสิทธิการทำแท้ง ไบเดนได้ออกมาเรียกร้องให้มีการผ่านกฎหมายรัฐบาลกลางเพื่อให้มีการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ในการทำแท้งที่ชาวอเมริกันเคยมีก่อนศาลสูงจะมีคำตัดสิน

แฮร์ริส

รองปธน.สหรัฐฯ คนปัจจุบันได้คะแนนนิยม 100% จากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิการทำแท้ง Reproductive Freedom for All (ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อ NARAL Pro-Choice America) และในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2020 เธอได้เสนอว่ากฎเกณฑ์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับการทำแท้งที่รัฐบาลระดับรัฐผ่านออกมาต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางก่อนบังคับใช้ได้

อิสราเอล

ไบเดน

ตั้งแต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 70 ไบเดนเป็นผู้ที่ออกมาสนับสนุนอิสราเอลมากที่สุดรายหนึ่งในพรรคเดโมแครต และสนับสนุนการส่งความช่วยเหลือทางทหารและทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับหนุนแนวทางสองรัฐในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่ในเวลานี้ ไบเดนเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากคนภายในพรรคต่อการเดินหน้าส่งอาวุธให้อิสราเอลเพื่อใช้ในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส ขณะที่ ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนชาวปาเลสไตน์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากจนทำให้เกิดเสียงคัดค้านออกมามากมายจากทั่วโลก

Your browser doesn’t support HTML5

ไบเดนหารือเนทันยาฮูที่ทำเนียบขาว- เร่งเร้าหยุดยิงในกาซ่า

แฮร์ริส

ขณะที่แฮร์ริสจะเน้นย้ำการสนับสนุนอิสราเอลและสิทธิ์ในการปกป้องตนเอง รองปธน.สหรัฐฯ มีมุมมองที่แตกต่างจากไบเดนในจุดที่มีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์อย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แฮร์ริสกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรก ๆ ของรัฐบาลไบเดนที่ออกมาเรียกร้องให้เกิดการหยุดยิงและมีรายงานว่า เธอได้ร้องขอให้ไบเดนกดดันอิสราเอลให้ออกมาแก้ไขความกังวลด้านมนุษยธรรมด้วย

เทคโนโลยี

ไบเดน

ไบเดนเลือกที่จะไม่แสดงท่าทีกำกับดูแบบริษัทเทคโนโลยีโดยตรง แต่ขอให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและร้องขอให้ผู้นำอุตสาหกรรมนี้อาสาดำเนินแผนงานป้องกันคุ้มครองการใช้ปัญญาประดิษฐ์ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ไบเดนลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับหนึ่งที่ให้อำนาจหน่วยงานรัฐบาลกลางในการสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ เกี่ยวกับการรายงานและการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ออกมาแล้ว

แฮร์ริส

ในฐานะที่เคยเป็นอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย แฮร์ริสเป็นผู้นำทีมผลักดันการออกกฎเกณฑ์ควบคุมดูแลบริษัทเทคโนโลยี และจัดตั้งหน่วย Privacy Enforcement and Protection Unit ขึ้นมา พร้อม ๆ กับขอให้มีการกำกับดูแลโดยตรงและการตรวจสอบการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้มากขึ้น แม้จริง ๆ แล้ว เธอยังคงมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการจากซิลิคอนแวลลีย์และให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้อยู่เสมอก็ตาม

ยาเสพติด

ไบเดน

ในช่วงทำหน้าที่สมาชิกสภาสูงอยู่นั้น ไบเดนนำเสนอตนเองในฐานะผู้นำทัพต่อต้านยาเสพติด และมีบทบาทช่วยทำสงครามต้านยาเสพติด (War on Drugs) ด้วย และตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 มา เขาได้คัดค้านการทำให้กัญชาถูกกฎหมายและสนับสนุนกฎหมายต่าง ๆ ที่เพิ่มการลงโทษผู้ใช้ยาเสพติดหลายฉบับด้วย อย่างไรก็ตาม จุดยืนของไบเดนดูอ่อนลงจนถึงจุดที่เขากลายมาเป็นคนสนับสนุนการลดทอนความผิดคดียาเสพติดสำหรับการใช้กัญชาและการปรับเงื่อนเวลาเพื่อการใช้กัญชาสำหรับจุดประสงค์ด้านการแพทย์ด้วย

แฮร์ริส

แม้ว่าในช่วงแรกเธอจะคัดค้านการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย เวลานี้ แฮร์ริสสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวในระดับรัฐบาลกลางและการล้างข้อมูลการกระทำความผิดก่อน ๆ ทั้งยังเสนอนโยบายเรียกเก็บภาษีกัญชาและการใช้งบประมาณจากภาษีนี้เพื่อลงทุนในการพัฒนาชุมชนคนกลุ่มน้อยด้วย

การค้า

ไบเดน

ขณะทำหน้าที่วุฒิสมาชิกอยู่ ไบเดนมักลงคะแนนเสียงสนับสนุนการทำข้อตกลงการค้าเสรีเช่น ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement - NAFTA) และข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (United States-Mexico-Canada Agreement - USMCA) ที่ออกมาแทน NAFTA และแม้ไบเดนจะสนับสนุนข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) อย่างมาก ปธน.สหรัฐฯ คนปัจจุบันยังไม่ได้หาทางกลับเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงนี้เลย หลังรัฐบาลทรัมป์ถอนสหรัฐฯ ออกมา

แฮร์ริส

แฮร์ริสกล่าวไว้ว่า ตนจะคัดค้าน NAFTA และลงเสียงต้าน USMCA เนื่องจากข้อตกลงนี้ไม่ได้แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่าใดเลย เธอยังคัดค้าน TPP ด้วยเหตุผลว่าไม่มีการปกป้องและสิ่งแวดล้อมมากเพียงพอ

รองปธน.คามาลา แฮร์ริส ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อหน้าปธน.โจ ไบเดน เกี่ยวกับการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนกระบวนการ filibuster ในวุฒิสภา เี่นครแอตแลนตา เมื่อ 11 ม.ค. 2565

กระบวนการในสภาคองเกรส

ไบเดน

ด้วยชื่อเสียงของการเป็นผู้ทำงานกับทั้งสองพรรคได้ ไบเดนจึงคัดค้านการยกเลิกกระบวนการ filibuster หรือการอภิปรายถ่วงเวลาเพื่อขวางการลงมติในร่างกฎหมายที่จะเปิดทางให้พรรคที่มีเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสกัดกั้นมาตรการใด ๆ ก็ตามที่มีเสียงสนับสนุนไม่ถึง 60 เสียงซึ่งคิดเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง อย่างไรก็ตาม หลังศาลสูงพลิกกลับคำตัดสิน Roe v. Wade ไบเดนระบุว่า ตนจะยอมยกเว้นและสนับสนุนเรื่องนี้ ถ้าจะทำให้ช่วยปกป้องสิทธิ์ในการทำแท้งของชาวอเมริกันได้

แฮร์ริส

แฮร์ริสได้กล่าวไว้แล้วว่า เธอจะพยายามทำงานร่วมกับพรรครีพับลิกันก่อน แต่ก็จะพร้อมยกเลิกกระบวนการ filibuster ถ้าเรื่องนี้จะขวางทางการผ่านกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ

โดยรวมแล้ว ในฐานะรองประธานาธิบดี แฮร์ริสสนับสนุนจุดยืนของไบเดนเสมอมา และทั้งคู่ก็ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาหลังชนะการเลือกตั้งด้วย และแม้จะเชื่อกันว่า หากแฮร์ริสได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เธอจะเดินหน้านโยบายบางอย่างของรัฐบาลไบเดนต่อไปแน่ ๆ แผนการหาเสียงที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตของแฮร์ริสชี้ว่า มีความน่าจะเป็นที่จะมีการปรับเปลี่ยนกำหนดการวาระบางอย่างในรัฐบาลของเธอได้

  • ที่มา: วีโอเอ