ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: มีการใช้คำกล่าวหาเท็จมากมายเพื่อโจมตี คามาลา แฮร์ริสและแผนหาเสียงเลือกตั้ง จริงหรือไม่


แฟ้มภาพ: รองปธน.คามาลา แฮร์ริส ที่การประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงเทพฯ
แฟ้มภาพ: รองปธน.คามาลา แฮร์ริส ที่การประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงเทพฯ

นับตั้งแต่มีการประกาศว่า รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ก้าวขึ้นมาเป็นแคนดิเดตตัวแทนพรรคเดโมแครตในการชิงชัยเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ในปีนี้แทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน พบว่า เกิดคลื่นคำกล่าวหาเท็จกระหน่ำเข้าใส่ประเด็นคุณสมบัติและภูมิประวัติของรองประธานาธิบดีหญิงผู้นี้มากมาย

คำกล่าวหา: แฮร์ริส ไม่ใช่พลเมืองอเมริกันจึงไม่สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของสหรัฐฯได้

ข้อเท็จจริง: นี่เป็นคำกล่าวเท็จโดยสิ้นเชิง เพราะแฮร์ริสเกิดในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ปี 1964 ที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ตามข้อมูลในใบเกิดที่เอพีตรวจสอบแล้ว เธอจึงเป็นพลเมืองสหรัฐฯ โดยเต็มตัว

คำกล่าวหานี้อาจมีที่มาจากความจริงที่ว่า คุณแม่ของเธอเป็นนักวิจัยด้านโรงมะเร็งจากอินเดีย ขณะที่ คุณพ่อของเธอเป็นนักเศรษฐศาสตร์จากจาไมกา โดยทั้งสองพบกันขณะเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์

ภายใต้อำนาจของบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ข้อที่ 14 ผู้ใดก็ตามที่เกิดบนผืนแผ่นดินสหรัฐฯ ถือว่าเป็นพลเมืองสหรัฐฯ โดยกำหนดและมีคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีหรือประธานาธิบดีก็ได้

เจสสิกา เลวินสัน ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยกฎหมายโลโยลา (Loyola Law School) ยืนยันว่า ไม่มีข้อกังขาใด ๆ หรือต้องมีการโต้อภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติความเหมาะสมตามกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองของรองปธน.แฮร์ริส ว่าจะสามารถเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีได้หรือไม่ โดยบอกกับเอพีเมื่อวันจันทร์ว่า “คำถามทางกฎหมายมากมายมีความซับซ้อนจนต้องเจาะลึก แต่นี่ไม่ใช่คำถามอย่างที่ว่าเลย”

ถึงกระนั้น มีโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์มากมายที่พยายามหักล้างคำยืนยันว่า แฮร์ริสไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายที่จะขึ้นรับตำแหน่งสูงสุดนี้ หลังปธน.ไบเดนประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่าจะถอนตัวและรับรองตัวรองประธานาธิบดีของตนให้ลงสนามเลือกตั้งแทน

ตัวอย่างชิ้นหนึ่งของโพสต์ที่ว่าที่พบได้บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) เขียนว่า “คามาลา แฮร์ริส ไม่มีคุณสมบัติลงสมัครเป็นประธานาธิบดี” และว่า “พ่อแม่ของเธอไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำหนด เมื่อตอนเธอเกิด” และโพสต์นี้ก็มีคนมากดไลค์กว่า 34,000 ครั้ง

ประเด็นเท็จว่าด้วยคุณสมบัติของแฮร์ริสนั้นเริ่มปรากฏขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี 2019 เมื่อเธอประกาศลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วก็มีการเชียร์คำกล่าวหาเท็จนี้หนักขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังไบเดนเลือกเธอให้เป็นคู่หูเลือกตั้ง

แฟ้มภาพ - ในภาพถ่ายที่บันทึกไว้เมื่อ 24 มี.ค. 2016 นี้ คามาลา แฮร์ริส ในตำแหน่งอัยการแคลิฟอร์เนีย กำลังร่วมงานแถลงข่าวที่นครซานฟรานซิสโก
แฟ้มภาพ - ในภาพถ่ายที่บันทึกไว้เมื่อ 24 มี.ค. 2016 นี้ คามาลา แฮร์ริส ในตำแหน่งอัยการแคลิฟอร์เนีย กำลังร่วมงานแถลงข่าวที่นครซานฟรานซิสโก

คำกล่าวหา: แฮร์ริสไม่ใช่คนผิวดำ

ข้อเท็จจริง: นี่เป็นความเท็จอีกข้อ เพราะรองปธน.แฮร์ริสเป็นผู้มีเชื้อสายอินเดียและคนผิวดำ อย่างที่อธิบายไปก่อนหน้าว่า คุณพ่อของเธอซึ่งก็คือ โดนัลด์ แฮร์ริส เป็นคนผิวดำที่มาจากจาไมกา ส่วนคุณแม่ของเธอซึ่งก็คือ ชามาลา โกปาลัน เกิดที่ภาคใต้ของอินเดีย โดยแฮร์ริสเองก็ออกมาพูดเกี่ยวกับพ่อแม่ของเธอในที่สาธารณะเป็นเวลาหลายปีแล้ว และยังมีการกล่าวถึงในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอที่ตีพิมพ์ออกมาในปี 2019 เกี่ยวกับการที่ตัวเธอมองตัวเองว่าสืบเชื้อสายทั้งสองทางจากทั้งคุณพ่อและคุณแม่เสมอมา

แต่แม้จะมีหลักฐานในเรื่องนี้ออกมามากมาย ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากก็ยังทำการกล่าวอ้างแบบผิด ๆ เกี่ยวกับเชื้อชาติของรองปธน.แฮร์ริสอยู่ดี

เอพียกตัวอย่างโพสต์ชิ้นหนึ่งทางเอ็กซ์ (X) ที่มีคนมากดไลค์ราว 42,000 ครั้งและถูกแชร์ไปประมาณ 20,400 ครั้งแล้ว ตามข้อมูล ณ วันจันทร์ โดยเนื้อหานั้นระบุว่า “แค่ออกมาเตือนว่า คามาลา แฮร์ริส ไม่ใช่คนดำ” และว่า “เธอเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เธอแกล้งทำเป็นคนดำเพียงเพื่อลวงตาคนอื่น เป็นแค่โควต้าแผนงานตามแนวคิด DEI (Diversity, Equity and Inclusion – ความหลากหลาย ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของคนหมู่มาก)”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว แฮร์ริสสืบเชื้อสายทั้งชาวอินเดียและชนผิวดำ ทำให้เธอเป็นผู้หญิงผิวสีและมีเชื้อสายจากภูมิภาคเอเชียใต้คนแรกที่เข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความจริงนี้ก็มีการพูดถึงในข้อมูลประวัติส่วนตัวของเธอในเว็บไซต์ WhiteHouse.gov ทั้งยังถูกแฮร์ริสหยิบยกขึ้นมาพูดหลายต่อหลายครั้งด้วย

ตัวอย่างตอนหนึ่งในหนังสืออัตชีวประวัติ The Truths We Hold: An American Journey ที่พูดถึงประเด็นนี้มีเนื้อหาว่า “คุณแม่ คุณตาคุณยาย ลุงป้า น้าอาของดิฉัน ปลูกฝังเราให้มีความภูมิใจในรากเหง้าเอเชียใต้ของเรา” และว่า “ชื่อที่เป็นแบบอินเดียของเราสะท้อนกลับไปถึงสิ่งที่เราสืบทอดมา และเราก็ได้รับการเลี้ยงดูให้มีความตระหนักและซาบซึ้งในวัฒนธรรมอินเดีย”

ในย่อหน้าถัดมา แฮร์ริสกล่าวเสริมว่า “คุณแม่ของดิฉันเข้าใจดีว่า เธอกำลังเลี้ยงดูลูกสาวผิวดำสองคน” ก่อนที่เธอจะอ้างถึงตัวตนของเธอในบทถัดไปว่า เธอเป็น “ผู้หญิงผิวดำ” คนหนึ่ง

แฟ้มภาพ: ภาพเมื่อครั้ง คามาลา แฮร์ริส ยังเป็นวุฒิสมาชิก ให้การต้อนรับนายกเทศมนตรี วิลลี บราวน์ แห่งซานฟรานซิสโก เมื่อ 17 ธ.ค. 2017
แฟ้มภาพ: ภาพเมื่อครั้ง คามาลา แฮร์ริส ยังเป็นวุฒิสมาชิก ให้การต้อนรับนายกเทศมนตรี วิลลี บราวน์ แห่งซานฟรานซิสโก เมื่อ 17 ธ.ค. 2017

คำกล่าวหา: แฮร์ริสเริ่มต้นอาชีพของเธอด้วยการมีความสัมพันธ์กับผู้ชายที่แต่งงานแล้ว ซึ่งก็คือ วิลลี บราวน์ นักการเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ข้อเท็จจริง: คำกล่าวอ้างนี้ไม่ได้นำเสนอบริบทสำคัญบางอย่าง โดยเฉพาะจุดที่ว่า บราวน์ได้แยกทางกับภรรยาของเขาแล้วระหว่างที่มาคบหากับแฮร์ริส และนี่ก็ไม่ใช่ความลับและทุกคนก็ทราบดี

บราวน์เคยเป็นนายกเทศมนตรีนครซานฟรานซิสโกและทำหน้าที่เป็นประธานสภารัฐแคลิฟอร์เนียในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ขณะคบหากับแฮร์ริสอยู่ โดยเขาแยกทางกับภรรยาตั้งแต่ปี 1982 แล้ว

บราวน์เคยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ San Francisco Chronicle เมื่อปี 202 ที่มีชื่อเรื่องว่า “Sure, I dated Kamala Harris. So what?” (ใช่ ผมเคยเดท คามาลา แฮร์ริส แล้วไงล่ะ)

เขาเขียนบทความนั้นเพื่อแสดงการสนับสนุนแฮร์ริสที่ลงสนามเลือกตั้งเป็นอัยการนครซานฟรานซิสโกครั้งแรก เหมือนกันที่เขาเคยสนับสนุนนักการเมืองแคลิฟอร์เนียคนอื่น ๆ เช่น อดีตประธานสภาผู้แทนราษฏรแนนซี เพโลซี อดีตวุฒิสมาชิกไดแอนน์ ไฟน์สตีน และผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียแกวิน นิวซัม เป็นต้น

แฮร์ริสเคยดำรงตำแหน่งอัยการนครซานฟรานซิสโกระหว่างปี 2011-2017 ก่อนจะทำหน้าที่วุฒิสมาชิกระหว่างปี 2017-2021 และก้าวขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดี

ในด้านชีวิตส่วนตัว แฮร์ริสสมรสกับดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ ตั้งแต่ปี 2014

แต่ผู้ที่เฝ้าวิจารณ์แฮร์ริสมักนำเรื่องความสัมพันธ์ในอดีตของเธอมาใช้โจมตีประเด็นคุณสมบัติของเธอเสมอ ดังเช่น โทมิ ลาห์เรน ผู้ดำเนินรายการของสถานีข่าวฟ็อกซ์นิวส์ (Fox News) ที่ทำเช่นนั้นในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ในปี 2019 ว่า “คามาลา ... เธอสู้เพื่ออุดมคติ หรือ เธอนอนลอยมาพร้อมกับวิลลี บราวน์” ก่อนที่ ลาห์เรน จะออกมาขอโทษสำหรับคำพูดของเธอในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน ทรัมป์และผู้สนับสนุนบางรายก็พยายามเน้นย้ำประเด็นความสัมพันธ์เมื่อเกือบ 30 ปีก่อนของแฮร์ริสในการกล่าวโจมตีเมื่อเร็ว ๆ นี้ด้วย

คำกล่าวหา: คลิปวิดีโอจากรายการ Inside Edition ที่แสดงให้เห็นภาพของ มอนเทล วิลเลียมส์ พิธีกรโทรทัศน์จับมือกับแฮร์ริสและผู้หญิงอีกคนหนึ่ง เป็นข้อพิสูจน์ว่า แฮร์ริสเป็น “ชู้” (side piece) ของเขา

ข้อเท็จจริง: คลิปดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพของมอนเทลกับแฮร์ริสและลูกสาวของเขาซึ่งก็คือ แอชลีย์ วิลเลียมส์ โดยแฮร์ริสและวิลเลียมส์ ผู้พ่อซึ่งเคยเป็นนาวิกโยธินมาก่อนและเป็นพิธีกรรายการ “The Montel Williams Show” เป็นเวลากว่าสิบปี เคยคบหากับแฮร์ริสระยะหนึ่งในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000

คลิปนี้ที่เอามาจากรายการ Inside Edition ซึ่งออกอากาศในปี 2019 แสดงเห็นวิลเลียมยืนถ่ายภาพและจับมือกับสองสาวที่เพิ่งมาถึงงานเลี้ยง 2001 Eighth Annual Race to Erase MS ในนครลอสแอนเจลิส แต่ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์กลับเข้าใจผิดและนำสิ่งที่บอกว่าเป็นหลักฐานนี้มากล่าวอ้างว่า แฮร์ริสเป็น “ชู้” กับวิลเลียมส์

ในปี 2019 วิลเลียมส์เคยออกมาพูดถึงอดีตของตนกับแฮร์ริสทางทวิตเตอร์ว่า “@คามาลาแฮร์ริส และ ผม เคยเดทกันสั้น ๆ เมื่อราว 20 ปีก่อน ตอนที่เราสองคนยังโสดอยู่” และว่า “แล้วไงล่ะ ผมเคารพในตัวสว.แฮร์ริสอย่างมาก ผมก็สงสัยว่า ถ้าเธอเป็นแคนดิเดตที่เป็นผู้ชาย จะมีการเขียนประวัติการเดทของเธอออกมาแบบนี้หรือไม่”

และเมื่อวันจันทร์ วิลเลียมส์ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับคำกล่าวหาเท็จนี้อีกครั้ง โดยอ้างถึงคลิปรายการ Inside Edition ว่า “อย่างที่พวกคุณส่วนใหญ่ที่รู้ ว่า นั่นคือลูกสาวของผมที่ยืนอยู่ทางขวาของผม” และภาพจาก Getty Images ที่ถ่ายในงานเลี้ยงดังกล่าวก็ยืนยันว่า ผู้หญิงสองคนในภาพคือ แฮร์ริสและแอชลีย์ วิลเลียมส์

รองปธน.คามาลา แฮร์ริส ขณะขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด กรุงวอชิงตัน เมื่อ 8 ก.ค. 2564
รองปธน.คามาลา แฮร์ริส ขณะขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด กรุงวอชิงตัน เมื่อ 8 ก.ค. 2564

คำกล่าวหา: แฮร์ริสสัญญาว่าจะทำการ “แก้แค้นแทนประเทศชาติ” ต่อผู้สนับสนุนทรัมป์

ข้อเท็จจริง: นี่เป็นคำพูดที่มีการแต่งขึ้นและโยนว่าเป็นสิ่งที่แฮร์ริสพูด ก่อนจะมีการนำมาเผยแพร่ทางออนไลน์หลังมีคนหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างเมื่อ 5 ปีก่อน

คำพูดที่ว่านี้อ้างว่าเป็นคำสัญญาของแฮร์ริสที่ว่า ถ้าทรัมป์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้การเลือกตั้งปี 2020 ผู้สนับสนุนทรัมป์จะตกเป็นเป้าการสืบสวนโดยรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยเนื้อความที่มีการกล่าวอ้างว่าเธอเอ่ยไว้ คือ “ทันที ที่ทรัมป์ก้าวลงจากตำแหน่งและเราได้กลับคืนสู่ที่ ๆ เป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของเราในทำเนียบขาว ระวังไว้ ถ้าคุณสนับสนุนเขาและรับรองการกระทำต่าง ๆ ของเขา เพราะเราจะไปหาคุณต่อไป คุณจะได้รู้สึกถึงการล้างแค้นของประเทศชาติ”

มีการนำคำอ้างอิงนี้ออกมาแชร์กันอีกครั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ในสัปดาห์นี้ โดยโพสต์ชิ้นหนึ่งทางเอ็กซ์ยังมีภาพของการคำพูดดังกล่าวถูกแชร์ไปกว่า 22,000 ครั้ง ตามการตรวจสอบในบ่ายวันจันทร์

จริง ๆ แล้ว แฮร์ริสไม่ได้พูดอะไรเช่นนั้นออกมาเลย แต่เป็นข้อความจากบทความเสียดสีที่เผยแพร่ออกมาทางออนไลน์เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019 โดยหลังจากนั้นไม่นาน ผู้สนับสนุนทรัมป์ เช่น เท็ด นูเกนท์ ซึ่งเป็นนักดนตรี นำเอาไปโพสต์ต่อโดยไม่ได้มีการระบุว่า นี่เป็นข้อมูลปลอม

แฟ้มภาพ: รองปธน.คามาลา แฮร์ริส ขณะร่วมงานชุมนุมว่าด้วยสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด กรุงวอชิงตัน เมื่อ 25 เม.ย. 2566
แฟ้มภาพ: รองปธน.คามาลา แฮร์ริส ขณะร่วมงานชุมนุมว่าด้วยสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด กรุงวอชิงตัน เมื่อ 25 เม.ย. 2566

คำกล่าวหา: คลิปวิดีโอที่แสดงให้ภาพของแฮร์ริสขณะกล่าวปราศรัยว่า “วันนี้ คือ วันนี้ และเมื่อวาน คือ วันนี้ของเมื่อวาน พรุ่งนี้ จะเป็นวันนี้ในวันพรุ่งนี้ ดังนั้น ใช้ชีวิตเสียวันนี้ เพื่อวันนี้ในอนาคตจะเป็นวันนี้ที่ผ่านไปแล้ว เมื่อพรุ่งนี้มาถึง”

ข้อเท็จจริง: แฮร์ริสไม่เคยกล่าวอะไรเช่นนั้นเลย คลิปวิดีโอจากการชุมนุมเมื่อปี 2023 เพื่อเรียกร้องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (reproductive rights) ที่มหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด ซึ่งเป็นสถาบันที่เธอจบการศึกษามา ถูกนำมาดัดแปลงเพื่อให้ออกมาเหมือนว่า เธอพูดออกมาอย่างนั้นจริง

ไม่กี่วันหลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับแฮร์ริสในการชุมนุมดังกล่าวในกรุงวอชิงตัน สมาชิกพรรครีพับลิกันได้ออกมาถ่ายคลิปล้อเลียนเธอ โดยมีผู้วิพากษ์วิจารณ์คนหนึ่งเรียกคำพูดที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นของแฮร์ริส ว่าคือ “ยำใหญ่คำพูด” ตามรายงานของเอพีในเวลานั้น

ในความเป็นจริง แฮร์ริสกล่าวว่า “ดังนั้น ดิฉันคิดว่า มันเป็นเรื่องสำคัญมาก – อย่างที่พวกคุณได้ยินกันมาจากผู้นำที่น่าเชื่อถือหลายคน – ที่พวกเรา ในทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ จะเห็นช่วงขณะเวลาที่เรายังอยู่และมีตัวตนอยู่ และสามารถที่จะใส่ความหมายเข้าไปในบริบท เพื่อเข้าใจว่าเรามีตัวตนอยู่ในจุดใดในประวัติศาสตร์และในช่วงเวลาที่ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องกับแค่อดีต แต่กับอนาคตด้วย”

ประธานขององค์กรไม่แสวงผลกำไรและเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์การทำแท้งที่ชื่อ NARAL Pro-Choice America ซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมข้างต้น ได้ทำการสตรีมมิ่งคลิปต้นฉบับออกมา และแสดงให้เห็นแฮร์ริสกล่าวปราศรัยว่าด้วยเรื่องของ “ช่วงเวลาหนึ่ง” แต่ไม่ได้ได้พูดเรื่อง “วันนี้คือวันนี้” อะไรเลย

นอกจากนั้น บทบันทึกคำปราศรัรยของแฮร์ริสที่ทำเนียบขาวจัดเก็บไว้ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีคำแถลงจากคลิปวิดีโอที่มีการตัดแต่งดัดแปลงด้วย

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG