พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคและประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกลที่เพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เลือกที่จะใช้เวลาที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมาทำหน้าที่นักวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐฯ ในช่วงที่การเมืองไทยพลิกผันเกินคาด และไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร
นายพิธา วัย 43 ปี จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักวิชาการด้านประชาธิปไตย (Democracy Fellow) ที่ Harvard Kennedy School มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นสถาบันที่อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลจบมาเมื่อ 13 ปีก่อน
ในเเถลงการณ์ภาษาอังกฤษ พิธากล่าวถึงความตื่นเต้นที่จะได้ใช้โอกาสนี้ไปมีส่วนร่วมกับนักเรียน นักวิจัยและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกครั้ง โดยเขากล่าวว่า จะแบ่งเวลากลับมาที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งรวมถึงช่วยในการรณรงค์หาเสียงให้กับตัวเเทนพรรคประชาชน และว่า ประสบการณ์นี้จะมีประโยชน์ต่อเป้าหมายของเขาที่จะร่วมสร้างอนาคตของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม
เขาจะเริ่มทำหน้าที่นักวิชาการนี้ในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงที่ฮาร์วาร์ด พร้อมตั้งเป้าที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับผู้นำรุ่นใหม่ นอกจากนั้นยังจะค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเเนวทางประชาธิปไตยของโลก
พิธา ระบุในการสัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า อาชีพในเส้นทางการเมืองของตนนั้น “ถึงฆาตก่อนเวลาอันควร” โดยอ้างถึงการที่พรรคก้าวไกลสามารถคว้าเสียงสนับสนุนได้มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2566 แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะถูกสกัดกั้นโดย “วุฒิสมาชิกที่ใกล้ชิดกับกองทัพ” และถูกสั่งตัดสิทธิ์ทางการเมืองโดย “ศาลรัฐธรรมนูญที่ใกล้ชิดกับกองทัพ”
Your browser doesn’t support HTML5
พิธาบอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กด้วยว่า การ “ถูกบีบ” ให้พักบทบาททางการเมืองครั้งนี้ทำให้ตนมีเวลาคิดทบทวนเกี่ยวกับอนาคตซึ่งก็ยังหวังว่า จะได้กลับมาทำงานด้านการเมืองอีกครั้งเมื่อคำสั่งตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปีหมดอายุลง โดยตั้งเป้าไว้ด้วยว่า อาจจะได้เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วย
“ประเทศไทยที่อยู่ในวังวนเดิม ๆ”
ขณะที่ พิธาบอกกับบลูมเบิร์กว่า “คุณไม่สามารถประเมินแรงต้านการเปลี่ยนแปลงต่ำเกินไปเลย” และว่า “เมื่อประเทศไทยไม่ต้องการให้ผมลง(สนาม)เป็นผู้เล่น ผมก็ต้องมาเป็นโค้ชแทน” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลบอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า เวลานี้ การเมืองไทยกลับมายืนอยู่ที่จุดเดิม “และประชาชนก็ไม่ได้อะไร(จากทุกสิ่งที่เกิดขึ้น)เลย”
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การเมืองไทยประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ก่อนจะพิพากษาให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม
Your browser doesn’t support HTML5
อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกลกล่าวด้วยว่า นักการเมืองของไทยต้องทำการปฏิรูประบบตุลาการเพื่อป้องกันการแทรกแซงที่ส่งผลให้ประเทศ “วนอยู่ที่เดิม” พร้อมย้ำว่า คำสั่งตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปีนั้นจะไม่ทำให้ตนล้มเลิกความตั้งใจที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปครั้งสำคัญต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง การหยุดยั้งไม่ให้สถาบันองค์กรอิสระกลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ความเห็นของพิธาครั้งนี้มีออกมาหลัง นักวิชาการและนักกฎหมาย 134 คนร่วมกันออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญว่า ทำการที่ล้ำเส้นอำนาจศาลและสร้างความเสียหาต่อศรัทธาของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยและระบบกฎหมาย
การกลับมาของ “ชินวัตร”
ขณะเดียวกัน วีโอเอ ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์เกี่ยวกับทิศทางการเมืองไทยเมื่อแพทองธาร ชินวัตร ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และหลายคนชี้ว่า บุตรสาวคนเล็กของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร อาจะเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย” ของครอบครัวที่จะดึงเสียงสนับสนุนของประชาชนกลับคืนมา
SEE ALSO: สื่อนอกเเนะนำให้ชาวโลกรู้จัก 'อุ๊งอิ๊ง' ว่าอย่างไรบ้าง?แพทองธาร ในวัย 37 ปี ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายเศรษฐา ทวีสิน ของพรรคเพื่อไทย พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากทำผิดกฎจริยธรรม และสมาชิกรัฐสภาลงมติเสียส่วนใหญ่ให้ทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาล แม้จะมีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด
มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชื่อว่า นายทักษิณ จะไม่มายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานรัฐบาลภายใต้การนำของบุตรสาว
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ซึ่งสอนวิชาการเมืองและกฎหมายไทยที่ SOAS University of London และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการรัฐสภาไทยอยู่ด้วย บอกกับ วีโอเอ ว่า นายทักษิณนั้นยังคงมีส่วนในการดูแลการทำงานของรัฐบาลอย่างแข็งขันอยู่เบื้องหลัง ขณะที่แพทองธารกำลังรับตำแหน่ง “งานที่หินที่สุดชิ้นหนึ่ง” ที่อดีตนายกฯ รายนี้รู้ซึ้งเป็นอย่างดี
ส่วน ศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและนักวิเคราะห์การเมือง ให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคที่ชนะอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งมา เป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่งก็คือ การคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้ได้
ถึงกระนั้น ภารกิจต่าง ๆ ที่แพทองธารต้องลงมือจัดการนั้นก็เป็นความท้าทายอย่างมาก ตั้งแต่การตั้งคณะรัฐมนตรีที่เป็นที่พอใจของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมที่ต้องการกระทรวงใหญ่ ๆ ไว้ในมือ ไปจนถึงการดำเนินแผนงานด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ค้างมาจากยุคของเศรษฐา เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน และแผนงานออกกฎหมายเปิดคาสิโนเสรีเพื่อกระตุ้นรายได้ภาษี
แต่ผู้ที่ติดตามดูสถานการณ์การเมืองไทยและการขึ้นสู่อำนาจของแพทองธารชี้ว่า หลายคนไม่ได้มองว่า ประเทศไทยคือดินแดนแห่งโอกาสอีกต่อไปแล้ว ด้วยอัตราหนี้ครัวเรือนในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (กว่า 90%) และอัตราค่าแรงที่ต่ำ ขณะที่ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยบอกว่า เศรษฐกิจของประเทศถูกแบ่งส่วนโดยธุรกิจผูกขาดและผู้มีอำนาจทางการเมืองซึ่งก็คือสมาชิกชนชั้นนำไม่กี่คนและรวมถึงตระกูลชินวัตรด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับตระกูลชินวัตรที่ก่อนหน้านี้มีสมาชิกถึง 3 คนที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น ศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและนักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเส้นทางทางการเมืองของแพทองธาร แบรนด์ชินวัตรก็จะไม่หายไปจากแวดวงการเมืองไทยอย่างง่าย ๆ เลย”
- ที่มา: วีโอเอ บลูมเบิร์กและรอยเตอร์