พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และประธานที่ปรึกษาพรรคคนปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอภาคภาษาไทยเกี่ยวกับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาในวันที่ 7 ส.ค. นี้ และคำตัดสินอาจนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล รวมถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของเขา
พิธาบอกกับวีโอเอไทยว่า หลังจากที่พรรคนำเสนอเหตุผลหักล้างการยื่นเรื่องของ กกต. ที่อ้างว่าการหาเสียงของพรรคเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผิดรัฐธรรมนูญ ขณะนี้เขารู้สึกว่าได้ทำทุกอย่างทำที่จะทำได้ไปแล้ว
"รู้สึกเบาใจและภูมิใจ แล้วก็สบายใจกับสิ่งที่ได้ทำมาในช่วงเวลาที่มีอยู่ ไม่ได้รู้สึกว่ายอมเเพ้อะไรง่าย ๆ ไม่ได้รู้สึกว่าไม่ได้ทำเต็มที่ในช่วงที่เรามีเวลาอยู่" เขากล่าว
พิธาบอกด้วยว่า "มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราอย่างเดียว ตอนนี้มีความพยายามที่จะยุบพรรคเรา มีความพยายามที่จะตัดสิทธิ์เรา เราต้องสู้ให้ถึงที่สุด เราต้องทำให้ได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปแล้ว ก็รู้สึกว่าเราได้ทำในทุกสิ่ง ทุกวิถีทาง"
หากว่าพรรคถูกยุบและเขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง พิธากล่าวว่า เขาไม่ได้รู้สึกยึดติดกับตำแหน่งและได้เตรียมผู้นำรุ่นต่อ ๆ ไปไว้แล้ว
"ผมมองการเมืองเป็นเกมยาว" พิธากล่าว "พอเรามองมันเป็นเกมยาวมันต้องมีทั้งกลยุทธ์ ในขณะเดียวกันก็ความอดทนที่จะรอ...แต่กลยุทธ์มันก็ต้องมีการประนีประนอม"
ด้านหนึ่งพิธาระบุว่ายังคงยืนหยัดในเป้าหมายสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ยกตัวอย่างถึงการต่อรองทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขั้นตอนต่าง ๆ หลังนำพาพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งและได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากที่สุด เมื่อปีที่เเล้ว ด้วยคะเเนนเสียงรวม 14 ล้านเสียง
ชัยชนะดังกล่าวตามมาด้วยความพยายามตั้งรัฐบาลร่วมจากการเริ่มต้นจับมือกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดอันดับสอง แต่ด้วยวาระการสร้างความเปลี่ยนแปลงของก้าวไกลในประเด็นมาตรา 112 กลายเป็นเหตุผลให้ความพยายามตั้งรัฐบาลสะดุดลง เพราะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ขณะที่ไม่มีความเป็นไปได้ที่ก้าวไกลและขั้วอำนาจเดิมภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหาจุดลงตัวร่วมกัน
วีโอเอถามถึงผลลัพธ์ของการเจรจาตั้งรัฐบาลที่เกิดขึ้น และความรู้สึกว่าถูกหักหลังหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวคือการสลับขั้วอำนาจ ซึ่งต่อมาเป็นผลพวงมาถึงความไม่มั่นคงต่อการดำรงอยู่ของพรรคก้าวไกล ที่กำลังรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธ
พิธายกตัวอย่างการประนีประนอมที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เช่นจำนวนเก้าอี้รัฐมนตรี และนโยบายที่จะช่วยผลักดันร่วมกัน ซึ่งก็ยังไม่สามารถทำให้ได้เสียงสนับสนุนเพียงพอในการตั้งรัฐบาลที่มีเขาพยายามเป็นเเกนนำ
"แต่คำว่าประนีประนอมกับตระบัดสัตย์ หรือว่าประนีประนอมกับต้องโกหกกับสิ่งที่ตัวเองเคยสัญญาไว้ภายในระยะเวลา 3 - 4 เดือนก่อนเลือกตั้งกับเรา ผมคิดว่าอย่างนี้เป็น bad compromise เป็นการประนีประนอมที่ขายวิญญาณตนเอง"
"ถ้าถามถึงช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมาที่เราชนะเลือกตั้งแล้วไม่ได้เป็นรัฐบาล ถูกผลักเป็นฝ่ายค้าน แล้วถามว่าถูกหักหลังไหม มันคงไม่เท่ากับที่ประชาชนถูกหักหลัง หรือคนที่มาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเพราะมันเป็นระบบกระบวนการที่ใช้งบประมาณหลายพันล้าน" อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว
ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยรวมทั้งนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่าการสลับขั้วการเมืองที่เกิดขึ้นคือการ "ยอมกลืนเลือด" และ "ยอมรับความจริง" เพื่อให้ประเทศหลุดออกจากทางตันทางการเมือง และนำเสนอนโยบายต่าง ๆ ในการเเก้ไขปัญหาของชาติ โดยเฉพาะเรื่องปากท้องให้กับประชาชน
สำหรับประเด็นการเเก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้เป็นเเค่หัวใจของการพิจารณาคำร้องยุบพรรคที่เกิดขึ้น แต่ยังเป็นหัวข้อที่สะท้อนภาพกว้างของอุดมการณ์ที่แตกต่างระหว่างนักการเมืองสายเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมในประเทศ พิธากล่าวว่าเขายังต้องการให้มี "พื้นที่ปลอดภัย" ในการหาทางออกเรื่องนี้ และรัฐสภาน่าจะเป็นที่ที่ดีที่สุดในการคลี่คลายและหาทางออกให้กับความแตกต่างทางความคิด
ท้ายสุด ในกรณีที่ถูกศาลตัดสินยุบพรรคและตัดสิทธิ์การเมือง พิธาอยากจะบอกไปยังผู้ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลว่า "ก้าวให้ไกลกว่าเดิมครับ ผมคิดว่าเราคงเจอก้อนหิน เจอกับปัญหาอีกมากมายมหาศาลตลอดระยะเวลาที่เราจะเดินอยู่ ไม่ใช่ในจุดนี้ ไม่ใช่เเค่ในอดีต แต่ในอนาคตด้วย"
“เราไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าเรารู้สึกหมดหวัง รู้สึกอยากจะยอมแพ้แล้ว หรือรู้สึกเบื่อกับการเมือง ก็เท่ากับเราใส่พานเงินให้ผู้มีอำนาจ แล้วเขาก็เอาประเทศไทยไปเป็นของเขาเลย"
"ผมเลือกที่จะมองว่า หันหลังกลับไปเนี่ย เราได้ก้าวมาได้ไกลแค่ไหน มากกว่าเป้าหมายว่ามันอีกไกลแค่ไหน อย่างที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เคยพูดไว้ ว่า How long? Not long....อีกนานไหมกว่าจะถึงเส้นชัย มาร์ติน ลูเธอร์ คิงก็จะบอกว่า Not long (ไม่นาน)" พิธากล่าว
- ที่มา: วีโอเอไทย
กระดานความเห็น