รัฐสภาไทยจะลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นครั้งที่สองในวันพุธที่ 19 กรกฎาคมนี้ โดยกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองแปดพรรค ยังคงสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้ง แม้เขาได้รับเสียงสนับสนุนไม่มากพอในการลงคะแนนครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.
สื่อต่างประเทศต่างเกาะติดรายงานข่าวการเมืองไทยอย่างใกล้ชิด ในประเด็นที่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
การลงมติรอบที่สอง
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า พรรคก้าวไกลเชื่อว่า สว.ถูกแรงกดดันให้ไม่สนับสนุนพิธาโดยไม่เต็มใจ โดยกลุ่มสว. เผชิญแรงวิจารณ์อย่างหนักหลังการลงคะแนนครั้งแรกว่า พวกเขาลงคะแนนเสียงขัดกับเจตจำนงผลการเลือกตั้ง และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า กระแสสังคมจะทำให้สว. เปลี่ยนใจได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้ พิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลเผยว่า เขาจะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคอันดับสอง เสนอชื่อหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคขึ้นมาแทน เพื่อให้ได้นายกฯ และให้กลุ่มพันธมิตรพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย ยังคงจัดตั้งรัฐบาลต่อไปได้
และเมื่อวันอังคาร แพทองธาร ชินวัตร หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยเผยว่า พรรคเพื่อไทยเล็งเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ อีกคนหนึ่งของพรรค
อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงไม่มากพอ เพื่อไทยอาจต้องทำข้อตกลงกับพรรคสายอนุรักษนิยมเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น พรรคก้าวไกลก็อาจไม่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรด้วยอีกต่อไป
รอยเตอร์วิเคราะห์ว่า หากเป็นเช่นนั้น แคนดิเดทจากพรรคพลังประชารัฐอย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ วัย 77 ปี ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารโค่นรัฐบาลตระกูลชินวัตรทั้งสองครั้ง อาจเป็นแคนดิเดตที่เป็นไปได้อีกคน โดยพลเอกประวิตรมักกล่าวว่าตนเป็นผู้นำที่สร้างความปรองดองทางการเมืองได้
อ.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกับสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ ว่า "ประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง" และ "ชนชั้นปกครองจะไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น"
ความท้าทายของพรรคเพื่อไทย
นิวยอร์กไทมส์ ชี้ด้วยว่า การจัดตั้งพรรคพันธมิตรขึ้นมาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน เพราะกลุ่มก้อนที่เกิดขึ้นใหม่นี้ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคที่มีทหารหนุนหลังและฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วย ซึ่งก็จะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจนำไปสู่การลงถนนประท้วงในที่สุด
พิท บุญวิวัฒน์ธนากร ประชาชนในจังหวัดเชียงรายผู้ออกเสียงเลือกพรรคก้าวไกลยอมรับว่าจะเกิดการประท้วงอย่างแน่นอน "เพราะประชาชน (ที่เลือกก้าวไกล) รู้สึกว่าตนชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องมีสิทธิ์ตั้งรัฐบาล"
ทางด้าน ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับรอยเตอร์ว่า พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดใหญ่ ๆ ซึ่งถือเป็นเสียงสนับสนุนจำนวนมหาศาล "และหากเสียงเหล่านี้ถูกปฏิเสธหรือถูกเพิกเฉย ก็อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าและการปะทะกันได้"
เดวิด สเตร็คฟัสส์ นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ “Truth on Trial in Thailand” ชี้ว่า ขณะนี้เพื่อไทยอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเป็นผู้ควบคุมทิศทางอนาคตการเมืองไทยได้ ในกรณีที่ชนชั้นปกครองต้องการหาทางยุบพรรคก้าวไกลจริง ๆ
อย่างไรก็ตาม นิวยอร์กไทมส์เชื่อว่า หากเพื่อไทยตัดสินใจหักหลังพรรคก้าวไกลแล้วไปจับมือกับพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็จะกลายเป็นการทำลายภาพลักษณ์ทางการเมืองของเพื่อไทยเอง แม้ว่าในที่สุดแล้วบรรดาผู้นำของพรรคเพื่อไทยอาจจะเห็นว่าคุ้มค่าต่อการกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง และการอนุญาตให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าประเทศได้
สำนักข่าวด็อยท์เชอเว็ลเลอ (DW) รายงานว่า แรงกดดันที่พรรคก้าวไกลและพิธาเผชิญ กำลังสร้างแรงกระเพื่อมทั้งในกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย
นักข่าวอาวุโส ประวิตร โรจนพฤกษ์ กล่าวกับ DW ว่า "ดูเหมือนเพื่อไทยกำลังพยายามจับมือกับพันธมิตรเดิมและผลักดันให้มีแคนดิเดตนายกฯ ขึ้นมาให้ได้ เพราะการข้ามฟากไปจับมือกับฝ่ายที่มีทหารหนุนหลังนั้นจะถูกทำให้มองว่า เพื่อไทยหักหลังผู้เลือกตั้งที่สนับสนุนประชาธิปไตย และอาจถูกลงโทษในการเลือกตั้งครั้งหน้า"
ประวิตรยังมองด้วยว่า การประท้วงอาจเกิดขึ้นได้เช่นกันหากพิธาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและพรรคก้าวไกลถูกยุบ "และนั่นอาจเป็นข้ออ้างให้กองทัพออกมาปฏิวัติอีกครั้ง"
- ที่มา: รอยเตอร์ นิวยอร์กไทมส์ และดอยซ์เวลล์ส