ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สื่อเทศรายงานข่าวยุบพรรคก้าวไกล - องค์กรสิทธิ์ระบุ “ไร้ความชอบธรรม”


อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวกับสื่อหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยุบพรรคก้าวไกลมีออกมา ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย 7 สิงหาคม 2024 REUTERS/Chalinee Thirasupa
อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวกับสื่อหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยุบพรรคก้าวไกลมีออกมา ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย 7 สิงหาคม 2024 REUTERS/Chalinee Thirasupa

สื่อต่างประเทศรายงานปฏิกิริยาและมุมมองนักวิชาการเกี่ยวกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก้าวไกล พร้อมกับการตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันพุธตามเวลาประเทศไทย

รอยเตอร์รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2023 ในคดีล้มล้างการปกครอง รวมทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 11 คน นับเป็นความปราชัยครั้งล่าสุดของพรรคใหญ่ที่พัวพันกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกลุ่มอำนาจเก่าและรอยัลลิสต์ที่กุมอำนาจบริหารประเทศมากว่า 2 ทศวรรษ

ในมติอันเป็นเอกฉันท์ของศาลรธน. ระบุว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล “เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ด้านเอพี รายงานว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินของไทย ระบุว่าระบบตุลาการมีความยุติธรรมและเป็นกลาง และว่ารัฐบาลไม่มีขอบเขตอำนาจในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

กลุ่มสิทธิมนุษยชนออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลรธน.ในวันพุธ โดยดีโพรซ มูเชนา ผู้อำนวยการอาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบกับการยุบพรรคก้าวไกล เป็นการตัดสินที่ “ไร้ความชอบธรรม” ซึ่งเผยให้เห็นความเพิกเฉยโดยสิ้นเชิงของทางการไทย ต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเคยให้คำมั่นไว้ และถือเป็นการคุกคามอย่างต่อเนื่องต่อนักการเมืองฝ่ายค้าน

ด้านแมตธิว วีลเลอร์ นักวิเคราะห์จาก Crisis Group บอกกับเอพีผ่านอีเมลว่า “คำตัดสินนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ และไม่น่ากระตุ้นให้เกิดการประท้วงใหญ่เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคก้าวไกลยังคงมีอำนาจในสภา แต่อาจอยู่ภายใต้สังกัดที่แตกต่างไป .. แต่คำตัดสินดังกล่าวฉายภาพว่ารัฐธรรมนูญปี 2017 ที่ร่างโดยผู้ก่อรัฐประหารและได้รับความเห็นชอบจากการลงประชามติที่มีความด่างพร้อย ออกแบบมาเพื่อควบคุมเจตจำนงของประชาชนมากกว่าช่วยสนับสนุนให้เกิดการแสดงออก”

ด้านไทม์ รายงานแถลงการณ์ของประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เมอร์ซี คริสตี บาเรนด์ส ระบุว่าการยุบพรรคก้าวไกลเป็นการคุกคามประชาธิปไตยและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกองทัพในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

คริสตี บาเรนด์ส กล่าวว่า “อำนาจตุลาการที่มากเกินขอบเขตนี้ไม่เพียงแต่บ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังทำให้ชื่อเสียงระดับนานาชาติเสื่อมเสียอีกด้วย” และว่า “เมื่อสุ้มเสียงของประชาชนถูกตัดไป เราเริ่มที่จะสูญเสียความเชื่อมั่นของความเป็นประชาธิปไตยของไทย ไม่มีซึ่งประชาธิปไตยหากปราศจากเสรีภาพในการแสดงออก เช่นเดียวกับการปราศจากฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพและมีเสรีภาพ”

ก้าวต่อไป?

แม้ว่าการยุบพรรคจะสร้างความขุ่นเคืองให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนรุ่นใหม่และคนในเมืองนับล้านคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลและนโยบายหัวก้าวหน้าของพรรค แต่ผลกระทบของคำตัดสินดังกล่าวคาดว่าจะมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคยังรักษาเก้าอี้ในสภาเอาไว้ได้อยู่ และคาดว่าจะมีการจัดตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2020 ที่พรรคอนาคตใหม่เผชิญกับคำตัดสินยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน ตามรายงานของรอยเตอร์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ทัศนะกับเดอะนิวยอร์กไทม์ส ว่า แพลตฟอร์มหาเสียงของพรรคก้าวไกลทำให้พรรคเดินเข้าสู่การพุ่งชนกับ 2 สถาบันใหญ่ นั่นคือกองทัพและราชวงศ์ ซึ่งทั้งสองสถาบัน “รวมพลังกัน” ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และว่าหากมองเช่นนั้น "พรรคก้าวไกลคือศัตรูที่ต้องกำจัดให้เร็วที่สุด”

แพตทริก พงศธร เป็นผู้เชี่ยวชาญการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน จากองค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ให้ความเห็นกับอัลจาซีราว่า การยุบพรรคก้าวไกลเป็น “อีกรูปแบบในการใช้อำนาจตุลาการโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง” คดีนี้มีความสำคัญเพราะความนิยมของพรรคที่มีอยู่มาก และว่าจะมีพรรคอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนของการเคลื่อนไหวทางสังคมในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาอีกในอนาคต และว่า “ยักษ์จีนีหัวก้าวหน้าได้ออกมาจากตะเกียงแล้วและยากที่จะนำกลับเข้าไปได้แล้ว”

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ผู้ศึกษาและสังเกตการณ์การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทย กล่าวกับวีโอเอไทยว่า คำตัดสินในวันพุธ สร้างความกังวลทั้งในทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออก

“มันน่ากังวลในแง่ที่ว่า การละเลย 14 ล้านเสียงมีผลอย่างไรต่อประชาธิปไตย และมันน่ากังวลเพราะพื้นที่หวงห้ามที่ถูกสร้างจากการดำเนินคดีมาตรา 112 นั้นถูกขยายออกอีก จนทำให้การเสนอที่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายถูกมองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้” ฮาเบอร์คอร์นกล่าว

เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์อาวุโสจาก Coral Bell School of Asia Pacific Affairs มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ประชาคมนานาชาติคงไม่เปลี่ยนท่าทีต่อไทยมากนักหลังคำตัดสิน เพราะไทยยังมีบทบาทในทางยุทธศาสตร์ในภูมิรัฐศาสตร์อยู่

“ผมคิดว่าตราบใดที่ไทยยังมีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยอยู่บ้าง ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็คงไม่ต้องการกดดันผู้นำไทยมากจนเกินไป ส่วนหนึ่งเพราะภูมิรัฐศาสตร์ทุกวันนี้ที่มีความกังวลว่าไทยใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น และนั่นเป็นปัจจัยที่จะกำหนดแนวทางของรัฐบาลต่างชาติที่มีต่อไทย” เรย์มอนด์กล่าว

ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ให้ยุบพรรคก้าวไกล ศาลระบุว่า "แม้นักวิชาการสาขาต่างๆ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศต่างก็มีรัฐธรรมนูญ และกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนที่แตกต่างกัน ตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใดๆย่อมต้องมีมารยาททางการทูต"

วีโอเอไทยติดต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศของไทยเพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้เเต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากทีมโฆษกของกระทรวง

ที่มา: ข้อมูลบางส่วนมาจากรอยเตอร์, เอพี, อัลจาซีราห์, ไทม์ และเดอะนิวยอร์กไทม์ส

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG