สื่อต่างชาติยังคงเกาะติดสถานการณ์ที่พลิกไปมาอย่างคาดเดาได้ยากสำหรับทิศทางการเมืองไทย หลังรัฐสภา ปัดตกการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ก่อน นำไปสู่การชุมนุมของประชาชน การส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความมติรัฐสภาของผู้ตรวจการแผ่นดิน และการหารืออย่างเปิดเผยของพรรคเพื่อไทยกับพรรคอนุรักษ์นิยม ด้านนักวิเคราะห์มองก้าวไกลอาจยังมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตประเทศไทย
รอยเตอร์รายงานการชุมนุมในวันอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังกลุ่มอนุรักษ์นิยมในรัฐสภาพยายามกีดกันหนทางสู่เก้าอี้นายกฯ ของนายพิธาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อสัปดาห์ก่อน
ด้านบลูมเบิร์ก รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นชอบให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ออกไป จนกว่าศาลรธน.จะมีคำวินิจฉัยมติรัฐสภาที่ห้ามเสนอชื่อนายพิธาซ้ำ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
สื่อนิกเคอิ รายงานว่า พรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล และพรรคที่ได้เก้าอี้ ส.ส.ในสภามาเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ เริ่มต้นหารือกับพรรคการเมืองจากฝั่งอนุรักษ์นิยม เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนเพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นท่าทีที่อาจผลักให้พรรคพันธมิตรอย่างก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้ส.ส.ในสภาเป็นอันดับ 1 ต้อง กลายมาเป็นพรรคฝ่ายค้านได้
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้หารือกับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ก่อนการประชุมสภาครั้งต่อไปในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้
บรรดาพรรคแนวอนุรักษ์นิยม แสดงจุดยืนว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคซึ่งผลักดันการแก้ไข ม.112
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมหลังได้แรงหนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศ จากแนวนโยบายปฏิรูปด้านการทหาร การยุติการผูกขาด และการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับกองทัพ สถาบัน ผู้มีฐานะและอิทธิพล และฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งสิ้น
นักวิเคราะห์การเมืองบางรายเห็นว่า หากเพื่อไทยต้องการหลุดพ้นจากทางตันทางการเมือง พรรคก้าวไกลจะต้องกลายเป็นฝ่ายค้านในที่สุด
นายบุญเกียรติ การะเวกพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ทัศนะกับนิกเคอิว่า “เป็นเรื่องยากสำหรับเพื่อไทยที่จะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อกับก้าวไกล เพราะมาตรา 112 กลายเป็นสิ่งกีดขวางสำหรับพวกเขา”
รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย เปิดเผยกับนิกเคอิด้วยว่า “มีความเป็นไปได้” ว่าเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลกับพันธมิตร 9 พรรคใหม่ คือ เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ชาติพัฒนา ประชาชาติ และอีก 3 พรรคเล็ก โดยกล่าวว่า “มันอาจจะง่ายกว่าที่พันธมิตรใหม่จะได้เสียงสนับสนุนจากสว.สายอนุรักษ์นิยม ซึ่งไม่ต้องการแก้ไข ม.112 หากพวกเขาไม่มีพรรคก้าวไกลในพรรคร่วมแล้ว”
ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะกับบลูมเบิร์กว่า “กลุ่มอนุรักษ์นิยมดูเหมือนจะออกแบบแผนการเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เลวร้ายให้กับสังคมหากเพื่อไทยยังคงจับมือกับก้าวไกลอยู่” และว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการตัดพรรคก้าวไกลออกไป ไม่ใช่แค่นายพิธา”
อีกด้านหนึ่ง พรรคก้าวไกลยังคงเดินหน้าที่จะให้พรรคได้จัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย โดยนายพิธาลงพื้นที่พบปะประชาชนและผู้สนับสนุน รวมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อ เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยรักษาสัญญาในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับก้าวไกลต่อไป
ขณะที่เว็บไซต์ข่าวว็อกซ์ (VOX) รายงานว่าการเมืองไทยยังคงเปลี่ยนแปลงได้แม้ว่ากองทัพและสถาบันจะพยายามอย่างเต็มที่แค่ไหนก็ตาม
บทวิเคราะห์ของว็อกซ์ ชี้ว่า ในสายตาผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ ชัยชนะของก้าวไกลและพรรคร่วมสะท้อนความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย แต่ความพยายามสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานี้ ทำให้โอกาสในการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ดูเหมือนจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย – ที่เริ่มจากวงจรแห่งความหวัง ตามมาด้วยความไม่สงบที่ปะทุขึ้น และการปราบปราบแบบสุดขอบที่ดันประเทศไทยมุ่งหน้ากลับไปสู่ระบอบเผด็จการ
ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับสื่อเดอะนิวยอร์กไทม์สว่า “มีรูปแบบของกลุ่มการเมืองเก่าที่ต่อต้านการเคลื่อนไหวแบบหัวก้าวหน้าในการเมืองไทย” และว่า “แรงต่อต้านเหล่านี้มาในรูปแบบที่หลากหลายและแตกต่างกัน”
แอนโทนี เนลสัน รองประธานฝ่ายเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แห่ง Albright Stonebridge Group ให้ทัศนะกับว็อกซ์ว่า การเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นเป็นมากกว่าแค่ตัวนายพิธา การนำของเขาในพรรคก้าวไกลเป็นผลพวงจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย พลังของคนรุ่นใหม่ และการผลักดันด้านประชาสังคม
แต่ที่เห็นได้ชัดเจน คือ เขาได้สะท้อนภาพของกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล นั่นคือ คนหนุ่มสาว การศึกษาดี และมีหัวก้าวหน้า กลุ่มคนที่ปกติแล้วจะสนับสนุนผู้มีอิทธิพลทางการเมืองแบบดั้งเดิม
นักวิเคราะห์รายนี้ชี้ว่า สิ่งนี้มีความสำคัญเพราะ 2 เหตุผล อย่างแรกคือนี่คือการที่ประเทศไทยก้าวออกจากแนวทางประชานิยมไปยังเส้นทางของกลุ่มก้อนหลังรัฐประหาร และเป็นตัวบ่งชี้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมและสนใจที่จะสร้างประเทศไทยที่ก้าวไปข้างหน้ากว่าที่เป็นอยู่
ส่วนในด้านเศรษฐกิจ เนลสัน เพิ่มเติมกับว็อกซ์ว่า รัฐบาลไทยมีความอนุรักษ์นิยมสูงมาก ประเทศไทยไม่เคยหลุดจากสถานะประเทศรายได้ปานกลาง จากการผูกขาดในอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น โทรคมนาคมและสุรา และแทบไม่ค่อยผลักดันด้านนวัตกรรมภายในประเทศ
แม้ว่าประเทศไทยมีความเป็นโลกาภิวัฒน์อยู่สูง เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ มีภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง มีบทบาทในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกอันซับซ้อน แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนไทยสัมผัสได้ก็คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง
การเข้ามาของพรรคก้าวไกลในการปฏิรูปต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจ ในการต่อต้านการผูกขาด การขึ้นภาษีภาคธุรกิจและกลุ่มคนร่ำรวย การปรับขึ้นค่าแรง และนโยบายสวัสดิการสังคมที่สร้างตาข่ายความปลอดภัยของสังคม (Social Safety Net) และผลักดันนวัตกรรมและการแข่งขัน คือจุดยืนที่ ศ.ฐิตินันท์ ให้ทัศนะกับบลูมเบิร์กด้วยว่า จะเป็นการ “พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยอย่างสมบูรณ์”
อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่าความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ที่นักลงทุนต่างชาติแห่ถอนลงทุนไปกว่า 3,300 ล้านดอลลาร์ในปีนี้แล้ว และปัจจัยทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจในสายตานักลงทุนในระยะ 3 เดือนต่อจากนี้
ที่ต้องจับตาต่อ คือ ท่าทีของเพื่อไทยและก้าวไกลในการหารือ 8 พรรคร่วมในวันอังคาร เพื่อวางกลยุทธ์ก่อนการประชุมสภาวันพฤหัสบดีนี้
รอยเตอร์รายงานว่าพรรคเพื่อไทย เล็งเสนอชื่อ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์วัย 60 ปี เศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยในรอบนี้ ขณะที่บลูมเบิร์กชี้ว่าการเคลื่อนไหวของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันจันทร์ อาจช่วยป้องกันการล่มสลายของพันธมิตร 8 พรรคร่วมไปได้ในระยะหนึ่ง
- ที่มา: รอยเตอร์, นิกเคอิ บลูมเบิร์ก และว็อกซ์