เปิดใจ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดทนายกฯ พรรคก้าวไกล ถึงการก้าวข้ามการโหวตไม่ผ่าน บทบาทใหม่ระหว่างรอศาลวินิจฉัย และมุมมองต่อการเมืองไทยในอนาคต
เป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ ที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมายังประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะหนึ่งในผู้นำการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต จากนิตยสาร Time ตามมาด้วยการเดินทางเพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนกับผู้คนอีกมากมาย
ในช่วงท้ายของการเดินทาง พิธา เปิดเผยกับวีโอเอไทยถึงก้าวต่อไปของเขา ที่วันนี้ ได้ข้ามผ่านเหตุการณ์การโหวตนายกฯ และพร้อมเดินหน้าบนภารกิจใหม่ ในระหว่างที่ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการชั่วคราว
“ปีนี้ (อายุ) 43 ก็อยู่กับการเมืองไทยมาเป็น 20 ปี คอยติดตาม เคยเห็นการยุบพรรคมาก่อน เคยเห็นการตัดสิทธิมาก่อน เคยเห็นความโหดร้ายของการเมืองมาก่อน แล้วคุณคาดหวังอะไร เราเป็นคนเดินเข้ามาหาการเมืองเอง และเราก็มองภาพใหญ่และเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เกิดกับเราคนเดียว เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะต้องคิดว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวและเสียอกเสียใจอะไร กลับเป็นเรื่องที่เราวางใจได้ถูกที่” พิธา กล่าว
“เปลี่ยนน้ำตาให้กลายมาเป็นพลังงานซะ เพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่เราต้องยึดให้มั่น เพราะมันเป็นสมรภูมิสุดท้าย แล้วหลังจากนั้นก็ต้องช่วยกันในการอธิบายว่าเมื่อเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เป็นระบบแบบนี้ มันมีประโยชน์กับประชาชนยังไง
“ถ้าเรายึดตรงนี้ ก็น่าจะขี่จักรยานเป็น ไม่ใช่มีคนคอยถีบให้จักรยานล้มด้วยการรัฐประหารเฉลี่ยทุก ๆ 5 ปีอย่างทีมันผ่านมา แล้วเราก็จะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน แก้ไปด้วยกัน อันนี้คือนิยามของประชาธิปไตยที่ไม่ง่ายอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยมันมีกลไกการแก้ไขตัวเองที่อนุญาตให้เราได้ลองผิดลองถูกกัน”
แม้เจอกับการสะบั้นสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยในช่วงการโหวตนายกฯ แต่พิธากล่าวว่า ตัวเขาและพรรคก้าวไกล ยังคงร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยได้ และยังแสวงหาการแข่งขันทางการเมือง ที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง
“ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคิดเป็นพรรคฝ่ายค้านที่จะล้มรัฐบาลลูกเดียวโดยไม่เห็นหัวประชาชนหรือเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง และพยายามจะเป็นตัวของตัวเองให้ดีที่สุด อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็คือค้านเต็มที่ อภิปรายไม่ไว้วางใจก็ไม่ออมมือ ตรงไปตรงมา เพราะเราเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง”
“ผิดก็ว่าผิด ถูกก็ว่าถูก ถ้าทำดีก็ยินดีที่จะชม ไม่ได้เขินอาย แต่ถ้ามันผิด หรือเราสามารถมีทางเลือกหรือ alternative Thailand (ประเทศไทยในอีกทางเลือก) ที่มันดีมากกว่าที่รัฐบาลทำอยู่ ผมก็ไม่เห็นว่าทำไมจะไม่ทำอย่างนั้น”
แคนดิเดทนายกฯ พรรคก้าวไกล มองว่าการมีรัฐธรรมนูญใหม่ และการนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง มีความสำคัญต่อการก้าวไปข้างหน้าของสังคมไทยในภาพรวม ในวันที่การจัดตั้งรัฐบาล และมติมหาชนที่ได้จากการเลือกตั้ง มีจุดที่ยังไม่ลงรอยกัน
“แน่นอนว่ามีรัฐบาลใหม่ ก็แทบเหมือนจะมีฉันทามติใหม่ของกลุ่มคนที่เป็นนักการเมือง และพรรคที่มาจากทหาร แต่ประชาชนส่วนใหญ่ ก็มีฉันทามติผ่านการเลือกตั้งเหมือนกันว่าเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง สองอันนี้มันจะสามารถมาพบกันได้อย่างไร”
“แต่มันจะไม่ดีเหรอครับถ้ามันเป็นความเท่าเทียมและความสมานฉันท์ในประเทศไทย เพื่อผ่านบทนี้ไปได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่การตั้งรัฐบาล แต่ความรู้สึกของมวลชนในประเทศนี้ ให้เรารู้สึกว่ามีความรับผิดรับชอบเกิดขึ้น อย่างน้อยทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทะเลาะกันมา 17-18 ปี ที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มีเหตุมีผลเพราะไม่ต้องการเห็นคอร์รัปชั่น ส่วนอีกฝ่ายก็ไม่อยากเห็นรัฐประหาร ไม่ต้องการเป็นความเป็นสองมาตรฐาน เราก็จัดการตรงนี้ให้จบ นั่นคือสาเหตุที่เราส่ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าตามที่เราสัญญาไว้ตอนหาเสียง รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่”
พิธายังเน้นย้ำถึงการให้เสียงของประชาชนถูกสะท้อนไปยังการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนไม่เสื่อมศรัทธาต่อสถาบันรัฐสภา และต่อตัวผู้มีอำนาจ และเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ความชอบธรรม ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน
กระดานความเห็น