วีโอเอไทยสัมภาษณ์นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ ‘พิธา’ ฝ่าด่านโหวตนายกฯ ไม่ได้ สะท้อนพลังต่อต้านที่รุนแรง เปิด 4 ความเป็นไปได้ที่น่าจับตามองในการโหวตครั้งถัดไป ทั้งโอกาสสุดท้ายของก้าวไกล การเปลี่ยนขั้วการนำ ไปจนถึงรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งทั้งหมดมีราคาที่ต้องจ่าย
พลันที่การนับคะแนนรับรองการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แห่งราชอาณาจักรไทยจบสิ้นลงในเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม ความพยายามบทที่หนึ่งของกลุ่มพรรคร่วม 8 พรรค ที่เสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อขึ้นทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลก็ปิดฉากลงเพราะได้รับเสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสมาชิก 750 ที่นั่งในรัฐสภา
มติดังกล่าวทำให้ประเทศไทยยังคงไม่มีนายกฯ และรัฐบาลใหม่ แม้ผลการเลือกตั้งถูกประกาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่กลางเดือน มิถุนายน และพรรคก้าวไกลสามารถรวบรวมเสียงได้ถึง 312 เสียงจาก 500 เสียงในสภาล่างแล้วก็ตาม
ภายใต้สภาวะเช่นนี้ เวลาที่เหลือก่อนการนัดโหวตจึงเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ทางการเมืองสารพัดที่น่าจับตามอง
นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า สรุปบทเรียนของหนึ่งวันที่ยาวนานนี้ให้วีโอเอไทย พร้อมแสดงมุมมองไปข้างหน้าถึงการโหวตนายกฯ ครั้งถัดไป ซึ่งสามารถเรียบเรียงและสรุปออกมาเป็นความเป็นไปได้ 4 ข้อบนฐานความเป็นจริงทางการเมืองที่ “ประเมินยาก” ทั้งยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “วันนี้วิเคราะห์ มันก็วิเคราะห์ได้ แต่สุดท้ายมันเหมือนเกมเดาใจ”
ถอดบทเรียน: สัญญาณต่อต้านก้าวไกล-พิธา ชัดเจน
นายสติธรกล่าวว่า เสียงเห็นชอบ 312 จาก 749 เสียง (สว. ลาออกหนึ่งคน) สะท้อนว่า สภาวะการเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจน เมื่อผสมกับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมลงคะแนนเสียงรับรองนายกฯ ทำให้ฝ่ายที่ไม่รับรองนายพิธายังครองความได้เปรียบและกำหนดเกมได้ว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้เมื่อไหร่
นายสติธรย้อนเหตุการณ์ที่ไล่เรียงมาจนถึงวันโหวตในวันที่ 13 กรกฎาคม ทำให้เห็นสัญญาณทิศทางของ สว. ว่าจะไม่ลงคะแนนเสียงให้พิธา เช่น การวางมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาด้วยการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคดีหุ้นไอทีวีให้ศาลรัฐธรรมนูญแบบเร่งรีบชนิดที่เพิ่มวันประชุมประจำสัปดาห์ขึ้นมาอีก 1 วันก่อนมีมติดังกล่าว การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคดียุบพรรคก้าวไกลไว้พิจารณา รวมถึงข่าวหลุดว่า สว. ที่จะโหวตให้พิธาถูกกดดัน
เมื่อถึงวันที่ 13 กรกฎาคม การอภิปรายของเหล่าสมาชิกรัฐสภาก็ทำให้เห็นว่าอีกว่า อย่างไรเสีย สว. ก็ไม่โหวตให้นายพิธาด้วยเหตุผลสารพัด เช่น คุณสมบัติของหัวหน้าพรรคก้าวไกลจากเรื่องกรณีถือหุ้นสื่อ จุดยืนทางการเมืองในประเด็นต่าง ๆ ของพรรคก้าวไกล และที่ชัดเจนคือ เรื่องความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
“ข้ออ้างเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 มันเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นแหละ แต่จริง ๆ จุดประสงค์หลักเขาไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลมาตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ที่โหวตกันเป็นแค่การปฏิเสธคุณพิธาในฐานะแคนดิเดตของ 8 พรรคร่วม ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่จริง ๆ คือเขาไม่ต้องการให้ก้าวไกลเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเลย ซึ่งอันนี้ก็ต้องคอยพิสูจน์กัน”
ฉากทัศน์ที่ 1: พิธา กับหนึ่งโอกาสสุดท้าย?
นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า ในการโหวตรอบที่สอง หากไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน พรรคก้าวไกลน่าจะมีการคุยกับพรรคเพื่อไทย และขอให้นายพิธาได้ถูกเสนอชื่อเป็นครั้งที่ 2 แต่คงต้องมีการวางเงื่อนไขว่าจะมีจุดสิ้นสุดหรือไม่ว่า จะเสนอนายพิธาอีกกี่ครั้งก่อนที่จะลองเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากฝั่งเพื่อไทยบ้าง ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดตั้งรัฐบาลโดย 8 พรรคร่วม
นายสติธรมองว่า หากพิจารณากันบนเงื่อนไขเดิม การเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้งอาจจะเจอแรงต้านมากกว่าเดิม เสียงที่งดออกเสียงอาจเปลี่ยนเป็นการไม่เห็นชอบ หรือไม่ก็เกิดการตีรวนจนทำให้ต้องเลื่อนการโหวตไปก่อน เช่น ไม่เข้าประชุม หรือส่งกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
“มันก็มีสุ้มเสียงจากทาง สว. เช่นเดียวกันว่า อ้าว ก็เคยเสนอไปแล้วและได้รับผลชัดเจนว่าผลส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้ลงคะแนนเห็นชอบให้คุณพิธา และมันก็เป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากความต้องการที่เป็นเป้าหมายของพรรคร่วม 8 พรรค คือต้องการ สว. 65 เสียง แต่ว่ามีคนโหวตให้ 13 คน เหมือนยังห่างไกลเป้าหมายมาก แล้วยังเสนอชื่อเดิมมาอีก คนก็อาจจะรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นจะเสนอมาทำไม”
“มันทำให้เขารู้สึกว่ามันจะเสียเวลากับการที่จะต้องมาประชุมเพื่อไปโหวตและได้คำตอบเหมือนเดิม มันก็เริ่มมีคนที่พูดว่าอาจจะมี สว. ที่ขาดประชุมจนองค์ประชุมมีปัญหาหรือเปล่า”
ฉากทัศน์ 2: การโหวตที่ยาวนาน และการถอนตัวของก้าวไกล
จากการสังเกตคำอภิปรายของทาง สว. นายสติธรวิเคราะห์แนวโน้มว่า แม้ภายใน 8 พรรคร่วม จะเปลี่ยนการนำจากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะไม่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงในแง่คะแนนเสียงมากนัก หากเป็นเช่นนั้น เท่ากับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยก็อาจจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ความเป็นไปได้นี้อาจนำไปสู่การโหวตนายกฯ ที่ยืดเยื้อ ก่อนที่แกนนำ 8 พรรคร่วมจะกลับมานั่งทบทวนความเป็นไปได้ใหม่ ๆ
“คือจะรอให้ครบก็ได้นะ ซึ่งมันก็จะทำให้ยืดเยื้อออกไปอีก เช่น มันเป็นเรื่องตัวบุคคลหรือเปล่า อยากพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ครั้งที่สามซึ่งเป็นคิวแรกของเพื่อไทย อาจไปที่คุณเศรษฐา (เศรษฐา ทวีสิน) ครั้งที่สี่เป็นคุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) ครั้งที่ห้าเป็นคุณชัยเกษม (ชัยเกษม นิติสิริ)
“จนถึงจุดนี้ เพื่อไทยก็บอกกับก้าวไกลว่ามันหมดแล้วแหละ เขาไม่ใช่แค่ไม่เอาแคนดิเดตของพวกเราหรอก คือเขาไม่เอาพรรคก้าวไกลร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เราจะยังยอมไปพึ่งพาเพียงเสียงของ สว. อยู่หรือ เราไม่ลองมาชวนเพื่อน ส.ส. อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเขาก็อาจมีความกังวลเรื่อง 112 หรือก้าวไกลบ้าง”
หากมาถึงจุดนี้ พรรคก้าวไกลที่ประกาศจุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่ครั้งหาเสียงว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และมีเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย จะต้องตัดสินใจว่า จะทำอย่างไรต่อ
“ก็กลายเป็นเกมที่เกมที่ก้าวไกลอาจจะต้องเลือกว่า จะอยู่ต่อกับเพื่อไทยแล้วลุยต่อ แล้วมี 312 เสียงไปเรื่อยๆ หรือจะยอมให้เพื่อไทยเติม ส.ส. พรรคอื่นเข้ามา แล้วตัวเองต้องถอยฉากออกไป จุดนี้แหละคือจุดที่มันเกิดการเปลี่ยนขั้วได้ คือจุดที่ก้าวไกลต้องยอมถอยออกจากการเป็นแกนนำของพรรคร่วม 8 พรรค แล้วก็ปล่อยให้ 7 พรรคที่เหลือเขาเดินต่อไปกับเพื่อไทย ซึ่งเพื่อไทยก็มีหน้าที่ต้องไปเติมเสียงจากฝั่ง ส.ส. เข้ามา”
“ณ จุดนั้น ต่อให้ไม่มี สว. มาช่วยโหวต ก้าวไกลก็อาจจะแสดงสปิริตของตัวเองเพื่อปิดสวิทช์ สว. ด้วยการโหวตสนับสนุนพรรคขั้วที่เขาข้ามขั้วกันไปแล้ว”
ในจุดนี้ หากก้าวไกลไม่โหวตสนับสนุนขั้วการจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ด้วยเหตุผลเรื่องจุดยืนทางการเมือง ก็อาจจะทำให้พรรคเพื่อไทยไปหาเสียงสนับสนุนจาก สว. เพิ่ม ซึ่งพรรคเพื่อไทยอาจจะต้องนำพรรคที่อาจจะเรียกร้องการสนับสนุนจาก สว. ได้ เช่น พรรคพลังประชารัฐหรือพรรครวมไทยสร้างชาติ จุดนี้เป็นจุดที่นายสติธรมองว่า เป็นเหตุผลที่เกิดการวิเคราะห์ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อาจถูกเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในฐานะข้อแลกเปลี่ยน
ฉากทัศน์ที่ 3: ก้าวไกลถอยแก้ ม.112
กระแสการอภิปรายในวันที่ 13 กรกฎาคม สะท้อนถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรงในประเด็นการแก้ไข ม.112 ที่พรรคก้าวไกลประกาศว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาพูดคุยในสภา ความแหลมคมของประเด็นนี้ดูจะมีผลต่อความเป็นไปได้ทางการเมืองใหม่ๆ เมื่อชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต จ.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า หากก้าวไกลไม่ยุ่งกับ ม.112 พรรคภูมิใจไทยจะยกมือให้ และไม่ร่วมรัฐบาลด้วย
ในความเป็นไปได้นี้ นายสติธรมองว่าการที่พรรคก้าวไกลจะประกาศหยุดพูดเรื่องการแก้ ม.112 คงไม่เกิดขึ้น เพราะทางพรรคเคยกล่าวไว้ตอนที่ถอยเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ว่า หากไม่เสียหลักการก็ถอยได้ แต่เรื่อง ม.112 เป็นเรื่องของหลักการ และไม่ได้อยู่ในข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) 8 พรรคด้วย
“แต่ทาง สว. เราก็เห็นจากคำอภิปรายวันที่ 13 ว่าเขาไม่เชื่อ หลายท่านถึงกับพูดดักทางด้วยซ้ำว่า ต่อให้วันนี้ก้าวไกลยืนยันอย่างชัดเจนเสียงแข็งเลยนะว่าจะหยุดเรื่องของการที่จะผลักดันที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ว่าทางใดก็ตาม เขาก็บอกว่าเขาไม่เชื่อหรอก เพราะวันหนึ่งเคยพูดไว้แบบหนึ่ง แล้วอยู่ๆ วันนี้มาพูดว่าหยุด เพื่อจะให้ได้ตำแหน่งนายกฯ ต่อไปวันข้างหน้าได้เป็นนายกฯ ก็อาจจะเปลี่ยนใจอีก กลับคำอีก”
ฉากทัศน์ที่ 4: รัฐบาลเสียงข้างน้อยและดงงูเห่า
อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่มีการวิเคราะห์ คือ สมมติฐานที่พรรคอื่น ๆ นอกเหนือจากกลุ่ม 8 พรรคร่วมที่มีอยู่ 188 คนเสนอชื่อนายกฯ แข่ง และใช้เสียงสนับสนุนของ สว. 250 เสียง โหวตให้ผ่านเกณฑ์แล้วจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ความเป็นไปได้นี้ถูกคาดคะเนหลังผลการเลือกตั้ง และถูกพูดถึงโดยวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ที่รัฐบาลเสียงข้างน้อยถูกตั้งขึ้นแล้วค่อยๆ ดูดเสียงผู้แทนฯ มาจนเป็นเสียงข้างมาก (ซึ่งต่อมาวิษณุชี้แจงว่า ไม่ได้ชี้นำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย)
ต่อความเป็นไปได้ของกรณีนี้ นายสติธรมองว่า ยังเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ เพราะในหมู่ฐานเสียงของ 8 พรรคร่วมก็มีระดับความอดทนอดกลั้นต่อแรงกดดันจากการโหวตนายกฯ ไม่เหมือนกัน โดยมีทั้งคนที่รอได้และรอไม่ได้ หากฝ่ายตรงข้ามประเมินท่าทีของฐานเสียง 8 พรรคร่วม แล้วประเมินว่า มีคนที่รอการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าคนที่รอไม่ได้ ก็อาจจะชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้น
ราคาที่ต้องจ่ายจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
ผอ. สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า 8 พรรคร่วมอาจจะจับมือกันเหนียวแน่น รอจนกว่า สว. จากบทเฉพาะกาลหมดวาระไปในเดือนพฤษภาคม 2567 และรอจนกว่า สว. ชุดใหม่ขึ้นมาในช่วงเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เพราะถึงตอนนั้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจะใช้เสียงเพียง 500 คนในสภาล่างเท่านั้น แต่การลากยาวเช่นนั้นก็มีราคาที่ต้องจ่าย
นายสติธรกล่าวต่อไปว่า แม้โครงสร้างทางการบริหารราชการแผ่นดินของไทยจะทำให้รัฐบาลรักษาการสามารถทำหน้าที่ประจำได้อยู่ และสามารถใช้งบประมาณปี 2566 ในปีงบประมาณ 2567 ได้ แต่การประคับประคองประเทศของรัฐบาลรักษาการท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของประชาชนนั้น หากมีความยืดเยื้อและความไม่พอใจขยายวง ก็ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองด้วย
“เป็นราคาที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น กับการที่เราไม่มีความชัดเจนว่าเราจะได้นายกฯ คนใหม่เมื่อไหร่ จะตั้งรัฐบาลใหม่ได้วันไหน” นายสติธรกล่าว