ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘พิธา’ บินลัดฟ้า รับบทนักวิชาการม.ฮาร์วาร์ด เมื่อการเมืองไทยพลิกผันสู่อนาคตที่คาดเดายาก


นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคและประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคและประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคและประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกลที่เพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เลือกที่จะใช้เวลาที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองมาทำหน้าที่นักวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐฯ ในช่วงที่การเมืองไทยพลิกผันเกินคาด และไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร

นายพิธา วัย 43 ปี จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักวิชาการด้านประชาธิปไตย (Democracy Fellow) ที่ Harvard Kennedy School มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเป็นสถาบันที่อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลจบมาเมื่อ 13 ปีก่อน

ในเเถลงการณ์ภาษาอังกฤษ พิธากล่าวถึงความตื่นเต้นที่จะได้ใช้โอกาสนี้ไปมีส่วนร่วมกับนักเรียน นักวิจัยและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกครั้ง โดยเขากล่าวว่า จะแบ่งเวลากลับมาที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งรวมถึงช่วยในการรณรงค์หาเสียงให้กับตัวเเทนพรรคประชาชน และว่า ประสบการณ์นี้จะมีประโยชน์ต่อเป้าหมายของเขาที่จะร่วมสร้างอนาคตของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม

เขาจะเริ่มทำหน้าที่นักวิชาการนี้ในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงที่ฮาร์วาร์ด พร้อมตั้งเป้าที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับผู้นำรุ่นใหม่ นอกจากนั้นยังจะค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเเนวทางประชาธิปไตยของโลก

พิธา ระบุในการสัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า อาชีพในเส้นทางการเมืองของตนนั้น “ถึงฆาตก่อนเวลาอันควร” โดยอ้างถึงการที่พรรคก้าวไกลสามารถคว้าเสียงสนับสนุนได้มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2566 แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะถูกสกัดกั้นโดย “วุฒิสมาชิกที่ใกล้ชิดกับกองทัพ” และถูกสั่งตัดสิทธิ์ทางการเมืองโดย “ศาลรัฐธรรมนูญที่ใกล้ชิดกับกองทัพ”

พิธาบอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กด้วยว่า การ “ถูกบีบ” ให้พักบทบาททางการเมืองครั้งนี้ทำให้ตนมีเวลาคิดทบทวนเกี่ยวกับอนาคตซึ่งก็ยังหวังว่า จะได้กลับมาทำงานด้านการเมืองอีกครั้งเมื่อคำสั่งตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปีหมดอายุลง โดยตั้งเป้าไว้ด้วยว่า อาจจะได้เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วย

“ประเทศไทยที่อยู่ในวังวนเดิม ๆ”

ขณะที่ พิธาบอกกับบลูมเบิร์กว่า “คุณไม่สามารถประเมินแรงต้านการเปลี่ยนแปลงต่ำเกินไปเลย” และว่า “เมื่อประเทศไทยไม่ต้องการให้ผมลง(สนาม)เป็นผู้เล่น ผมก็ต้องมาเป็นโค้ชแทน” อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลบอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า เวลานี้ การเมืองไทยกลับมายืนอยู่ที่จุดเดิม “และประชาชนก็ไม่ได้อะไร(จากทุกสิ่งที่เกิดขึ้น)เลย”

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การเมืองไทยประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ก่อนจะพิพากษาให้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม

อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกลกล่าวด้วยว่า นักการเมืองของไทยต้องทำการปฏิรูประบบตุลาการเพื่อป้องกันการแทรกแซงที่ส่งผลให้ประเทศ “วนอยู่ที่เดิม” พร้อมย้ำว่า คำสั่งตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปีนั้นจะไม่ทำให้ตนล้มเลิกความตั้งใจที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปครั้งสำคัญต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง การหยุดยั้งไม่ให้สถาบันองค์กรอิสระกลายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ความเห็นของพิธาครั้งนี้มีออกมาหลัง นักวิชาการและนักกฎหมาย 134 คนร่วมกันออกแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญว่า ทำการที่ล้ำเส้นอำนาจศาลและสร้างความเสียหาต่อศรัทธาของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยและระบบกฎหมาย

การกลับมาของ “ชินวัตร”

ขณะเดียวกัน วีโอเอ ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์เกี่ยวกับทิศทางการเมืองไทยเมื่อแพทองธาร ชินวัตร ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และหลายคนชี้ว่า บุตรสาวคนเล็กของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร อาจะเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย” ของครอบครัวที่จะดึงเสียงสนับสนุนของประชาชนกลับคืนมา

แพทองธาร ในวัย 37 ปี ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายเศรษฐา ทวีสิน ของพรรคเพื่อไทย พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากทำผิดกฎจริยธรรม และสมาชิกรัฐสภาลงมติเสียส่วนใหญ่ให้ทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาล แม้จะมีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด

มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชื่อว่า นายทักษิณ จะไม่มายุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานรัฐบาลภายใต้การนำของบุตรสาว

อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และบุตรสาวคนเล็ก แพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย (18 ส.ค. 2567)
อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และบุตรสาวคนเล็ก แพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย (18 ส.ค. 2567)

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ซึ่งสอนวิชาการเมืองและกฎหมายไทยที่ SOAS University of London และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการรัฐสภาไทยอยู่ด้วย บอกกับ วีโอเอ ว่า นายทักษิณนั้นยังคงมีส่วนในการดูแลการทำงานของรัฐบาลอย่างแข็งขันอยู่เบื้องหลัง ขณะที่แพทองธารกำลังรับตำแหน่ง “งานที่หินที่สุดชิ้นหนึ่ง” ที่อดีตนายกฯ รายนี้รู้ซึ้งเป็นอย่างดี

ส่วน ศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและนักวิเคราะห์การเมือง ให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคที่ชนะอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งมา เป้าหมายสำคัญอันดับหนึ่งก็คือ การคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้ได้

ถึงกระนั้น ภารกิจต่าง ๆ ที่แพทองธารต้องลงมือจัดการนั้นก็เป็นความท้าทายอย่างมาก ตั้งแต่การตั้งคณะรัฐมนตรีที่เป็นที่พอใจของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมที่ต้องการกระทรวงใหญ่ ๆ ไว้ในมือ ไปจนถึงการดำเนินแผนงานด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ค้างมาจากยุคของเศรษฐา เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน และแผนงานออกกฎหมายเปิดคาสิโนเสรีเพื่อกระตุ้นรายได้ภาษี

แต่ผู้ที่ติดตามดูสถานการณ์การเมืองไทยและการขึ้นสู่อำนาจของแพทองธารชี้ว่า หลายคนไม่ได้มองว่า ประเทศไทยคือดินแดนแห่งโอกาสอีกต่อไปแล้ว ด้วยอัตราหนี้ครัวเรือนในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (กว่า 90%) และอัตราค่าแรงที่ต่ำ ขณะที่ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยบอกว่า เศรษฐกิจของประเทศถูกแบ่งส่วนโดยธุรกิจผูกขาดและผู้มีอำนาจทางการเมืองซึ่งก็คือสมาชิกชนชั้นนำไม่กี่คนและรวมถึงตระกูลชินวัตรด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับตระกูลชินวัตรที่ก่อนหน้านี้มีสมาชิกถึง 3 คนที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น ศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและนักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเส้นทางทางการเมืองของแพทองธาร แบรนด์ชินวัตรก็จะไม่หายไปจากแวดวงการเมืองไทยอย่างง่าย ๆ เลย”

  • ที่มา: วีโอเอ บลูมเบิร์กและรอยเตอร์

กระดานความเห็น

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG