ในปี 2024 มีวาระที่ต้องจับตาคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นักวิเคราะห์เริ่มออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลเท็จที่มุ่งนำเสนอเนื้อหาดังกล่าวในกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ไม่ใช่คนผิวขาวในอเมริกามากขึ้น
ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 มีโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ที่มุ่งเป้ากลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและฮิสแปนิกที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นคอมมิวนิสต์ และสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในอเมริกากล่าวหาว่าผู้ร่วมก่อตั้งการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมของคนผิวดำ Black Lives Matter เป็นคนเล่นของ หรือภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่าสุนัขฉี่รดโปสเตอร์หาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์
เรื่องราวต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นล้วนไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น แต่เรื่องราวเหล่านี้เผยแพร่ไปทั่วสื่อสังคมออนไลน์ และโหมกระพือการนำเสนอข้อมูลเท็จและข่าวปลอมไปในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ไม่ใช่คนผิวขาว
ระหว่างที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใกล้จะมาถึงในปี 2024 องค์กรประชาสังคมกำลังเตรียมการในสิ่งที่พวกเขาคาดว่าจะเป็นการจู่โจมด้วยพายุแห่งข้อมูลบิดเบือนที่มุ่งเป้าชุมชนคนผิวสีและผู้อพยพที่เลวร้ายลงกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน และการโจมตีเหล่านี้จะมุ่งเป้าไปในกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อ่อนไหวต่อประเด็นทฤษฎีสมคบคิดและความไม่เชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้งอเมริกัน
ซาราห์ ชาห์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายและการมีส่วนร่วมของชุมชน จาก Indian American Impact หน่วยงานที่ดูแลเว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริง Desifacts.org กล่าวกับเอพีว่า “ข้อมูลบิดเบือนเหล่านี้เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นและเผยแพร่รวดเร็วเหมือนกับไฟป่า” และว่า “น่าเสียดายที่สิ่งที่เราได้เห็นเมื่อปี 2020 ถือว่าไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะได้เห็นในอีกไม่กี่เดือนก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2024”
เจนนี หลิว ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านข้อมูลเท็จและข่าวปลอม จากองค์กรไม่แสวงผลกำไร Asian Americans Advancing Justice กล่าวกับเอพีว่า กลุ่มชุมชนคนผิวสีที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้อพยพที่ไม่ได้สื่อสารภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ตั้งคำถามถึงความซื่อตรงของกระบวนการการเลือกตั้งอเมริกา และเปิดรับคำลวงของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล่าวหาว่าเขาถูกขโมยชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ซึ่งคนกลุ่มนี้ถูกละเลยในการใส่ใจในประเด็นการรับมือกับข้อมูลบิดเบือน
หลิว กล่าวว่า “เมื่อคุณพูดถึงผู้ที่รับสารเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด คุณจะนึกถึงคนที่อายุมาก บางทีอาจจะมาจากพื้นที่ชนบท หรืออาจจะเป็นคนผิวขาว” และว่า “คุณคงไม่นึกถึงชาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่เลื่อนอ่านข่าวสารผ่านทางวีแชท นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการเล่าเรื่องแบบนี้ถึงสามารถกลบเกลื่อนหรือลบเลือนอันตรายจากข้อมูลเท็จที่ชุมชนคนผิวสีเหล่านี้ต้องเผชิญ”
บิดเบือนข้อมูลอย่างแยบยล
นอกเหนือจากข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเครื่องลงคะแนนและการโหวตผ่านทางไปรษณีย์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญระบุกับเอพีด้วยว่า กลุ่มก้อนเหล่านี้กำลังตระเตรียมข้อมูลที่ส่งให้กับชุมชนคนผิวสีโดยเฉพาะ
อิงกา ทราทูธิก หัวหน้าทีมวิจัย Propaganda Research Lab แห่ง University of Texas วิทยาเขตออสติน ยกตัวอย่างกลุ่มประชากรที่เปราะบาง อย่างเช่น ผู้อพยพจากระบอบเผด็จการในประเทศอย่างเวเนซุเอลา หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน อาจจะ “มีความอ่อนไหวต่อข้อมูลเท็จที่กล่าวอ้างว่านักการเมืองต้องการเปลี่ยนสหรัฐฯ ให้กลายเป็นประเทศสังคมนิยม”
นอกจากนี้ ผู้คนที่อพยพมาจากประเทศที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมอาจจะไม่มีความเชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้งและทางการ ซึ่งอาจทำให้คนกลุ่มนี้มีความอ่อนไหวต่อข้อมูลเท็จด้วยเช่นกัน
ลอรา ซอมเมอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตรวจสอบข้อเท็จจริงในรูปแบบภาษาสเปน แฟกต์เชเกอาโด (Factchequeado) กล่าวกับเอพีว่า ความพยายามเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนมักจะมาในรูปแบบเนื้อหาที่มีความสำคัญต่อแต่ละชุมชน ทั้งเรื่องความปลอดภัย ผู้อพยพ การทำแท้ง การศึกษา เงินเฟ้อ หรือข้อกล่าวหาเรื่องความสัมพันธ์นอกสมรส ที่ซอมเมอร์เห็นว่า “มันเป็นการฉวยโอกาสจากความกลัวและชอกช้ำจากประสบการณ์จริงที่คนเหล่านี้เผชิญในประเทศบ้านเกิดมาใช้ประโยชน์”
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเปิดเผยกับเอพีว่า กลุ่มที่เปราะบางอื่น ๆ ยังรวมถึงผู้มีข้อจำกัดด้านภาษา ขาดองค์ความรู้ด้านสื่อในอเมริกา และขาดวิธีการเข้าถึงแหล่งข่าวในสหรัฐฯ ที่น่าเชื่อถือ ผู้อพยพจำนวนมากพึ่งพาเนื้อหาที่แปลออกมาเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งเปิดช่องให้กับผู้ไม่ประสงค์ดีในการอัดข้อมูลเท็จเข้ามา
คลารา คีเมเนส ครูซ ผู้ร่วมก่อตั้ง แฟกต์เชเกอาโด กล่าวกับเอพีว่า “กลยุทธ์เหล่านี้จะใช้ภาวะสุญญากาศด้านข้อมูล ในช่วงที่ความไม่แน่นอนเกิดขึ้น เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่ได้แปลออกมาเป็นภาษาท้องถิ่นในทันท่วงที”
ข้อมูลเท็จยังผุดขึ้นมาในรูปแบบของการแปลที่ผิดพลาด โดยสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institute) พบตัวอย่างของการแปลข่าวสารที่ผิดในวอทส์แอปของโคลอมเบีย คิวบา และเวเนซุเอลา ซึ่งแปลคำว่า progressive เป็นคำว่า progresista ซึ่งมีความหมายแฝงไปทางกลุ่มซ้ายจัดที่ใกล้เคียงกับคำว่า socialista และ comunista ในภาษาสเปน
หนทางการแพร่สะพัดของข้อมูลเท็จ
ข้อมูลบิดเบือน มักพบในรูปแบบภาษาสเปน จีนกลาง และฮินดี แพร่สะพัดในแอปฯ สื่อสังคมออนไลน์อย่างวอทส์แอปและวีแชท ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในชุมชนที่ไม่ใช่คนผิวขาว
ทราทูธิก เสริมว่า ชนกลุ่มน้อยในอเมริกาต่างเชื่อว่ามุมมองของพวกเขาไม่ได้มีการนำเสนอผ่านทางสื่อกระแสหลัก และมีแนวโน้มที่จะ “ถอยออกมาอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว” ที่ได้รับการมองเห็นในแอปฯ ส่งข้อความหรือกลุ่มก้อนในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก “แต่ข้อมูลบิดเบือนยังคงมุ่งเป้าไปที่พวกเขาบนแพลตฟอร์ม แม้ว่ามันอาจเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขาก็ตามที”
แรนดี้ แอบบรู ที่ปรึกษาด้านนโยบายจาก National Hispanic Media Coalition ซึ่งดูแลเรื่องประเด็นข้อมูลบิดเบือน บอกกับเอพีว่า ความท้าทายอีกอย่างของแอปฯ เหล่านี้ คือการเป็นข้อมูลที่ต้องผ่านการเข้ารหัสเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ และยากต่อการติดตามสอดส่องสำหรับผู้ดูแลแอปฯ หรือผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้เนื้อหาเหล่านี้ “หลุดรอดเรดาร์” และได้รับการเผยแพร่โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ
แอบบรู แสดงความกังวลว่ามีช่องยูทูบและรายการวิทยุที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และมีผู้ดำเนินรายการทางวิทยุและยูทูบที่เผยแพร่ข่าวปลอมในภาษาสเปนมากขึ้นด้วย
ในรายงานเมื่อปี 2022 โดยกลุ่ม Media Matters ตรวจพบวิดีโอยูทูบในภาษาสเปนกว่า 40 ชิ้นที่เผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ และวิดีโอจำนวนมากยังคงอยู่บนแพลตฟอร์มดังกล่าวแม้ว่าจะละเมิดนโยบายการเผยแพร่ข้อมูลเท็จของยูทูบก็ตาม
ข้อมูลเท็จและการลิดรอนสิทธิ์คนผิวสี
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในระดับรัฐและระดับท้องถิ่นในอเมริกา นักเคลื่อนไหวต่างแสดงความกังวลเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2024 ที่มุ่งเป้าคนผิวสีและชนกลุ่มน้อย
มาเรีย เทเรซา คูมาร์ ผู้ก่อตั้งองค์กรโวโต้ ลาติโน (Voto Latino) ที่เคลื่อนไหวเรื่องการมีสิทธิ์เลือกตั้งของชนกลุ่มน้อย บอกกับเอพีว่า ความพยายามลักษณะนี้เพิ่มขึ้นในกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย คนผิวดำ และชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิก และ “มุ่งเป้าไปที่ชุมชนคนผิวสีในรูปแบบที่เผยแพร่สิ่งที่น่ากังวลว่าระบบเลือกตั้งจะยิ่งกดทับพวกเขาไปอีก”
ในแง่ของระบบ ทราทูธิก กังวลว่าการปลดพนักงานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้บริษัทเหล่านี้เตรียมการไม่พอสำหรับการรับมือข้อมูลเท็จในการเลือกตั้งที่จะมาถึง และยังมีงานอีกมากที่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิการเลือกตั้งของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต้องทำ
- ที่มา: เอพี