หนึ่งในประเด็นที่เป็นเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน คือ การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในช่วงที่สองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกกำลังแข่งขันช่วงชิงเทคโนโลยีแห่งอนาคตอยู่
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีนกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า ใช้ประเด็นสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือพูดให้ชัดคือ การปกป้องทรัพย์สินด้านอุตสาหกรรม เพื่อขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน
ในบทความแสดงข้อคิดเห็น ซื่อ หยาง นักเขียนของซินหัว กล่าวอ้างว่า:
“วาทศิลป์เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา คือ หนึ่งในเหตุผลซ้อนเร้นมากมายที่สหรัฐฯ อ้างเพื่อปกปิดความตั้งใจที่แท้จริงที่จะเข้าจัดการกับเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างเช่น ของจีน ซึ่ง[สหรัฐฯ]มองว่าน่าจะเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของตน”
นี่เป็นการทำให้สังคมเข้าใจผิด
การดำเนินการทางกฎหมายของสหรัฐฯ ต่อจีนในประเด็นการจารกรรมทางเศรษฐกิจ คือ หนึ่งในแผนการตอบโต้การขโมยทรัพย์สินทางปัญญาขนานใหญ่ของกรุงปักกิ่ง
ในความเป็นจริง ราว 80% ของคดีการจารกรรมทางเศรษฐกิจที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ดำเนินการในปี ค.ศ. 2021 นั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายของจีน
สำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ประเมินว่า การขโมยความลับทางการค้า สินค้าปลอมแปลง และซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์โดยจีนนั้นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 225,000-600,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
เอฟบีไอ กล่าวว่า จีนใช้ตลาดของตนที่มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลเพื่อดึงดูดบริษัทต่างประเทศเข้ามา ก่อนจะใช้กระบวนการวิศวกรรมย้อนกลับกับเทคโนโลยีต่างประเทศทั้งหลายเพื่อประหยัดเวลาและเงินของบริษัทจีนในงานด้านการค้นคว้าและพัฒนา
ส่วน American Enterprise Institute (AEI) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน สรุปไว้ในรายงาน “China’s Technology Strategy: Leverage Before Growth” ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ว่า “เช่นเดียวกับในยุทธศาสตร์การทหาร ยุทธวิธีทางเศรษฐกิจของจีนนั้น “ไม่ได้สมมาตร” โดยใช้ประโยชน์จากระบบของอเมริกาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเปิดกว้างและการสรรสร้างความมั่งคั่ง พร้อม ๆ กับการปกป้องบริษัทขนาดใหญ่ของตน และทำการข่มขู่ขู่เข็ญให้มีการโอนถ่ายเทคโนโลยี จากนั้นค่อยหาทางกำจัดคู่แข่งต่างชาติออกไปจากตลาด”
แดน บลูเมนธัล และ เดริก ซิสเซอร์ส สองนักวิเคราะห์ชั้นนำด้านจีนของ AEI ที่ร่วมกันเขียนรายงานฉบับดังกล่าว วิพากษ์วิจารณ์วิธีการของสหรัฐฯ ในการตอบโต้จีน โดยระบุว่า “สหรัฐฯ นั้นไม่ได้ทำอะไรมากมายเพื่อสกัดกั้นการปล้นสะดมของจีนเลย ทั้งยังให้การสนับสนุนจีนด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างอ้อม ๆ ด้วย ถ้าหากบริษัทอเมริกันที่มีความล้ำหน้าด้านนวัตกรรมที่สุดจะสูญเสียทรัพย์สินทางปัญญาและสัดส่วนการตลาดโดยไม่มีใครทำอะไรเลย จีนก็จะเป็นผู้ควบคุมเศรษฐกิจหลายภาคส่วนของโลกมากขึ้น”
ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ที่จะแสดงให้เห็นว่า ผู้ดำเนินการจากจีนใช้การฉ้อโกงหลอกหลวงอย่างไรเพื่อขโมยทรัพย์สินทางปัญญาอันมีค่ายิ่งจากบริษัทของสหรัฐฯ
คดีบริษัท จีอี เอวิเอชั่น (2022)
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 2021 คณะลูกขุนของศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ชุดหนึ่งตัดสินว่า ซู่ หยานจุ้น เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองรัฐบาลจีน มีความผิดในข้อหาสมรู้ร่วมคิดเพื่อการทำจารกรรมทางเศรษฐกิจและพยายามขโมยความลับด้านการค้า โดยมีคำตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 20 ปีในปี ค.ศ. 2022
ซู่ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของจีน เข้าหาพนักงานบริษัท จีอี เอวิเอชั่น (GE Aviation) รายหนึ่งในเมืองซินซินเนติ ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2017 จากนั้น ก็ขอร้องพนักงานบริษัทรายนั้นให้หาข้อมูล “กระบวนการออกแบบ รายละเอียดจำเพาะระบบ” ของโมดูลพัดลมเครื่องยนต์เครื่องบินที่ใช้วัสดุคอมโพสิต (composite aircraft) ซึ่งเป็นผลงานที่บริษัทแห่งนี้คิดค้นพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ จีอี คือ บริษัทแห่งเดียวในโลกที่สามารถโมดูลพัดลมแบบเบาที่ว่านี้ได้
เอฟบีไอสามารถทำการให้พนักงานของจีอี เอวิเอชั่น รายดังกล่าวเปิดเผยข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การจับกุม ซู่ ได้ในเวลาต่อมาที่กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทั้งสองนัดการมาแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าที่ว่ากับเงินสดก้อนหนึ่ง
จอหน์ เดเมอร์ส ซึ่งเป็นรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้น กล่าวว่า “คดีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นแบบโดด ๆ [แต่] เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจโดยรวมเพื่อการพัฒนาจีน ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้เสียหาย”
คดีเอพีที 41 (ปี 2022)
ในปี ค.ศ. 2022 ไซเบอรรีสัน (Cybereason) ซึ่งเป็นบริษัทด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ตั้งอยู่ในนครบอสตัน เปิดโปงให้โลกรู้เกี่ยวกับปฏิบัติของกลุ่ม เอพีที 41 (APT41) ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลจีน ที่ดำเนินการมาเป็นปีแล้ว และประสบความสำเร็จในการยักย้ายถ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูลที่มีความอ่อนไหวเป็นจำนวนมากถึงหลายร้อยกิกะไบต์จากบริษัทข้ามชาติ 30 แห่งออกมาได้
ไซเบอรีสัน เปิดเผยว่า ปฏิบัติการ เอพีที 41 ซึ่งมีการดำเนินการมาโดยไม่มีใครตรวจพบเจอตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 มีเป้าหมายที่จะ “ขโมยข้อมูลอันเป็นความลับและมีความอ่อนไหวจากบริษัทผู้ผลิตและบริษัทเทคโนโลยีซึ่งหลัก ๆ ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออก ยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ”
ลิออร์ ดิฟ ซีอีโอของไซเบอรีสัน ระบุว่า อาชญากรด้านไซเบอร์นั้นมุ่งเน้นไปที่การหาพิมพ์เขียว “ของเทคโนโลยีล้ำยุค ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการจดสิทธิบัตร” โดยสิ่งที่ถูกขโมยไปนั้นมี อาทิ แผนภาพพิมพ์เขียวของเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์และขีปนาวุธ รวมทั้ง ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับยารักษาโรคเบาหวาน โรคอ้วนและโรคซึมเศร้า และงานออกแบบแผงโซลาร์ เป็นต้น
คดีหัวเหว่ย (ปี 2020)
ในปี ค.ศ. 2020 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นฟ้องบริษัทโทรคมนาคม หัวเหว่ย ของจีน ในข้อหาขโมยความลับทางการค้าจากบริษัทสหรัฐฯ 6 แห่งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
ข้อมูลคำฟ้องระบุว่า หัวเหว่ยขยายธุรกิจจนกลายมาเป็นอาณาจักรโทรคมนาคมได้ดังในปัจจุบัน “ด้วยการใช้การฉ้อโกงและหลอกลวงเพื่อยักยอกเทคโนโลยีอันซับซ้อนจากคู่ค้าสหรัฐฯ”
คำฟ้องนั้นยังกล่าวด้วยว่า หัวเหว่ย เตรียมจะลงนามในข้อตกลงเก็บรักษาข้อมูลความลับกับบริษัทในสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ก่อนจะทำการละเมิดเงื่อนไขในข้อตกลงด้วยการยักยอกเอาทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นของตนเอง และว่า บริษัทแห่งนี้ยังใช้ตัวแทน (proxy) ที่เป็นศาสตราจารย์ซึ่งทำงานให้กับสถาบันวิจัย เข้าไปนำเทคโนโลยีที่ต้องการมาให้ตนใช้งานต่อไป
ด้วยการใช้วิธีดังกล่าว หัวเหว่ยจึงประสบความสำเร็จในการจัดหาทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เป็นเป็นของสาธารณะและมีความเกี่ยวข้องกับรหัสคำสั่งหรือโค้ดโปรแกรมของระบบเราเตอร์ รวมทั้งเทคโนโลยีเสาอากาศสำหรับโทรศัพท์มือถือและหุ่นยนต์ด้วย
จากนั้น หัวเหว่ยก็นำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมาขายในสหรัฐฯ ในรูปแบบสินค้าที่ราคาถูกกว่าของบริษัทอเมริกัน ซึ่งเปิดทางให้ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมแห่งนี้ของจีนมีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมและมีนัยสำคัญ
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ