ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: สื่ออินเดียอ้างอาวุธต่อต้านรถถังที่สหรัฐฯ ส่งให้ยูเครนตกอยู่ในมือแก๊งเม็กซิกัน จริงหรือไม่


U.S. volunteers train Ukrainian soldiers how to use the Javelin anti-tank weapon in the Zaporizhzhia region on April 28, 2022. (Andriy Dubchak/Donbas Frontliner)
U.S. volunteers train Ukrainian soldiers how to use the Javelin anti-tank weapon in the Zaporizhzhia region on April 28, 2022. (Andriy Dubchak/Donbas Frontliner)
เว็บไซต์ Firstpost

เว็บไซต์ Firstpost

เว็บข่าวของอินเดีย

“สหรัฐฯ พลาด ส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถัง 'จาเวลินง ให้ยูเครน แต่กลับตกไปอยู่ในมือแก๊งเม็กซิกัน”

เท็จ

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ช่อง Milenio Television ซึ่งเป็นสถานีข่าวเคเบิลของเม็กซิโก รายงานว่า สมาชิกรายหนึ่งของแก๊งค้ายา Gulf Cartel ปรากฏตัวในคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งขณะกำลังแบกอาวุธต่อต้านขีปนาวุธ ‘จาเวลิน’ (Javelin) ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิต และมีการนำส่งไปช่วยกองทัพยูเครนรับมือกับการรุกรานของรัสเซียอยู่

แก๊ง Gulf Cartel นั้น เป็นองค์กรอาชญากรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเม็กซิโก และมีที่ทำการใหญ่ในเมืองมาตาโมรอส (Matamoros) รัฐตาเมาลีปัส (Tamaulipas) ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับชายแดนรัฐเท็กซัส ของสหรัฐฯ

สถานี Milenio Television เผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวออกมา และอ้างว่า นำมาจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์แห่งหนึ่งโดยไม่ได้ระบุที่มา และไม่ได้ยืนยันว่า มีการตรวจสอบความถูกต้องแล้วหรือไม่

ขณะเดียวกัน บัญชีทวิตเตอร์ All Source News ซึ่งเน้นการรายงานเหตุความรุนแรงในเม็กซิโก กล่าวว่า คลิปวิดีโอนี้ “ถูกนำไปแชร์อย่างแพร่หลายโดยบัญชีผู้ใช้งานหลายบัญชีที่รายงานข่าวในรัฐตาเมาลีปัส”

บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ป้ายที่อยู่ที่ด้านหลังเสื้อของสมาชิกแก๊งค้ายาที่ขนอาวุธในคลิปนี้เป็นเครื่องหมายของ Grupo Escorpion ซึ่งเป็นหน่วยติดอาวุธของ Gulf Cartel

หลังจากนั้น สื่อต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง สถานีโทรทัศน์ RT ของรัสเซีย และเว็บไซต์ข่าว Firstpost ของอินเดีย ก็มาร่วมรายงานข่าวนี้ โดยอ้างว่า มีการตรวจสอบแล้วว่า อาวุธที่ปรากฏอยู่ในคลิปดังกล่าวเป็นระบบต่อต้านขีปนาวุธ ‘จาเวลิน’ จริง และระบุด้วยว่า เป็นอาวุธที่สหรัฐฯ ตั้งใจส่งให้ยูเครน หรือไม่ก็ถูกลักลอบขนออกมาจากยูเครน

Firstpost ตีพิมพ์หัวข้อข่าวว่า:

“สหรัฐฯ พลาด ส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถัง 'จาเวลิน' ให้ยูเครน แต่กลับตกไปอยู่ในมือแก๊งเม็กซิกัน”

และฝ่าย Polygraph ตรวจสอบแล้วก่อนจะยืนยันว่า คำกล่าวอ้างนี้เป็นความเท็จ

ในความเป็นจริง สถานี RT และเว็บไซต์ Firstpost ต่างหากที่พลาด เพราะอาวุธต่อต้านรถถังในคลิปวิดีโอนั้นไม่ใช่ ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ‘จาเวลิน’ เลย

ทั้งนี้ ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า อาวุธต่อต้านรถถังที่ว่าและปรากฏอยู่ในรายงานข่าวของ Milenio Television เป็นสิ่งที่ควรจะถูกส่งไปยังยูเครน หรือถูกลักลอบขนออกจากยูเครนมายังเม็กซิโก และไม่มีหลักฐานที่ยืนยันด้วยว่า อาวุธนี้มาจากคลังสรรพาวุธของสหรัฐฯ

อาวุธในรายงานข่าวนั้นดูเหมือนจะเป็นอาวุธต่อต้านรถถังแบบเบา รุ่น AT4 ที่ผลิตโดยบริษัท Saab Bofors Dynamics ของสวีเดน หรือไม่ก็เป็น รุ่น M136 ซึ่งเป็นของเลียนแบบของ AT4 ที่มีการอนุมัติให้ผลิตได้อย่างถูกกฎหมายและมีการใช้อย่างกว้างขวางในกองทัพสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารมวลชนของ Saab Bofors Dynamics บอกกับฝ่าย Polygraph ว่า บริษัทเองก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า อาวุธที่ตกเป็นข่าวอยู่นั้นเป็นของตนหรือไม่ เนื่องจาก คลิปที่ถูกนำมาเผยแพร่นั้นไม่ได้ออกมาจากทางบริษัท

เว็บไซต์ Military-Today.com กล่าวว่า การจะแยกแยะอาวุธรุ่น M136 กับ AT4 นั้นทำได้ยาก เพราะ “รูปร่างของ M136 ที่แทบจะเหมือนกับของ AT4 อย่างมาก”

นอกจากนั้น ไรอัน แม็คเบ็ธ นักวิเคราะห์ด้านข่าวกรองที่เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเปิดทั่วไป (OSINT - Open Source Intelligence) แย้งว่า ภาพของอาวุธรุ่น AT4 ในคลิปวิดีโอนั้นมีลักษณะ “คล้าย ๆ กับอุปกรณ์ประกอบฉากภาพยนตร์” เพราะอาวุธในคลิปวิดีโอนั้นมีวงแหวนสีทองรอบ ๆ ลำกล้อง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า นี่เป็นอุปกรณ์สำหรับผู้ฝึกอบรมใช้ในภาคสนาม หรือไม่ก็เป็นอุปกรณ์ฝึกอบรมที่ใช้งานไม่ได้จริงและไม่มีหัวรบของจริงอยู่ภายใน

สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับศัพท์ด้านอาวุธ ชื่อ AT4 นั้นเป็นการเล่นคำที่ระบุถึง ขนาดลำกล้องของปืน ซึ่งก็คือ 84 ม.ม. โดยอาวุธรุ่นนี้เป็นอุปกรณ์แบบยิงได้ครั้งเดียวและใช้แล้วทิ้ง ไม่เหมือนกับของระบบ ‘จาเวลิน’ ตรงที่ไม่มีตัวปล่อยนำวิถี (guided)

เบรนท์ อีสต์วูด บรรณาธิการด้านความมั่นคงแห่งชาติและกิจการกลาโหมของเว็บไซต์ 19FortyFive เคยระบุในบทความที่ตีพิมพ์ออกมาในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2022 ว่า “[AT4] นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนระบบปล่อยนำวิถี NLAW หรือ จาเวลิน ที่มีความสามารถยิงถล่มรถถังหลัก ๆ ได้ แต่นี่เป็น[อาวุธ]ที่ใช้งานได้ง่าย และผู้ที่เพิ่งเข้ามาร่วมกับกองทัพก็สามารถฝึกอบรมใช้อาวุธนี้ได้ภายในเวลาไม่นาน”

อย่างไรก็ดี ทั้งขีปนาวุธและระบบยิง ‘จาเวลิน’ นั้นมีราคาแพงและอาจสูงถึง 197,000 ดอลลาร์ ซึ่งยิ่งทำให้อาวุธรุ่น AT4 กลายมาเป็นทางเลือกที่มีราคาถูกกว่ามาก แม้จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าก็ตาม

Ukrainian soldiers use a Javelin missile system during military exercises in the Donetsk region on December 23, 2021. (Ukrainian Defense Ministry Press Service/ via AP)
Ukrainian soldiers use a Javelin missile system during military exercises in the Donetsk region on December 23, 2021. (Ukrainian Defense Ministry Press Service/ via AP)

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ส่งอาวุธรุ่น AT4 จำนวนหลายพันชุดไปให้กับยูเครน เช่นเดียวกับที่สวีเดนดำเนินการมา

แต่ AT4 ก็เป็นอาวุธที่กองทัพทั่วโลกใช้งานอยู่ แม้แต่ในทวีปอเมริกาใต้ เช่น กรณีของ อาร์เจนตินา บราซิล โคลอมเบีย และเวเนซุเอลา

ในปี ค.ศ. 2019 การนำส่งอาวุธ AT4 จำนวนหนึ่งไปยังกองทัพเวเนซุเอลาเกิดผิดพลาดและกลับไปตกอยู่ในมือของกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติโคลอมเบีย (Revolutionary Armed Forces of Colombia – FARC) ซึ่งเป็นกองโจรอิงลัทธิมากซ์-เลนิน ก่อนที่รัฐบาลโคลอมเบียจะสามารถยึดอาวุธดังกล่าวกลับคืนมาได้

ในครั้งนั้น สวีเดนสอบถามรัฐบาลเวเนซุเอลาว่า กลุ่มกบฏฟาร์ก (FARC) สามารถขโมยอาวุธดังกล่าวไปได้อย่างไร เนื่องจากอุปกรณ์ทั้งหมดมีใบรับรองว่า ผู้รับของเพื่อนำไปใช้งานนั้นคือ เวเนซุเอลา

ทั้งนี้ แก๊งค้ายาของเม็กซิโกพยายามหาอาวุธต่าง ๆ เช่น AT4 มาใช้งานตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียจะรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว และเคยมีคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นสมาชิกของแก๊งต่าง ๆ ถืออาวุธเหล่านี้อยู่ออกมาก่อนหน้านี้แล้วด้วย

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางรายและสื่อบางแห่งระบุว่า อาวุธที่อยู่ในรายงานข่าวของสถานี Milenio Television นั้นเป็น อาวุธ AT4 แต่มีการบิดเบือนความจริงของเนื้อหา เพื่อบ่อนทำลายแรงสนับสนุนของสหรัฐฯ ให้กับยูเครน

หนึ่งในผู้ที่ออกมาให้ความเห็นดังกล่าวคือ เว็บไซต์รวบรวมข่าวสาร Citizen Free Press ที่ทวีตข้อความว่า:

“ทีวีเม็กซิโกรายงานว่า ระบบอาวุธ AT4 ของสหรัฐฯ หลายสิบชุด ซึ่งเดิมทีถูกส่งไปยังยูเครน กลับถูกแก๊ง Cartel Golfo ในเม็กซิโกซื้อไปแทน”

ข้อมูลจากทวิตเตอร์ระบุว่า ข้อความดังกล่าวมีผู้อ่านถึง 2.6 ล้านครั้ง

แต่สถานี Milenio Television ไม่เคยรายงานว่า อาวุธเหล่านั้น “เดิมทีถูกส่งไปยังยูเครน” แต่ระบุเพียงว่า อาวุธแบบดังกล่าวถูกส่งไปยังยูเครนมาก่อน เหมือนกับที่ถูกส่งไปยังประเทศอื่น ๆ ในอเมริกากลาง

สถานีข่าว RT ของรัสเซียใช้ประเด็นความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับที่มาและผู้ผลิตอาวุธในคลิปวิดีโอดังกล่าวเพื่อสนับสนุนประเด็นที่เครมลินใช้โจมตีสหรัฐฯ ว่า “การที่ไม่มีการควบคุมใด ๆ” สำหรับการนำส่งอาวุธของอเมริกาไปยังยูเครน “จะนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่อาวุธเหล่านั้นตกไปอยู่ในมือของกลุ่มอาชญากรมาเฟีย”

แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลสหรัฐฯ จัดทำรายละเอียด “ขั้นตอนรูปธรรม” สำหรับการ “ต่อต้านภัยคุกคามของโอกาสจากการหันเหของการนำส่งอาวุธในยุโรปตะวันออก” ที่ออกมาค้านคำกล่าวอ้างของ RT แล้ว

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมาธิการยุโรปรายหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า สหภาพยุโรปไม่ตรวจพบ “การลักลอบอาวุธปืน” ขนานใหญ่ออกจากยูเครนเลย

ถึงกระนั้น ขณะที่ การนำส่งความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ คือปัจจัยสำคัญในการช่วยยูเครนป้องกันการรุกรานของรัสเซีย เจ้าหน้าที่กรุงเคียฟเคยแสดงความไม่สบายใจและกังวลเกี่ยวกับความน่าจะเป็นที่สหรัฐฯ จะระงับการส่งความช่วยเหลือให้ หากเกิดเหตุที่ว่า อาวุธเหล่านั้นหลุดไปอยู่ในตลาดมืดขึ้นมา

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ

XS
SM
MD
LG