เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศว่า จะส่งระเบิดลูกปราย หรือ ระเบิดพวง ให้กับยูเครน ภายใต้งบประมาณความช่วยเหลือด้านความมั่นคงมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ที่กรุงวอชิงตันจัดสรรมาเมื่อเร็ว ๆ นี้
อาวุธประเภทดังกล่าวซึ่งมีจุดประสงค์ในการใช้งานสองทาง กล่าวคือ ทิ้งลงจากเครื่องบินหรือยิงจากภาคพื้นดิน ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับเป้าหมายเป็นวงกว้าง โดยรุ่นที่สหรัฐฯ เตรียมส่งให้ยูเครนนั้นจะถูกบรรจุอยู่ในปลอกกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม.
ทั้งนี้ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง ปี 2008 (International Convention on Cluster Munitions) มีเนื้อหาที่ห้ามประเทศต่าง ๆ ที่ลงนามรับรองไม่ให้ใช้อาวุธประเภทนี้ เนื่องจากโอกาสของความเสี่ยงที่จะเป็นภัยต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้
องค์กรฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ระบุในรายงานที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ว่า ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างใช้ระเบิดลูกปรายในการรบระหว่างกันมาตลอด และยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่ให้ส่งอาวุธประเภทนี้ไปยูเครนอีก โดยกล่าวว่า ระเบิดดังกล่าวได้คร่าชีวิตพลเรือนไปมากมายแล้ว นับตั้งแต่เครมลินเปิดฉากทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านของตนเมื่อปี ค.ศ. 2014
พันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ให้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวต่างออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจของกรุงวอชิงตันที่จะส่งระเบิดลูกปรายให้กรุงเคียฟแล้ว ขณะที่ สมาชิกพรรคเดโมแครตและสื่อหัวก้าวหน้าบางแห่งก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้เช่นกัน
ส่วนรัสเซียเอง ที่ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาฯ นี้ ก็ออกมาแสดงท่าทีเกรี้ยวกราดใส่สหรัฐฯ เช่นกัน
สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ ออกมาให้ความเห็นผ่านแพลตฟอร์มเทเลแกรมว่า "เราจดจำคำแถลงของ จอห์น เคอร์บี ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ของ(สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ) เกี่ยวกับการจัดส่งระเบิดลูกปรายให้กับยูเครนไว้แล้ว (โดย)เจ้าหน้าที่ [เคอร์บี] ยอมรับโดยพฤตินัยว่า สหรัฐฯ ได้ก่ออาชญากรรมสงครามในช่วงที่เกิดความขัดแย้งในยูเครนแล้ว"
นี่เป็นความเท็จ
ในเรื่องนี้ สถานทูตรัสเซียอ้างคำพูดของเคอร์บีมาอย่างผิด ๆ และนำคำพูดที่โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ไม่เคยกล่าว มาขยายความแผนงานข่าวปลอมของตนเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ในยูเครน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เคอร์บี กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการ This Week ของสถานีข่าวเอบีซี (ABC) ไว้ดังนี้:
"ผมคิดว่า เราต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า มีพลเรือนที่ถูกสังหารและจะถูกสังหารเพิ่มขึ้นด้วยน้ำมือของกองกำลังรัสเซีย – ไม่ว่าจะด้วยระเบิดลูกปราย โดรน การโจมตีด้วยขีปนาวุธ หรือแม้แต่การโจมตีซึ่ง ๆ หน้า – มากกว่าที่จะได้รับบาดเจ็บจากการใช้ระเบิดลูกปรายเหล่านี้ที่ถูกยิงเข้าใส่ฐานที่มั่นของรัสเซียภายในอาณาเขตของยูเครน"
นอกจากนั้น เคอร์บียังบอกกับสถานีข่าวเอบีซีด้วยว่า “เราใส่ใจอย่างมากต่อความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียชีวิตของพลเรือนและการที่พลเรือนหรือเด็ก ๆ ไปหยิบจับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ระเบิดแล้วได้รับบาดเจ็บขึ้นมา ... แน่นอน เราใส่ใจเรื่องนี้อยู่ และเราก็จะเริ่มให้ความสำคัญต่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในยูเครนแล้ว”
โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในกรุงวอชิงตันต่างเน้นย้ำว่า อาวุธต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ จะส่งให้กับยูเครนนั้นมีอัตราของการระเบิดล่าช้าหรือการไม่ระเบิดของตัวอาวุธในระดับที่ต่ำ
ส่วนเพนตากอนก็กล่าวว่า “อาวุธที่ส่งไปให้ใหม่นั้น” จะเปิดทางให้ “ยูเครนได้พุ่งเป้าไปที่ทหารและยุทโธปกรณ์ของรัสเซียที่ตั้งมั่นเป็นแนวกว้างได้”
ในเรื่องนี้ ทั้งเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษารัฐบาลยูเครนต่างออกมาแสดงความยินดีต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ กันถ้วนหน้า ขณะที่ มีไคโล โพลโดยัก ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ก็ออกมาโต้กลับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ยูเครนที่เดินหน้าร้องขออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้เพื่อปกป้องตนเองจากสิ่งที่เรียกว่าเป็น “สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันโหดเหี้ยม”
โอเลกซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน กล่าวว่า กองกำลังยูเครนจะไม่ใช่ระเบิดลูกปรายในพื้นที่เมืองต่าง ๆ และจะใช้อาวุธดังกล่าว “เพื่อฝ่าแนวป้องกันของศัตรู” เท่านั้น
สำหรับการทำงานของระเบิดพวงนั้น โดยปกติแล้ว ลูกระเบิดขนาดเล็กที่อยู่ภายในนั้นได้รับการออกแบบมาให้ระเบิดเมื่อถึงพื้น หรือ เมื่อไปกระทบกับสิ่งอื่น แต่บางครั้งลูกระเบิดเล็ก ๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้ทำงานตามปกติ ซึ่งก็กลายมาเป็นภัยคุกคามต่อพลเรือน อย่างเช่นในกรณีลูกระเบิดปรายที่ด้านซึ่งสหรัฐฯ ทิ้งลงใส่กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ในช่วงสงครามเวียดนาม ยังคงเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตและทำให้ผู้คนพิการต่อเนื่องมานานนับทศวรรษหลังสงครามสิ้นสุดลง
สหรัฐฯ ยังเคยใช้ระเบิดลูกปรายในสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักด้วย
ภัยคุกคามต่อชีวิตพลเรือนจากระเบิดประเภทนี้ทำให้ 123 ประเทศและรัฐ ตัดสินใจร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง ซึ่งมีเนื้อหาสั่งห้ามผู้ลงนามทั้งหลายไม่ให้ใช้งาน พัฒนา ผลิต จัดหา สั่งสม เก็บรักษาหรือถ่ายโอนระเบิดพวงเป็นอันขาด
ขณะเดียวกัน สื่อทางการรัสเซียก็ได้รายงานเกี่ยวเสียงสะท้อนความกังวลประเด็นนี้ในโลกตะวันตก โดยไม่พูดถึงกรณีที่รัสเซียเองก็ใช้ระเบิดลูกปรายมาตั้งแต่เริ่มรุกรานยูเครนในปี ค.ศ. 2014 เลย
เมื่อปี ค.ศ. 2016 เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ออกมาแจกแจงเหตุผลของการใช้ระเบิดประเภทนี้ว่าเป็น “วิธีการในการทำสงครามที่ถูกกฎหมาย”
นอกจากในยูเครนแล้ว รัสเซียก็เคยใช้ระเบิดลูกปรายในช่วงการทำสงครามในเชชเนีย จอร์เจียและซีเรีย ด้วย โดยในแต่ละครั้งนั้น เป็นการโจมตีเข้าใส่เป้าหมายพลเรือนโดยตรงด้วย
สื่อรัฐบาลรัสเซียนั้นรายงานด้วยว่า สหรัฐฯ และยูเครนไม่ได้เป็นประเทศผู้ลงนามรับรองอนุสัญญาดังกล่าวที่มีการจัดทำขึ้นในปี ค.ศ. 2008 แต่ก็จงใจไม่พูดถึงความจริงที่ว่า รัสเซียเองก็ไม่ได้เป็นประเทศผู้ลงนามเช่นกัน
และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ขู่ว่าจะใช้ระเบิดลูกปรายกับยูเครน ถ้ากรุงวอชิงตันส่งมอบอาวุธแบบนี้ให้กรุงเคียฟ และอ้างโดยไม่เป็นความจริงว่า รัสเซียไม่เคยใช้อาวุธประเภทนี้มาก่อน
แต่รายงานของฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ชี้ว่า รัสเซียได้ใช้ระเบิดลูกปรายไปทั่วยูเครน และ “คร่าชีวิตและทำให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บมากมาย” โดยรายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า ยูเครนเองก็ใช้ระเบิดพวงที่ทำให้พลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเหมือนกัน
หนึ่งในหลักฐานที่พิสูจน์ว่ามีการใช้อาวุธดังกล่าวในสงครามยูเครน-รัสเซีย ก็คือ ภาพถ่ายหลายภาพของ เอฟเกนี มาโลเล็ตกา ช่างภาพของสำนักข่าวเอพี ที่แสดงให้เห็นจรวดระเบิดลูกปรายของรัสเซียที่ใช้ยิงถล่มเมืองคาร์คิฟกองเรียงรายจนเต็มทุ่งแห่งหนึ่งในยูเครน
ดมีโทร ชูเบนโก โฆษกของสำนักงานอัยการเขตปกครองคาร์คิฟ บอกกับสำนักข่าวเอพี ว่า เศษระเบิดลูกปรายใน “สุสานขีปนาวุธ” คือ สิ่งที่ถูกใช้ในการโจมตี “พื้นที่ที่อยู่อาศัย” และเรียกอาวุธพวกนี้ว่าเป็น “หลักฐานที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะนำไปใช้พิจารณา” ด้วย
รายงานเชิงสืบสวนของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ยังระบุว่า พันเอกอเล็กซานเดอร์ ชูราฟลีออฟ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารรัสเซียที่นำทัพบุกคาร์คิฟ คือ “ผู้ที่กำกับดูแลหน้า(ประวัติศาสตร์)สงครามซีเรียที่โหดร้ายที่สุดหน้าหนึ่ง” ด้วยสถิติการใช้ระเบิดลูกปรายในพื้นที่พลเรือนที่พุ่งสูงอย่างมหาศาล
รายงานของฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ซึ่งออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2022 มีการระบุว่า รัสเซียได้ทำการโจมตีด้วยระเบิดลูกปรายเข้าใส่อย่างน้อย 10 เขตปกครองจากทั้งหมด 24 เขตปกครองของยูเครนไปแล้ว
เหตุการณ์ที่น่าจะได้ชื่อว่าเป็นที่โจษจันน่าอับอายที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ก็คือ กรณีเมื่อวันที่ 8 เมษายนของปีที่แล้ว ที่รัสเซียโจมตีสถานีรถไฟครามาทอสก์ด้วยขีปนาวุธวิถีโค้งติดหัวรบซึ่งมีระเบิดลูกปรายอยู่ภายใน โดยรายงานข่าวระบุว่า การโจมตีครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 63 คนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากมาย
องค์การสหประชาชาติ สื่อหลายแห่ง ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนจำนวนหนึ่ง และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์ต่าง ๆ ได้รวบรวมบันทึกหลักฐานการที่รัสเซียใช้ระเบิดลูกปรายในการโจมตีโดยไม่เลือกหน้าเข้าใส่ยูเครนไว้ด้วย
ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ