ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: รัสเซียสร้างข่าวเท็จเกี่ยวกับเหตุเขื่อนคาคอฟกาแตกจริงหรือ


Houses are seen underwater in the flooded village of Dnipryany, in Russian-occupied Ukraine, Wednesday, June 7, 2023, after the collapse of Kakhovka Dam. (AP Photo)
Houses are seen underwater in the flooded village of Dnipryany, in Russian-occupied Ukraine, Wednesday, June 7, 2023, after the collapse of Kakhovka Dam. (AP Photo)
วลาดิเมียร์ ปูติน

วลาดิเมียร์ ปูติน

ประธานาธิบดีรัสเซีย

"ภายใต้คำแนะนำของผู้ปกครองชาติตะวันตก ทางการเคียฟเดินหน้าวางเดิมพันอันตรายของการยกระดับการทำศึกสงคราม ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ การกระทำอันป่าเถื่อนที่ทำลายสถานีผลิตไฟฟ้ากำลังน้ำ คาคอฟสกายา..."

น่าจะเป็นความเท็จ

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับเขื่อนคาคอฟกา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกา ที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำดนิเปอร์ (หรือ ดนิโปร) ในพื้นที่เขตปกครองเคอร์ซอนของยูเครนที่รัสเซียควบคุมไว้อยู่

รอยแตกที่เขื่อนนี้ทำให้มวลน้ำปริมาณราว 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลเข้าท่วมพื้นที่เมืองและหมู่บ้านอย่างน้อย 80 แห่งของยูเครน และทำให้องค์การสหประชาชาติออกมาระบุว่า เหตุการณ์นี้ได้กลายมาเป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรมแล้วด้วย

ทั้งยูเครนและรัสเซียโทษกันและกัน ว่า ต่างเป็นต้นเหตุของภัยพิบัตินี้

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล คาร์เพนเตอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือ (Organization for Security and Cooperation) ในยุโรป แจ้งต่อที่ประชุมสภาในกรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ว่า การที่รัสเซีย “จงใจเพิกเฉยต่อชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน กลายมาเป็นตราเครื่องหมายของแผนการทางการทหารของรัสเซียไปแล้ว” โดยทูตคาร์เพนเตอร์ยังระบุว่า การทำให้เขื่อนแตกนี้เป็น “การกระทำอันนำมาซึ่งความหายนะของทางสิ่งแวดล้อมอย่างอุกอาจ ที่จะมีผลกระทบด้านมนุษยธรรมอันรุนแรง”

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัสเซียทั้งหลาย นับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไปถึงเจ้าหน้าที่ชั้นสูงด้านการทูตต่าง ๆ ออกมากล่าวอ้างความเท็จหลายอย่างที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเสียหายที่เขื่อนคาคอฟกา ด้วยการกล่าวโทษว่า ยูเครนคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้

ในบรรดาคำกล่าวอ้างที่เป็นเท็จนั้น มีอยู่ 2 ประเด็นที่มีการตรวจสอบแล้วว่า ไม่เป็นความจริง

คำกล่าวอ้างที่ 1

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ปธน.ปูติน บอกกับประธานาธิบดีเรจิบ เทยิบ เออร์โดวาน แห่งตุรกี ระหว่างสนทนาทางโทรศัพท์ ว่า ยูเครนเป็นผู้ระเบิดเขื่อนคาคอฟกา ตามคำสั่งของ “ผู้ปกครองชาติตะวันตก”:

"ภายใต้คำแนะนำของผู้ปกครองชาติตะวันตก ทางการเคียฟเดินหน้าวางเดิมพันอันตรายของการยกระดับการทำศึกสงคราม ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ การกระทำอันป่าเถื่อนที่ทำลายสถานีผลิตไฟฟ้ากำลังน้ำ คาคอฟสกายา..."

สำนักข่าว RIA Novosti ของรัสเซียรายงานคำกล่าวหาของปูตินออกมา และระบุเพิ่มด้วยว่า เขื่อนดังกล่าวแตกหลังถูกโจมตีด้วยสิ่งที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียเชื่อว่าเป็น ระบบยิงขีปนาวุธหลายลำกล้อง “โอลกา” ของยูเครน ซึ่งมีระบบกระสุนนำวิถี

คำกล่าวอ้างนี้ เป็นความเท็จ

ชาติตะวันตกต่างออกมาประณามเหตุการทำลายเขื่อนคาคอฟกา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่รัสเซียควบคุมไว้อย่างเบ็ดเสร็จมากว่า 15 เดือน และหลักฐานล่าสุดชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงสุดว่า รอยแตกที่ว่านั้นเกิดจากการระเบิดที่ใต้ดิน

สำนักข่าวเอพี รายงานเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ว่า คลิปวิดีโอจากกล้องติดโดรนที่บันทึกภาพบริเวณเขื่อนแห่งนี้ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ใด ๆ ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างของรัสเซียด้วย

เอพี รายงานว่า “พื้นที่ส่วนใหญ่ของตัวเขื่อนนั้นจมอยู่ใต้น้ำ แต่ส่วนต่าง ๆ ที่เป็นของตัวอาคารทั้งหลายซึ่งยังเห็นด้วยตาเปล่าที่เหนือผิวน้ำที่ไหลกรากนั้นไม่ปรากฏร่องรอยไหม้ หรือเศษรอยกระสุนใด ๆ ที่ควรจะมีเพราะการทิ้งระเบิดอย่างที่รัสเซียกล่าวหาว่า ยูเครนเป็นฝ่ายดำเนินการเลย”

และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นอร์เวย์เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวที่บันทึกได้โดยสถานีตรวจจับของตนที่อยู่ในประเทศโรมาเนีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “สัญญาณชัดเจนของการระเบิดที่เกิดขึ้นที่เขื่อนคาคอฟกา” ในช่วงรุ่งสางของวันที่ 6 มิถุนายน ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ก่อนหน้านั้น พาเวล ลูซิน นักวิชาการรับเชิญของคณะนิติศาสตร์และการทูต มหาวิทยาลัยทัฟท์ส (Tufts University) บอกกับหนังสือพิมพ์ เดอะ ไฟแนนเชียล ไทมส์ (The Financial Times) ว่า การก่อสร้างเขื่อนนี้ ซึ่งเป็น “เขื่อนดินที่ทำจากดินอัดแน่น นั้นหมายความว่า จะระเบิดได้ก็จากภายในเท่านั้น และจะไม่แสดงความเสียหายมากมายจากการโจมตีด้วยกระสุนปืนใหญ่ใด ๆ”

ทหารรัสเซียเข้ายึดโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นวันแรกของการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบของกรุงมอสโก และนับตั้งแต่นั้นมา รัสเซียก็ควบคุมพื้นที่โรงไฟฟ้านี้และเมืองโนวา คาคอฟกา ที่อยู่ใกล้เคียงไว้ตลอด

คำกล่าวอ้างที่ 2

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน เซอร์เกย์ เนคาเอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำเยอรมนี ระบุว่า ไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่า รัสเซียเป็นผู้ทำลายเขื่อนคาคอฟกา:

"เราได้เห็นคำแถลงของนักการเมืองเยอรมัน [และ] รายงานของสื่อต่าง ๆ ที่ชี้ว่า ความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ทำลายเขื่อนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟสกายานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นของรัสเซีย เรารู้สึกช็อคกับการคาดเดา ..."

คำแถลงที่ว่านี้ เป็นความเท็จ เพราะมีเหตุอันควรมากมายที่ทำให้เชื่อว่า รัสเซียเป็นผู้ระเบิดเขื่อนแห่งนี้เอง

สำนักข่าว เอ็นบีซี (NBC News) รายงานเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน โดยอ้าง “เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 2 รายและเจ้าหน้าที่ชาติตะวันตก 1 ราย” ว่า “รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้รับรายงานข่าวกรองที่ชี้ไปยังรัสเซียว่าเป็นผู้กระทำผิดที่ทำการโจมตีเขื่อนในยูเครน” และว่า “รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังทำการต่าง ๆ เพื่อปลดข้อมูลข่าวกรองบางส่วนจากชั้นความลับอยู่”

และในวันที่ 7 มิถุนายน โวโลดิเมียร์ ซัลโด ผู้ว่าการเขตปกครองเคอร์ซอนที่รัสเซียเป็นผู้แต่งตั้ง กล่าวว่า การทำลายเขื่อนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อกองกำลังทหารรัสเซียที่ควบคุมพื้นที่ภาคใต้ของเขตปกครองนี้อยู่:

"จากมุมมองด้านการทหาร สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยุทธวิธีปฏิบัติการนั้นเริ่มมาเข้าข้างฝ่ายกองทัพรัสเซียแล้ว"

ก่อนหน้านี้ Institute for the Study of War (ISW) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและหน่วยงานคลังสมอง ที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุในรายงานเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2022 ว่า รัสเซียนั้นมี “ผลประโยชน์ที่ชัดเจนกว่าและมากล้นกว่า หากจะทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างของดนิโปร แม้ว่านั่นจะทำให้เกิดความเสียหายต่อที่มั่นการต้านรับและกองกำลังที่ตนเตรียมการไว้มากกว่าต่อฝ่ายยูเครน”

และเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ISW เพิ่งระบุในรายงานว่า:

รัสเซียอาจใช้การสร้างน้ำท่วมเพื่อขยายพื้นที่แม่น้ำดนิโปรและทำให้ความพยายามโจมตีโต้กลับของฝ่ายยูเครนในพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำซึ่งถือเป็นความท้าทายหนักอยู่แล้ว มีความยุ่งยากขึ้นไปอีก แหล่งข่าวในรัสเซียได้แสดงความวิตกกังวลอย่างชัดเจนและอย่างหนักเกี่ยวกับความน่าจะเป็นว่า ยูเครนได้เตรียมตัวข้ามแม่น้ำมาและโจมตีโต้กลับทางฝั่งตะวันออกของเคอร์ซอน โอบลาสต์ด้วย

“รัสเซียอาจใช้การสร้างน้ำท่วมเพื่อขยายพื้นที่แม่น้ำดนิโปรและทำให้ความพยายามโจมตีโต้กลับของฝ่ายยูเครนในพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำซึ่งถือเป็นความท้าทายหนักอยู่แล้ว มีความยุ่งยากขึ้นไปอีก แหล่งข่าวในรัสเซียได้แสดงความวิตกกังวลอย่างชัดเจนและอย่างหนักเกี่ยวกับความน่าจะเป็นว่า ยูเครนได้เตรียมตัวข้ามแม่น้ำมาและโจมตีโต้กลับทางฝั่งตะวันออกของเคอร์ซอน โอบลาสต์ด้วย”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ปี ค.ศ. 2022 ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า กองทหารรัสเซียวางทุ่นระเบิดที่เขื่อนคาคอฟกาและโรงไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว

เซเลนสกี ระบุด้วยว่า “รัสเซียจงใจสร้างเหตุของการเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ของยูเครน”

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเคยมีประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้มาก่อนด้วย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กองทัพโซเวียตใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันนี้มาแล้ว โดยในระหว่างที่ถอยทัพออกจากทางตะวันออกของยูเครน กองกำลังโซเวียตระเบิดเขื่อนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำดนิโปจนแตกเป็นช่องขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมหนักและมีพลเรือนเสียชีวิตหลายพันหลายหมื่นคน

สื่อ Radio Free Europe/Radio Liberty ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงาน US Agency for Global Media (USAGM) เช่นเดียวกับ วีโอเอ รายงานคำพูดของผู้รอดชีวิตรายหนึ่งที่ระบุว่า “ตลอดทั้งคืน มีแต่เสียงร้องขอความช่วยเหลือ พวกวัวก็พยายามว่ายน้ำไปและร้องไป ขณะที่ ผู้คนก็ปีนขึ้นต้นไม้กัน ไม่มีใครมาช่วยประชาชนเลย”

  • ที่มา : ฝ่าย Polygraph วีโอเอ

XS
SM
MD
LG