เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดมิทรี โรโกซิน อดีตหัวหน้าหน่วยงาน ‘รอสคอสมอส’ (Roscosmos) ซึ่งดูแลกิจการอวกาศของรัสเซีย ออกมารับรองทฤษฎีสมคบคิด “เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการไปดวงจันทร์ของสหรัฐฯ” ผ่านโพสต์ทางแอปเทเลแกรมอีกครั้ง
โรโกซิน กล่าวว่า เขาใช้เวลาหลายปี แต่ไม่สามารถหาหลักฐานว่า สหรัฐฯ เคยส่งยานอวกาศไปจอดบนดวงจันทร์ได้เลย โดยระบุว่า “ผมหาความชัดเจนไม่ได้เลยว่า ด้วยระดับพัฒนาการด้านเทคโนโลยี [ในคริสต์ทศวรรษที่ 1960] สหรัฐฯ สามารถทำในสิ่งที่แม้แต่ปัจจุบันยังทำไม่ได้ ได้อย่างไร?”
สถานีโทรทัศน์ RT ของรัฐบาลรัสเซีย รายงานความเห็นของโรโกซินดังนี้:
“ไม่มีหลักฐาน [ว่า] สหรัฐฯ เคยไปดวงจันทร์ – อดีตหัวหน้างานด้านอวกาศของรัสเซีย [กล่าว]”
นั่นเป็นความเท็จ
สหรัฐฯ ดำเนินภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ถึง 6 ครั้งในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1969 ถึง 1972 โดยมีนักบินอวกาศ 24 คนเข้าร่วมเดินทางไปด้วย และ 12 คนในนั้นได้ลงไปเดินบนดวงจันทร์ด้วย
ยานอพอลโล 11 คือ ยานอวกาศอเมริกันลำแรกที่พามนุษย์ไปถึงดวงจันทร์ โดยในภารกิจที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1969 นั้น นักบินอวกาศได้นำแผงกระจกสะท้อนเลเซอร์ หรือ retroreflector ติดไปด้วย ก่อนที่ทีมนักบินอวกาศของภารกิจยานอพอลโลครั้งต่อมายังได้นำอุปกรณ์นี้ไปติดตั้งบนดวงจันทร์ด้วย
นักวิทยาศาสตร์สามารถยิงเลเซอร์ไปยังแผนกระจกที่ว่ายังวัดคำนวณระยะเวลาที่ลำแสงใช้เดินทางไปกลับจากดวงจันทร์ โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า กล่าวว่า ข้อมูลนี้นำเสนอ “เกณฑ์การวัดที่แม่นยำของวงโคจรและรูปร่างของดวงจันทร์ ซึ่งรวมถึงด้านที่ว่า [ดวงจันทร์นั้น] เปลี่ยนแปลงไปอย่างเล็กน้อยเพราะแรงดึงดูดจากโลกอย่างไรบ้าง”
นาซ่า กล่าวว่า “งานวิจัยกับกระจกสะท้อนเลเซอร์จากดวงจันทร์ในช่วงทำภารกิจอพอลโลยังคงดำเนินอยู่จนถึงทุกวันนี้”
นักบินอวกาศยังติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว (seismometer) ไว้บนพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อตรวจจับ “แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์” (moonquake) และ “นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างภายในของดวงจันทร์” ด้วย
ทั้งนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ล้ำสมัยขึ้นบนดวงจันทร์ที่นำส่งข้อมูลต่าง ๆ กลับมายังโลกจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1977 ด้วย
นักบินอวกาศยังนำหลักฐานเชิงกายภาพเป็นจำนวน 382 กิโลกรัมจากดวงจันทร์กลับมายังโลกด้วย โดยหลักฐานที่ว่านั้นคือ ก้อนหิน หินกรวด ทราย ฝุ่น และตัวอย่างแกนดวงจันทร์
ตัวอย่างทั้งหลายที่นักบินอวกาศรวบรวมมาทั้งหมด 2,169 รายการนั้นมีการจัดเก็บบันทึกข้อมูลลงในบัญชีรายชื่อเรียบร้อยแล้ว และตัวอย่างหลายรายการยังถูกนำไปตรวจสอบโดยนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกด้วย ขณะที่ ตัวอย่างบางรายการนั้นเพิ่งถูก ‘เปิดผนึก’ นำออกมาให้มีการตรวจสอบเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง
ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2008 ยานอวกาศที่องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency) ส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ถ่ายภาพของร่องรอย “วงแหวนรัศมี” (halo) ที่ส่วนของยานอพอลโล 15 ซึ่งแล่นลงบนดวงจันทร์ทิ้งไว้ ขณะลงจอดในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1971
ภาพถ่าย 3มิติ ที่ได้จากข้อมูลซึ่งยานอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ของญี่ปุ่น “แสดงให้เห็นภูมิทัศน์ที่ดูคุ้นเคย” คล้ายกับภาพที่นักบินอวกาศยานอพอลโล 15 รายหนึ่งเคยถ่ายไว้
และในปีถัดมา ยานสำรวจดวงจันทร์ Lunar Reconnaissance Orbiter ของนาซ่า ทำแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์ขึ้นมา และยังได้ถ่ายภาพบริเวณที่ยานอพอลโล 11 14 15 16 และ 17 เคยลงจอดมาร่วมใช้ในกระบวนการนี้ด้วย
และในบรรดาภาพถ่ายเหล่านั้น มีภาพที่แสดงให้เห็นรอยเท้าของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ด้วย
ภาพถ่ายที่นาซ่าเปิดเผยออกมาเพิ่มในปี ค.ศ. 2011 ยังแสดงให้เห็นร่องรอยการสำรวจที่นักบินอวกาศทิ้งไว้ระหว่างออกเดินสำรวจดวงจันทร์ รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งไว้บนดวงจันทร์ เช่น ฐานของยานที่แล่นลงบนดวงจันทร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ภารกิจอพอลโลนั้นยังได้ถ่ายภาพไว้หลายพันภาพ และบันทึกคลิปวิดีโอและคลิปเสียงที่มีความยาวรวมกันหลายพันชั่วโมงด้วย
นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า คนจำนวนมหาศาลที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ คือ ปัจจัยที่ทำให้การแต่งเรื่องนี้ขึ้นมาหลอกลวงผู้คนดูเป็นไปไม่ได้เลย
ริค ไฟน์เบิร์ก เจ้าหน้าที่ด้านสื่อของ American Astronomical Society บอกกับ History.com ในปี ค.ศ. 2019 ว่า “มีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ผู้ชำนาญด้านเทคโนโลยี ช่างเครื่อง ช่างไฟ ถึงราว 400,000 คนที่ร่วมทำงานในโครงการอพอลโล” และว่า “ถ้าหากในความเป็นจริงนั้น แรงจูงใจหลักของการจะเชื่อเรื่องหลอกลวงของภารกิจดวงจันทร์ก็คือ การที่คุณไม่เชื่อใจรัฐบาล คุณไม่เชื่อใจในผู้นำของเรา คุณไม่เชื่อใจทางการ แล้วคุณคิดว่า คนถึง 400,000 คนจะปิดปากเงียบมาถึง 50 ปีได้อย่างไร มันเชื่อได้ยากมากเลย”
ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการลงจอดบนดวงจันทร์นั้นไม่ได้เป็นประเด็นที่ได้รับความนิยมนักในยุคสหภาพโซเวียต ในช่วงเวลาที่มีการแข่งขันพัฒนาโครงการด้านอวกาศ (space race) หรือการแข่งขันระหว่างสองคู่อริในสงครามเย็นไปให้ถึงจุดที่ตนมีศักยภาพด้านการพัฒนายานอวกาศที่เหนือกว่าอีกฝ่ายให้ได้
หนังสือพิมพ์ Guardian ของอังกฤษทำรายงานข่าวเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดการส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 2019 ที่ระบุว่า โซเวียตนั้น “มีหนทางที่จะเปิดโปงอเมริกาในช่วงเวลานั้นได้” เพราะพวกเขา “แอบฟังอยู่”
แต่สิ่งที่ดูย้อนแย้งยิ่งกว่าก็คือ แทนที่จะปั่นข่าวทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับยานสหรัฐฯ บนดวงจันทร์ สหภาพโซเวียตกลับมัวแต่ปฏิเสธกรณีที่โครงการส่งยานอวกาศไปยังดวงจันทร์ของตนเองล้มเหลว
อย่างไรก็ดี ความรู้สึกของประชาชนในรัสเซียเปลี่ยนไป หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
การสำรวจความคิดเห็นเมื่อปี ค.ศ. 2020 โดยหน่วยงาน VTSIOM ของรัฐบาลเครมลิน พบว่า ชาวรัสเซียเกือบครึ่งหนึ่งเชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐฯ สร้างเรื่องการส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 1969
แต่ชาวรัสเซียผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วคนหนึ่งไม่เคยยอมรับทฤษฎีสมคบคิดนี้เลย และเขาก็คือ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน นั่นเอง
ในระหว่างการร่วมสัมมนาของค่ายเยาวชนเซลิเกอร์ (Seliger) ใน ปี ค.ศ. 2001 มีผู้ถามปธน.ปูตินว่า เขาเชื่อว่า คนอเมริกันได้ไปดวงจันทร์จริงหรือไม่
ปูติน ตอบคำถามนี้ว่า มันเกือบจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะ “ปลอมแปลง” เหตุการณ์เช่นนั้น
ผู้นำรัสเซียยังเปรียบเทียบทฤษฎีสมคบคิดเรื่องการไปดวงจันทร์กับการกล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ว่า สหรัฐฯ เป็นผู้ก่อเหตุการณ์ก่อการร้าย 11 กันยายน ปี ค.ศ. 2011 ด้วย
ปูติน กล่าวว่า คำกล่าวอ้างเหล่านั้น “เป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี”
- ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ