ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ส่งสัญญาณไปยังชาติตะวันตกในวันพุธว่า รัสเซียพร้อมสำหรับสงครามนิวเคลียร์ และว่าหากสหรัฐฯ ส่งทหารไปช่วยยูเครน จะถือว่าเป็นการยกระดับความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้นำรัสเซีย กล่าวก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 15-17 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าจะเป็นการหยิบยื่นอำนาจให้กับเขาต่อเนื่องอีก 6 ปีจากนี้ โดยบอกว่าสถานการณ์สงครามนิวเคลียร์ไม่ได้ “เร่งรีบขึ้น” และไม่เห็นความจำเป็นในการใช้อาวุธนิวเคลียร์กับยูเครนเลย
ปูตินกล่าวว่า “ผมไม่คิดว่าทุกอย่างจะต้องเร่งเร้าให้เกิด(การเผชิญหน้าด้านนิวเคลียร์)แต่เราก็พร้อมสำหรับสิ่งนี้”
ปูติน ในวัย 71 ปี ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์รอสสิยา-1 และอาร์ไอเอ เมื่อถูกถามว่ารัสเซียพร้อมสำหรับสงครามนิวเคลียร์หรือไม่ โดยกล่าวว่า “จากมุมมองด้านการทหาร เราพร้อม แน่นอน เราพร้อมแล้ว”
ผู้นำรัฐบาลทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า “(ในสหรัฐอเมริกา) มีผู้เชี่ยวชาญเพียงพอในด้านความสัมพันธ์รัสเซีย-อเมริกัน และมีความยับยั้งชั่งใจทางยุทธศาสตร์” อีกทั้งสหรัฐฯ เข้าใจดีว่าหากส่งทหารอเมริกันไปยังดินแดนรัสเซีย – หรือไปยังยูเครน – รัสเซียจะถือว่าเป็นการแทรกแซง โดยที่ผ่านมา รัฐบาลมอสโกอ้างว่าได้ผนวก 4 เขตปกครองของยูเครนไปและระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างสมบูรณ์แล้ว
คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่าสหรัฐฯ ไม่มีแผนที่จะส่งทหารไปยังยูเครน แต่ได้เน้นถึงความจำเป็นในการอนุมัติร่างงบประมาณความช่วยเหลือ เพื่อให้แน่ใจว่าทหารยูเครนจะได้รับอาวุธที่ต้องการในการเดินหน้าสงครามที่ดำเนินมาถึงปีที่ 3 แล้ว
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่ได้ตอบโต้ความเห็นของปธน.ปูติน แต่ทำเนียบขาวระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่าไม่มีสัญญาณที่รัสเซียจะเตรียมการใช้อาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด
มิไคโล โพลโดยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน กล่าวกับรอยเตอร์ว่าเขามองว่าถ้อยแถลงเตือนเรื่องนิวเคลียร์ของปูตินเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ออกแบบมาเพื่อยั่วยุชาติตะวันตก โดยบอกว่า “เมื่อตระหนักว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ผิด ปูตินจึงเดินหน้าใช้วาทศิลป์นิวเคลียร์สุดคลาสสิคต่อไป ด้วยความหวังเก่า ๆ แบบโซเวียตที่ว่า 'จงหวาดกลัวแล้วล่าถอยไป!'” และเชื่อว่าการกล่าวเช่นนั้นสะท้อนว่าปูตินกลัวที่จะพ่ายแพ้ในสงคราม
ทั้งนี้ สงครามยูเครนได้นำไปสู่วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกและชาติตะวันตกที่ดิ่งเหวที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตคิวบาเมื่อปี 1962 และที่ผ่านมาปูตินได้เตือนอยู่บ่อยครั้งถึงความเสี่ยงด้านสงครามนิวเคลียร์ แต่ก็ย้ำมาตลอดเช่นกันว่าไม่คิดว่ามีความจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์กับยูเครน
- ที่มา: รอยเตอร์