เสียงประณามจากโลกตะวันตกสืบเนื่องจากกรณีการเสียชีวิตของ อเล็กเซ นาวาลนี ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกในขณะนี้ แต่ทางประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ยังคงนิ่งเฉยและไม่ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการตายของผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกรุงมอสโก
ขณะเดียวกัน ทางการรัสเซียจับกุมประชาชนกว่า 400 คนที่ร่วมแสดงความไว้อาลัยต่อการจากไปของนักเคลื่อนไหวต่อต้านปธน.ปูติน ผู้นี้ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อ้างอิงจากรายงานของกลุ่ม OVD-Info
สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร กำลังพิจารณาใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจชุดใหม่ต่อรัสเซียสืบเนื่องจากการเสียชีวิตของนาวาลนี ในขณะที่ปูตินกำลังเตรียมการขยายเวลาการอยู่ในตำแหน่งออกไปอีกหกปีหลังการเลือกตั้งในเดือนหน้า ท่ามกลางการปราบปรามของตำรวจรัสเซียต่อผู้ประท้วงและผู้เห็นต่างทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างสงสัยว่า มาตรการลงโทษของชาติตะวันตกจะสามารถทำอะไรได้มากแค่ไหนในการยับยั้งรัสเซียและประธานาธิบดีปูติน เพราะที่ผ่านมา มาตรการลงโทษหลายชุดที่นำมาใช้ก็ไม่ได้มีผลมากนัก
มาร์ก กาเลออตติ แห่งบริษัทที่ปรึกษา Mayak Intelligence ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า แทบไม่มีช่องว่างเหลืออีกแล้วสำหรับมาตรการลงโทษเพิ่มเติมต่อรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกลงโทษจากชาติตะวันตกมากที่สุดในโลก พร้อมชี้ว่า การตายของนาวาลนีคือส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของปูตินที่ต้องการเปลี่ยนจาก "ลัทธิอำนาจนิยมผสมผสาน" ไปเป็น "ระบอบเผด็จการของอันธพาลที่เหี้ยมโหด"
นักวิชาการผู้นี้เชื่อว่า ประเทศตะวันตกควรหันไปเน้นที่การทำงานกับพันธมิตรของนาวาลนีมากกว่า รวมทั้งช่วยเหลือให้ประชาชนรัสเซียสามารถเข้าถึงช่องทางข่าวสารที่สามารถต่อสู้กับโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียได้
รัสเซียประกาศการเสียชีวิตของนาวาลนีเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ที่เรือนจำ Polar Wolf เป็นหนึ่งในเรือนจำที่มีความเข้มงวดสูงสุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะเหนืออาร์กติกเซอร์เคิล ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่เรือนจำรัสเซีย
แถลงการณ์ของเรือนจำรัฐบาลกลางในเขตปกครองยามาโล-เนเนตส์ ของรัสเซีย ระบุว่า นาวาลนีรู้สึกไม่สบายหลังจากเดินอยู่ในบริเวณเรือนจำ IK-3 ทางตอนเหนือของอาร์กติกเซอร์เคิล ในเขตคาร์พ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกเมืองหลวงไปราว 1,900 กิโลเมตร ก่อนจะหมดสติไปแทบจะทันที และว่าอยู่ระหว่างการหาสาเหตุการเสียชีวิตของเขา
ข่าวการเสียชีวิตของนาวาลนี เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้งรัสเซีย ที่จะเปิดทางให้ประธานาธิบดีปูตินได้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีก 6 ปี ซึ่งเรียกเสียงวิจารณ์และความไม่พอใจในตัวผู้นำรัสเซียรายนี้ที่เดินหน้าจัดการผู้เห็นต่างทางการเมืองถึงประตูบ้าน
ไนเจล กูลด์-เดวีส์ อดีตทูตอังกฤษประจำเบลารุส และนักวิชาการอาวุโสด้านรัสเซียและยูเรเซียที่สถาบัน International Institute for Strategic Studies ที่กรุงลอนดอน กล่าวว่า การตายของนาวาลนีแสดงให้เห็นถึง "ความโหดเหี้ยมอำมหิตของปูติน และการดูแคลนความเห็นจากชาติตะวันตกและนานาประเทศ"
กูลด์-เดวีส์ ชี้ว่า เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า "ปูตินมองนาวาลนีว่าเป็นภัยคุกคามมากแค่ไหน" และเขาสามารถส่งเสียงออกมาได้แม้ตัวเขาจะอยู่ภายในเรือนจำก็ตาม
นักวิชาการผู้นี้เชื่อว่า การเสียชีวิตของนาวาลนีจะเป็น "สัญญาณเตือน" ไปถึงบรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกันในรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ต่อต้านการส่งความช่วยเหลือให้แก่ยูเครน และยังช่วยกระตุ้นให้สมาชิกขององค์การนาโต้เพิ่มความช่วยเหลือให้แก่กรุงเคียฟเช่นกัน
นาวาลนี เป็นที่รู้จักมากว่าทศวรรษจากการเขียนบทความในบล็อก ในสิ่งที่เขาระบุว่าเป็นการคอร์รัปชันและความมั่งคั่งของบรรดาชนชั้นนำรัสเซีย เขารอดชีวิตจากการถูกวางยาพิษในไซบีเรียเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 ซึ่งรัฐบาลรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายพยายามสังหารเขา
นาวาลนีถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุกเมื่อเดือนมกราคมปี 2021 ที่สนามบินในกรุงมอสโก หลังจากเดินทางกลับจากการรักษาตัวที่เยอรมนี เขาถูกตัดสินจำคุกถึง 3 ครั้ง ซึ่งเขาปฏิเสธข้อกล่าวหามาตลอดและว่าเป็นคำตัดสินที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก่อนจะถูกย้ายมาอยู่ในเรือนจำ Polar Wolf ที่มีความเข้มงวดสูงสุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย ที่มีนักโทษส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ต้องโทษอาชญากรรมร้ายแรง และสภาพอากาศของเรือนจำที่เลวร้ายในฤดูหนาว โดยที่ทนายความของนาวาลนีระบุว่าเขาต้องรับโทษจำคุกรวมทั้งสิ้นมากกว่า 30 ปี
รัฐบาลรัสเซียระบุให้นาวาลนีและผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่มีความเชื่อมโยงกับสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ที่รัสเซียระบุว่ามีเป้าหมายในการบ่อนทำลายเสถียรภาพรัสเซีย ซึ่งนาวาลนี ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาจากความผิดที่เจ้าตัวระบุว่า เป็นข้อกล่าวหาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองทั้งสิ้น และกล่าวว่าการจับกุมคุมขังเขาเป็นเพราะเขาถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองของรัสเซีย
- ที่มา: เอพี