ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ในการประชุมสุดยอดที่ทำเนียบขาวในวันที่ 11 เมษายนนี้ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการประชุมสุดยอดไตรภาคีระหว่างผู้นำรัฐบาลกรุงวอชิงตันและผู้นำของ 2 พันธมิตรในเอเชียเพื่อหารือแนวคิดริเริ่มต่าง ๆ ที่รวมถึงแผนงานในพื้นที่ทะเลจีนใต้เพื่อต้านอิทธิพลจีน
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรือตรวจการณ์ยามฝั่งของจีนใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงยิงเข้าใส่เรือฟิลิปปินส์ และทำการแล่นเรือที่เป็นอันตรายเฉียดกัน รวมทั้งมีการปะทะกันหลายครั้งด้วย
ด้วยเหตุนี้ กรณีความตึงเครียดรอบล่าสุดในทะเลจีนใต้ที่มีกรุงปักกิ่งและกรุงมะนิลาจึงเป็นหนึ่งในประเด็นหารือหลักที่ 3 ผู้นำจะถกกันในสัปดาห์นี้ระหว่างปธน.ไบเดนและนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่นและประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์
จอห์น เคอร์บี โฆษกด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า “ผู้นำทั้ง 3 มีเรื่องต้องคุยกันมากมาย และจะต้องมีการหยิบยกสถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ขึ้นมาแน่ ๆ นั่นเป็นประเด็นที่มีการนำมาหารือในการคุยโทรศัพท์ระหว่างท่านประธานาธิบดี(โจ ไบเดน)และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อไม่กี่วันก่อนด้วย”
ในการประชุมสุดยอดที่ทำเนียบขาวนี้ คาดว่า จะมีการเปิดตัวแนวความคิดริเริ่มชุดใหม่ที่น่าจะมีเรื่องของความร่วมมือทางทะเลในระดับไตรภาคีในทะเลจีนใต้ด้วย
โฮเซ่ มานูเอล โรมูอัลเดซ เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐฯ กล่าวว่า การออกลาดตระเวนร่วมคือสิ่งที่รัฐบาลกรุงมะนิลาได้หารือเชิงลึกกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ และตนคิดว่า ความร่วมมือนี้น่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว
อย่างไรก็ดี รัฐบาลกรุงวอชิงตันยังไม่ได้ยืนยันว่า จะมีการริเริ่มการออกลาดตระเวนร่วมทางทะเลภายใต้ความร่วมมือของพันธมิตร 3 ประเทศนี้จริง
แต่สิ่งที่ชัดเจนในเวลานี้คือ การดำเนินแผนงานความเป็นหุ้นส่วนทางการทหารอย่างแข็งขันระหว่างสหรัฐฯ กับสองประเทศพันธมิตรในเอเชียนี้เพื่อรับมือกับท่าทีรุกรานของกรุงปักกิ่งในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ปธน.ไบเดน เดินหน้าผลักดันอย่างต่อเนื่อง
การประชุมสุดยอดที่กรุงวอชิงตันครั้งนี้เป็นองค์ประกอบหลักของยุทธศาสตร์ “พหุภาคีกลุ่มเล็ก” (mini-lateral) ของไบเดนเพื่อขยายฐานกลุ่มพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย ซึ่งคล้าย ๆ กับการประชุมสุดยอดร่วมกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในปีที่แล้วที่มุ่งหารือวิธีจัดการกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ
ชิโฮโกะ โกโตะ ผู้อำนวยการโครงการอินโด-แปซิฟิกแห่ง Wilson Center ให้สัมภาษณ์กับ วีโอเอ ผ่านระบบ Skype และกล่าวว่า มีความคาดหวังสูงอย่างมากจากญี่ปุ่นที่เป็นจุดกำเนิดของเสถียรภาพและเป็นจุดศูนย์กลางของความสัมพันธ์ทั้งหลายเหล่านี้มายาวนาน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจตุภาคี (Quad) และหนึ่งในสองของแผนพันธมิตรสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ทั้งนี้ ทะเลจีนใต้คือ เส้นทางการเดินเรือที่มีความสำคัญมากสำหรับห่วงโซ่อุปทานโลกของญี่ปุ่น ดังนั้น การรักษาสันติภาพในพื้นที่ท้องน้ำนี้จึงเป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลกรุงโตเกียวพยายามคงไว้ให้ได้
และเมื่อฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในพันธมิตรสนธิสัญญาทางทหารของสหรัฐฯ เหตุปะทะกันระหว่างเรือยามฝั่งของกรุงมะนิลาและกรุงปักกิ่งที่รอบ ๆ หมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) จึงเป็นปัญหาสำหรับกรุงวอชิงตันเช่นกัน
เกรกอรี โพลลิง ผู้อำนวยการของศูนย์ Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS บอกกับ วีโอเอ ระหว่างการให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ Skype ว่า ขณะที่ สหรัฐฯ ให้ความสนใจต่อประเด็นไต้หวันอยู่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ส่อแววที่จะปะทุขึ้นมาได้เช่นกัน โดยแม้ความเสี่ยงที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะยกระดับขึ้นไปเป็นสงครามนั้นจะไม่ได้สูงมาก ก็ยังมีความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะความขัดแย้งทางทหารในระดับต่ำ ๆ อยู่ดี
รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสุดยอดไตรภาคีที่จะเกิดขึ้นนี้ถูกจัดขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะดึงญี่ปุ่นให้มามีบทบาททางการทหารในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยในเวลานี้ โตเกียวและมะนิลาก็กำลังอยู่ในระหว่างการหารือข้อตกลงที่มีชื่อว่า Reciprocal Access Agreement ที่จะนำไปสู่การยกระดับปฏิบัติการและการฝึกรบทางทหารร่วมกันต่อไปอยู่
นอกเหนือจากการประชุมร่วมกันของ 3 ผู้นำแล้ว ปธน.ไบเดน มีกำหนดหารือนอกรอบกับนายกฯ คิชิดะ และปธน.มาร์กอส จูเนียร์ อีกด้วย
- ที่มา: วีโอเอ