วิเคราะห์ซ้อมรบจีน-รัสเซีย: สัญญาณความร่วมมือแนบแน่นสองมหาอำนาจ

  • VOA

จีนและรัสเซียเผยแผนจัดการซ้อมรบร่วมกันในทะเลญี่ปุ่น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นสัญญาณล่าสุดของความร่วมมือทางทหารที่เพิ่มขึ้นของสองประเทศมหาอำนาจ และยังอาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต้านทานความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นของสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรในเอเชียด้วย

สตีเฟน นากีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาค แห่งมหาวิทยาลัยอินเตอร์เนชันแนล คริสเตียน (International Christian University) กล่าวกับวีโอเอว่า "รัสเซียกับจีนกำลังพยายามส่งสัญญาณไปถึงญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อความร่วมมือกับองค์การนาโต้ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนี้ และเพื่อพิสูจน์ว่าจีนและรัสเซียก็สามารถมีความสัมพันธ์กันในระดับเดียวกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้เช่นกัน"

นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า สำหรับรัสเซีย การซ้อมรบครั้งนี้คือการแสดงให้เห็นว่า รัสเซียยังคงมีศักยภาพในการจัดการความขัดแย้งต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันออก และสามารถทำงานร่วมกับจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเพื่อสร้างแรงกดดันต่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับญี่ปุ่น

ขณะที่จีนเองก็ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับรัสเซียในช่วงเวลาสำคัญนี้เช่นกัน

Your browser doesn’t support HTML5

ซ้อมรบจีน-รัสเซีย: สัญญาณความร่วมมือแนบแน่นสองมหาอำนาจ?

เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศโครงการซ้อมรบ “Northern/Interaction-2023” ซึ่งเริ่มขึ้นแล้วในทะเลญี่ปุ่น และจะมีต่อเนื่องจนถึงวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ค.นี้ โดยจะเป็นการซ้อมรบแบบใช้กระสุนปืนใหญ่จริง รวมถึงการซ้อมรบทางทะเลและต่อต้านเรือดำน้ำศัตรูด้วย

รัสเซียระบุว่า เป้าหมายของการซ้อมรบครั้งนี้คือการเพิ่มความร่วมมือทางทะเลระหว่างจีนกับรัสเซีย ตลอดจนการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในแถบเอเชียแปซิฟิก

ทั้งสองประเทศประกาศว่าจะมีเรือมากกว่า 10 ลำ และเครื่องบินทหารมากกว่า 30 ลำ เข้าร่วมในการซ้อมรบดังกล่าวด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่มีทั้งเกองทัพเรือและกองทัพอากาศของรัสเซียเข้ารว่มในการซ้อมรบที่จีนเป็นเจ้าภาพ อ้างอิงจากสื่อโกลบอลไทมส์ของทางการจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า "Northern/Interaction-2023" คือการซ้อมรบครั้งแรกในปีนี้ที่จัดขึ้นใกล้น่านน้ำของญี่ปุ่น แต่เมื่อปีที่แล้ว รัสเซียและจีนจัดการซ้อมรบร่วมกันอย่างน้อย 5 ครั้งในทะเลจีนตะวันออกและทะเลญี่ปุ่น ตามรายงานของ International Institute for Strategic Studies

Chinese navy officers of the People's Liberation Army stand guard near ships during a Russia-China naval drill at a port in Zhanjiang, Guangdong province, China, September 12, 2016. Picture taken September 12, 2016.

เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ - ร่วมกดดันพันธมิตรอเมริกา

การซ้อมรบร่วมกันระหว่างจีนกับรัสเซีย มีขึ้นขณะที่ความสัมพันธ์ทางทหารของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แข็งแกร่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และในสัปดาห์นี้ ชาติพันธมิตรสามประเทศนี้ได้ซ้อมรบไตรภาคีร่วมกันเพื่อป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธในทะเลญี่ปุ่น ในกรณีที่เกิดภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

ซ่ง จงปิง นักวิเคราะห์ด้านการทหารของจีน ให้ความเห็นว่า การซ้อมรบของจีนและรัสเซียคือ "การตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน" ต่อการซ้อมรบไตรภาคีดังกล่าว โดยมุ่งเน้นที่การฝึกป้องกันตนเองทางอากาศ การต่อต้านขีปนาวุธ ต่อต้านเรือรบและต่อต้านเรือดำน้ำศัตรู และคาดว่าจะมีการลาดตระเวนทั้งทางทะเลและอากาศร่วมกันหลังการซ้อมรบเสร็จสิ้นแล้วด้วย เพื่อแสดงถึงเสรีภาพในการเดินทางในบริเวณน่านน้ำแห่งนี้ที่ถือเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของจีนและรัสเซียไปยังแถบแปซิฟิกตะวันตก

ขณะที่ หลิน ยิง-ยู ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพจีนแห่งมหาวิทยาลัยทัมกัง (Tamkang University) ในไต้หวัน กล่าวกับวีโอเอว่า รัฐบาลจีนต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์ของรัสเซียในการป้องกันกองเรือของตนจากการโจมตีในสงครามยูเครน "เนื่องจากในช่วงสงคราม กองทัพยูเครนโจมตีด้วยขีปนาวุธและเครื่องบินรบใส่เรือของรัสเซีย กองทัพเรือรัสเซียจึงมีประสบการณ์ในการรับมือการโจมตีในลักษณะนั้น"

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ชี้ว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์คล้ายกันหากตัดสินใจโจมตีใส่ไต้หวัน ซึ่งไต้หวันก็จะใช้วิธีตอบโต้ด้วยขีปนาวุธและโดรนใส่เรือรบจีนเหมือนที่ยูเครนทำมาแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าจะมีการจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสงครามยูเครนระหว่างการซ้อมรบของจีนกับรัสเซียครั้งนี้ด้วย

Warships from various countries take part in multinational military exercise, “Aman” or peace exercise in the Arabian Sea near Karachi, Pakistan, Monday, Feb. 15, 2021.

'อินโด-แปซิฟิก' พื้นที่โชว์กำลังทางทหารชาติมหาอำนาจ

นักวิเคราะห์ หลิน ยิง-ยู เชื่อว่า จะมีการซ้อมรบระหว่างสองชาติมหาอำนาจในแถบเอเชียแปซิฟิกอีกหลายครั้งต่อจากนี้ เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์แบบ "ไร้ขีดจำกัด" ระหว่างกัน โดยเฉพาะในฝั่งของรัสเซียที่ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นทางการทูต และต้องการพึ่งพาจีนในฐานะพันธมิตรสำคัญที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศ

ขณะเดียวกัน เซิน หมิง-ซือ ผอ.สถาบันวิจัยด้านความมั่นคงและการป้องกันตนเองแห่งชาติ (Institute for National Defense and Security Research) ของไต้หวัน เชื่อว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก็จะเพิ่มขนาดและจำนวนการซ้อมรบในภูมิภาคนี้เพื่อตอบโต้ต่อการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนและรัสเซียเช่นกัน

ถึงกระนั้น หลิน ยิง-ยู ชี้ว่า สิ่งที่ต้องจับตามองคือ ญี่ปุ่นจะปรับแก้สนธิสัญญาด้านความมั่นคงว่าด้วยการป้องกันประเทศ เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือไม่ ภายใต้ภัยคุกคามจากรัสเซียทางทิศเหนือ จีนจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ และจรวดมิสไซล์จากเกาหลีเหนือที่ไม่รู้จะตกลงมาบริเวณไหน เมื่อใด

  • ที่มา: วีโอเอ