หลังการก่อกบฎโดย แวกเนอร์กรุ๊ป เกิดขึ้นและจบลงภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อวันเสาร์ กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ออกมาทันทีว่า การก่อรัฐประหารของกลุ่มแวกเนอร์นั้นเป็นเพียง “เรื่องภายในของรัสเซีย” และกล่าวว่า “ในฐานะเพื่อนบ้านฉันมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านเพื่อการร่วมมือในศักราชใหม่ จีนขอสนับสนุนรัสเซียในการคงไว้ซึ่งเสถียรภาพของชาติและในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาและความรุ่งเรือง”
นอกจากแถลงการณ์ที่ว่านี้แล้ว อันเดรย์ รูเดนโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ยังเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในวันอาทิตย์ และเข้าพบกับ ฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยจีนด้วย
หลังการประชุมดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์อธิบายว่า ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความเป็นหุ้นส่วนอันใกล้ชิดและหารือประเด็นต่าง ๆ ในภูมิภาคและทั่วโลกที่ต่างมีความกังวลอยู่ แต่ไม่ได้มีการพูดถึงเหตุการณ์ความตึงเครียดในรัสเซียและเยฟเกนี พรีโกชิน หัวหน้าของ แวกเนอร์กรุ๊ป เลย ขณะที่ เอพี รายงานว่า ไม่มีฝ่ายใดประกาศออกมาก่อนหน้าว่า จะมีการเยือนกรุงปักกิ่งของรมช.ต่างประเทศรัสเซียด้วย
แต่แม้ทางการของทั้งสองฝ่ายจะพยายามสร้างบรรยากาศว่า ทุกอย่างเป็นปกติแล้ว ยังมีเสียงสะท้อนของความกังวลเกี่ยวกับทิศทางต่อจากนี้ในรัสเซียออกมาอย่างต่อเนื่อง
นั่นเป็นเพราะ วิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ได้เพียงแต่เปิดโปงให้โลกเห็นถึง “ความขัดแย้งที่ไม่มีทางปรองดองกันได้ระหว่างผู้นำฝ่ายการเมืองและผู้นำทางทหารรัสเซีย” และข้อบกพร่องในการใช้อำนาจสั่งการของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการเริ่มต้นของรอยแยกในสายสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียด้วย
รอยเตอร์รายงานว่า แม้หลังสถานการณ์รัสเซียจะคลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงที่ เยฟเกนี พรีโกชิน หัวหน้ากลุ่มทหารรับจ้าง แวกเนอร์ สั่งเคลื่อนกองกำลังของตนอย่างรวดเร็วเข้าไปควบคุมฐานทัพทางตอนใต้สองแห่งของรัสเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมอสโกเพียง 200 กิโลเมตร นักธุรกิจจีนหลายคนในพื้นที่ภาคใต้ของจีนตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกอย่างมากและเร่งสั่งการให้โรงงานของตนระงับการส่งสินค้าทั้งหมดไปยังรัสเซียทันที
และจนถึงวันนี้ ยังมีหลายคนมีคำถามคาใจว่า จีนควรจะไว้ใจพึ่งพารัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของกรุงปักกิ่งหรือไม่
เชน มู่หุย ประธานกลุ่มการค้าที่เป็นตัวแทนบริษัทต่าง ๆ ในมณฑลฝูเจี้ยน ทางใต้ของจีน บอกกับ รอยเตอร์ว่า เมื่อตอนเกิดเรื่อง หลายฝ่ายคิดว่า สถานการณ์น่าจะยกระดับเป็นเรื่องใหญ่ แต่แม้เมื่อวิกฤตนี้คลี่คลายลง “บางคนก็ยังรอดูอยู่ห่าง ๆ เพราะพวกเขาไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้”
นอกจากภาคธุรกิจแล้ว นักวิเคราะห์ข่าวและผู้เชี่ยวชาญหัวอนุรักษ์นิยมทั้งหลายที่ออกมาชื่นชมปธน.ปูติน สำหรับการยุติวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว ก็ยังตั้งคำถามว่า จีนควรจะยืนอยู่ใกล้รัสเซียแค่ไหนแล้ว เช่น เชน ติงลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากเซี่ยงไฮ้ ที่กล่าวว่า จีน “จะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ในการใช้คำพูดและในการลงมือทำการใด ๆ ที่เกี่ยวกับรัสเซีย”
ส่วน หยาง จุน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์จาก China University of Political Science and Law ในกรุงปักกิ่ง เขียนบทความแสดงข้อคิดเห็นที่ตีพิมพ์ทางหนังสือพิมพ์ เลี่ยนเหอ เจาเป้า (Lianhe Zaobao) ของสิงคโปร์เมื่อวันเสาร์และเรียกร้องให้จีนออกมาให้การสนับสนุนโดยตรงต่อยูเครน เพื่อหลีกเลี่ยง “ไม่ให้ถูกรัสเซียดึงไปติดหล่มสงคราม” และว่า “เพราะพัฒนาการของสถานการณ์ในปัจจุบันและทิศทางของสงคราม ... (จีน) ควรจะปรับเปลี่ยนจุดยืนของตนในเรื่องรัสเซียและยูเครน แสดงทัศนคติของตนให้ชัดเจน และยืนหยัดอยู่ในข้างของผู้ชนะในประวัติศาสตร์”
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการยืนยันว่า ศาสตราจารย์หยางเขียนบทความนี้ก่อนเกิดเหตุก่อกบฏของกลุ่มแวกเนอร์หรือไม่ และไม่ตอบกลับคำขอสัมภาษณ์จากรอยเตอร์ด้วย
ความขัดแย้งที่ปรองดองกันไม่ได้
ส่วยเหลียง ติง อดีตศาสตราจารย์จาก Hong Kong University of Science and Technology ระบุระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง เมื่อวันอาทิตย์ว่า รัสเซียนั้นยังไม่ได้หลุดพ้นจากความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองเสียทีเดียว โดยกล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เกิดความขัดแย้งแบบที่ไม่สามารถปรองดองกันได้ระหว่างฝ่ายการเมืองและผู้นำกองทัพของรัสเซีย แต่นี่จะไม่ได้เป็นครั้งสุดท้าย”
ภายใต้ข้อตกลงยุติวิกฤตรัสเซียเมื่อวันเสาร์ เยฟเกนี พรีโกชิน จะย้ายไปอยู่ที่เบลารุสและจะไม่ถูกดำเนินคดีก่อกบฏ ขณะที่ บรรดานักรบแวกเนอร์ที่เข้าร่วมการเคลื่อนพลประชิดมอสโกก็จะไม่ถูกลงโทษใด ๆ
แต่ศาสตราจารย์ติง ให้ความเห็นว่า ถ้าพริโกชินอยู่ในเบลารุสเป็นระยะเวลาสั้น ๆ กองกำลังแวกเนอร์ก็อาจกลับมาเป็นตัวปัญหาให้กับรัฐบาลรัสเซียได้ในอนาคตอยู่ดี
ซู่-ยุน ซู นักวิจัยจาก Institute for National Defense and Security Research ในกรุงไทเป กล่าวเสริมด้วยว่า ขณะที่ ผู้นำรัสเซียพยายามจัดระเบียบให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติในวันจันทร์ รัฐบาลของปธน.ปูติน ยังดูเหมือนอยู่ในภาวะอ่อนแออยู่ อันดูได้จากจุดบกพร่องในอำนาจสั่งการของผู้นำรัสเซียในช่วงการก่อการกบฏ และเมื่อประกอบกับปัญหาการคอร์รัปชันในกองทัพรัสเซียและขวัญกำลังใจของเหล่าทหารที่ตกฮวบแล้ว ทั้งหมดนี้อาจกำลังบ่งชี้ถึงการที่รัสเซียน่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการรุกรานยูเครนในที่สุดก็เป็นได้
ความช่วยเหลือทางทหารจากจีน
ซู่-ยุน ซู และ เหลียง ติง ต่างมองว่า จีนไม่น่าจะส่งความช่วยเหลือทางทหารให้กับกองทัพรัสเซีย ถ้าฝ่ายยูเครนเป็นผู้ได้ชัยในสงครามนี้
ซู กล่าวระหว่างการพูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอลล์กับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง เมื่อวันอาทิตย์ ว่า “[ประธานาธิบดี] สี จิ้นผิง... จะไม่มีทางยอมรับว่า ตนคิดผิดที่ไปเข้าข้างปูติน เนื่องจากจีนต้องการรัสเซียในฐานะหุ้นส่วนทางภูมิรัฐศาสตร์ของตน แต่เขาก็จะไม่มีทางส่งทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนไปรบกับชาวยูเครน ความเป็นไปได้เดียวก็คือ เขาจะจัดส่งความช่วยเหลือทางอ้อม เช่น ทรัพยากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปให้ฝ่ายรัสเซีย”
นักวิจัยรายนี้ยังอ้างข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯ ในการระบุว่า บริษัทเอกชนจนนั้นขายปืนอาวุธร้ายแรงและโดรนให้กับกองทัพรัสเซีย ขณะที่ รัฐบาลจีนก็ให้การสนับสนุนด้วยการแบ่งปันเสบียงทางทหารให้ และช่วยซื้อก๊าซธรรมชาติ น้ำมันและน้ำมันดิบ จากรัสเซีย หลังนานาประเทศหยุดนำเข้าพลังงานจากรัสเซียหลังกองทัพมอสโกรุกรานยูเครน
ส่วน ติง กล่าวว่า “การสูญเสียหุ้นส่วนนั้นรังแต่จะเป็นข่าวร้ายสำหรับจีน หากรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้” แต่ชี้ว่า การจะช่วยรัสเซียนั้นเหมือนจะมีแต่เสียกับเสียสำหรับจีน เพราะหากกรุงปักกิ่งจัดหาอาวุธที่ดีที่สุดให้กับรัสเซียเพื่อช่วยรบ ประเด็นนี้จะกลับมาเป็นปัญหากับความแข็งแกร่งของกองทหารของตน และจะนำมาซึ่งมาตรการลงโทษจากนานาชาติที่จะเป็นปัญหากับจีนต่อไป
ความไม่แน่นอนภาคการลงทุน
ในแง่เศรษฐกิจ จีนนั้นเป็นผู้ลงทุนอันดับต้น ๆ ของรัสเซีย เพราะกรุงปักกิ่งส่งออกสินค้าแทบทุกอย่างให้พันธมิตรนี้ ตั้งแต่รถ ไปจนถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ขณะที่ ตนเองก็รอรับน้ำมันดิบราคาดี ในช่วงที่มอสโกยังเผชิญมาตรการลงโทษจากประเทศต่าง ๆ
ในประเด็นพลังงานนั้น แม้จีนจะเร่งนำเข้าจากรัสเซียอย่างมากในช่วง 5 เดือนของปีนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่า เริ่มมีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นในฝ่ายจีนแล้ว
ไมเคิล เมย์ดัน หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านพลังงานจีนจาก The Oxford Institute for Energy Studies กล่าวว่า “หากรัสเซียเป็นฝ่ายแพ้สงคราม หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำของตน นั่นจะนำมาซึ่งความไม่แน่นอนครั้งใหญ่สำหรับนักลงทุนจีน”
เมย์ดัน กล่าวว่า รัฐบาลจีนเองก็ดูเหมือนจะพยายามใช้ความระมัดระวังอยู่มาก โดยดูได้จากการที่กรุงปักกิ่งยังไม่ได้ลงนามข้อตกลงท่อก๊าซหลักเส้นใหม่ที่เชื่อมต่อสองประเทศเลย แม้มอสโกจะพยายามผลักดันมาตลอดก็ตาม
เวิ่น-ถี ซุ่ง นักรัฐศาสตร์จาก Australian National University ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ด้วยว่า “กรุงปักกิ่งมีเหตุผลมากมายที่จะระวังตัวอย่างมาก” และว่า “ไม่มีเหตุผลใด ๆ เลยที่จะทำการลงทุนระยะยาวกับใครก็ตามที่มีโอกาสที่จะไม่รอดในระยะยาว”
โลกคู่ขนานกับสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน
ท้ายสุด ซู่-ยุน ซู นักวิจัยจาก Institute for National Defense and Security Research ในกรุงไทเป กล่าวว่า ปัญหาการก่อกบฏโดย แวกเนอร์กรุ๊ป นั้นอาจทำให้ สี จิ้นผิง ต้องคิดดี ๆ ว่า จะตัดสินใจทำสงครามในช่องแคบไต้หวันหรือไม่
ซู กล่าวว่า “เรื่องนี้เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ให้กับ สี (กล่าวคือ) การที่รัสเซียมีปัญหาทำปฏิบัติการรบภาคพื้นดินในยูเครน ... ถ้าสีวางแผนจะข้ามช่องแคบไต้หวันและรุกรานไต้หวันด้วยกองกำลังครึ่งบกครึ่งน้ำ เดิมพันนั้นจะสูงมาก ... และหากมีการโจมตีต่อเนื่องเป็นเวลานาน สถานภาพการปกครองของเขาก็อาจตกเป็นเป้ามีปัญหาได้”
- ที่มา: วีโอเอและรอยเตอร์