ในระหว่างการประชุม COP26 เมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน สหรัฐฯ ประกาศคำมั่นที่จะช่วยนำพานานาประเทศแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมบางรายมองว่าเป็น อาการ “ปากว่าตาขยิบ” แต่ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพิ่งอนุมัติให้เริ่มมีการขายสิทธิ์เพื่อขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่กว่า 80 ล้านเอเคอร์ (กว่า 323,700 ตารางกิโลเมตร) ในอ่าวเม็กซิโกไป
และในการประมูลขายสิทธิ์ดังกล่าวโดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีการอนุมัติสิทธิ์เช่าซื้อพื้นที่ 1.7 ล้านเอเคอร์ให้กับบริษัท เอ็กซอน โมบิล (Exxon Mobil Corp) และบริษัท เชฟรอน (Chevron Corp) รวมทั้งผู้สนใจอีกหลายรายไปเรียบร้อยแล้ว โดยพื้นที่จำนวน 308 ล็อตที่มีการจำหน่ายสิทธิ์ออกไปนั้นทำเงินให้รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 191.7 ล้านดอลลาร์
การประกาศขายสิทธิ์ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ทำให้กลุ่มปกป้องสิ่งแวดล้อมบางรายกล่าวหารัฐบาลปธน.ไบเดน ว่า ทำการคืนคำสัญญาที่ให้ไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ว่า จะ “เป็นผู้นำตัวอย่าง” ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ (net zero emissions) ในอนาคตให้ได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรุงวอชิงตันอ้างว่า ที่ต้องจัดให้มีการประมูลสิทธิ์ดังกล่าวนั้นเป็นเพราะผลบังคับตามคำสั่งศาลรัฐบาลกลาง
หลังก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปธน.ไบเดน ประกาศแผนพักการอนุมัติสิทธิ์เช่าซื้อสำหรับโครงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ที่เป็นของรัฐ ส่งผลให้อัยการรัฐที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันในพื้นที่หลายสิบรัฐ ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลเพื่อคัดค้านคำสั่งดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ศาลแขวงในรัฐหลุยเซียนามีคำพิพากษาออกคำสั่งระงับมาตรการพักการอนุมัติสิทธิ์ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และอนุญาตให้มีการขายสิทธิ์ขุดเจาะได้อีกครั้ง
รายงานด้านธรณีวิทยาสหรัฐฯ ที่ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2018 ประเมินว่า ธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่รวมความทั้งการขุดเจาะสกัด การกลั่น และการขนส่ง โดยไม่นับเชื้อเพลิงที่ผู้บริโภคนำมาใช้จริง มีส่วนรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 23% ในประเทศ
การจัดประมูลขายสิทธิ์ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เกิดขึ้นขณะยังมีคดีฟ้องร้องโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม Earthjustice ที่แย้งว่า ผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับการเผยแพร่ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2017 และรัฐบาลปธน.ไบเดน ใช้อ้างอิงในการจัดการประมูลนั้น มีปัญหาและเชื่อถือไม่ได้ กำลังรอศาลในกรุงวอชิงตันตัดสินอยู่
เบรทท์นีย์ ฮาร์ดี ทนายความอาวุโสของกลุ่ม Earthjustice บอกกับ วีโอเอ ว่า ปธน.ไบเดนนั้น มีทางเลือกอยู่หลายทางที่จะหลีกเลี่ยงการจัดการประมูลแต่กลับไม่ใช้ทางเลือกเหล่านั้นเลย และอ้างแต่ว่า ไม่มีทางเลือกใดๆ ภายใต้คำสั่งศาลในรัฐหลุยเซียนา
ฮาร์ดี เข้าใจดีว่า รัฐบาลปธน.ไบเดน กำลังเดินเรื่องอุทธรณ์คำพิพากษานี้อยู่ แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงไม่พยายามเดินเรื่องระงับคำพิพากษาดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าการอุทธรณ์จะสิ้นสุดลง
อุตสาหกรรมพลังงานชื่นมื่น
แต่ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงานและผู้สนับสนุนทั้งหลายในกรุงวอชิงตัน กลับออกมาแสดงความยินดีกับการจัดการประมูลครั้งนี้กันมากมาย
แฟรงค์ มัชชาโรลา รองประธานอาวุโสสถาบัน American Petroleum Institute ส่งคำแถลงมายัง วีโอเอ ที่ระบุว่า การผลิตน้ำมันและก๊าซบนผืนดินและแผ่นน้ำที่รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเจ้าของนั้นจะช่วยให้มีแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้และมีราคาไม่แพงให้อเมริกาได้พึ่งพา พร้อมๆ กับการดำเนินการจัดหาเงินทุนเพื่อเดินหน้าแผนอนุรักษ์ การให้ความรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และแผนงานสำคัญๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐได้ต่อไป
ส่วน เอริค มิลิโต ประธานสมาคม National Ocean Industries Association ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงานนอกชายฝั่ง ระบุในคำแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลปธน.ไบเดน จัดให้มีการประมูลเช่าซื้อสิทธิ์ขุดเจาะพลังงานเพิ่มขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ด้วย
รายงานข่าวระบุว่า ในความเป็นจริงนั้น กระบวนการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ใหม่ๆ จะเริ่มต้นขึ้นได้ก็ต้องรอราว 5-10 ปีหลังมีการอนุมัติสิทธิ์ แต่เมื่อขั้นตอนขุดเจาะเริ่มขึ้นแล้ว้ บริษัทพลังงานทั้งหลายมักจะได้รับอนุญาตให้ยืดระยะเวลาสิทธิ์ที่ว่าไปโดยไม่จำกัดเวลาเสมอ
ระเบิดคาร์บอนขนาดมหึมา
อย่างไรก็ดี องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่งประกาศที่จะเดินหน้ากดดันรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ยกเลิกการขายสิทธิ์ขุดเจาะทั้งหมดและกลับมาดำเนินมาตรการระงับการประมูลต่างๆ อีกครั้งให้ได้
คริสเตน มอนเซลล์ ผู้อำนวยการด้านกฎหมาย จากศูนย์ Center for Biological Diversity กล่าวว่า “รัฐบาลปธน.ไบเดน กำลังจุดชนวนระเบิดคาร์บอนขนาดมหึมาในอ่าวเม็กซิโกอยู่ และทั้งๆ ที่เพิ่งมีการประชุมสุดยอดว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลกไปเมื่อเร็วๆ นี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า จะไม่มีใคร ‘ปากว่า-ตาขยิบ’ อย่างที่จะเป็นภัยอันตรายรุนแรงกว่านี้ได้อีกแล้ว”