การประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ปีนี้ ยุติลงเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน โดยผู้นำประเทศต่าง ๆ เกือบ 200 ประเทศ ตกลงจะเร่งความพยายามต่อไปเพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และจะกลับมาประชุมเพื่อทบทวนแผนดำเนินงานอีกครั้งในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาจากหลายฝ่ายแสดงว่าความตกลงครั้งนี้เป็นเพียงการประนีประนอมซึ่งยังไปได้ไม่ไกลพอ
หลังจากที่การประชุม COP26 สิ้นสุดลงล่าช้ากว่ากำหนดเดิมราว 24 ชั่วโมง Alok Sharma ประธานของที่ประชุม กล่าวกับผู้ร่วมการประชุมว่า แม้จะมีความคืบหน้าในความพยายามเพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีแผนปฎิบัติงานและการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลืออยู่ของทศวรรษนี้ประธานของที่ประชุมยังได้กล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจเกี่ยวกับกระบวนการทำความตกลง และยอมรับว่าอาจมีหลายฝ่ายที่ต้องผิดหวัง
หลายประเทศผู้เข้าร่วมประชุม COP26 ครั้งนี้ยอมรับว่า ความมุ่งมั่นและการดำเนินงานเท่าที่มีอยู่ขณะนี้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นยังไม่เพียงพอที่จะจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ และมีหลายประเทศที่ตกลงจะค่อย ๆ ลดแทนที่จะเลิกใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของก๊าซเรือนกระจก
โดยอินเดีย จีน กับแอฟริกาใต้ ให้เหตุผลว่า การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิสนั้นไม่ยุติธรรม และ Bhupender Yadav รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดียก็ชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนายังมีปัญหาด้านอื่น รวมทั้งปัญหาเรื่องความยากจนที่จะต้องแก้ไขอยู่อีกมาก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยให้สัญญาว่าจะเพิ่มความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศที่ยากจนอีกเท่าตัวภายในปีค.ศ. 2025 นี้ ในกระบวนการเพื่อปรับตัวและเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง นอกจากนั้นยังได้มีการยอมรับเป็นครั้งแรกด้วยว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นต้องช่วยชดเชยและเยียวยาประเทศกำลังพัฒนาสำหรับความเสียหายที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศปรวนแปร เนื่องจากประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนเครดิตของการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับโลกได้
และในส่วนที่เกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่ากับก๊าซมีเทนนั้น ในช่วงก่อนหน้าของการประชุมได้มีความตกลงเพื่อลดการทำลายป่าและมีราว 100 ประเทศซึ่งให้สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30 เปอร์เซ็นต์จากระดับของปี 2020 ในช่วงเก้าปีต่อจากนี้ด้วย
นายกรัฐมนตรี Boris Johnson ของอังกฤษ ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ได้กล่าวยกย่องผู้เข้าร่วมประชุมและยอมรับว่ายังมีเรื่องที่จะต้องทำอีกมาก ก่อนจะสามารถพูดได้ว่าเราได้จัดการกับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดที่ประชุมครั้งนี้ก็ยังพอมีความหวังเรื่องการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยมีการให้คำมั่นทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ถ่านหิน การลดไอเสียจากรถยนต์ การทำลายป่า รวมทั้งความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยจากมุมมองของผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเองนั้น Jennifer Morgan ผู้อำนวยการบริหารของ Greenpeace International บอกกับรอยเตอร์ว่า ข้อตกลงที่ได้ครั้งนี้ยังอ่อนเกินไปจนไม่สามารถแก้ปัญหาความเร่งด่วนเรื่องสภาพภูมิอากาศได้ และว่าความหวังเรื่องการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นมีอยู่เพียงน้อยนิด ซึ่งตนก็ไม่คิดว่ากลุ่มนักรณรงค์วัยหนุ่มสาวรวมทั้งชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ จะยอมรับผลการประชุมแบบ COP 26 ที่ว่านี้อีก
ทางด้าน Greta Thunberg นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของสวีเดน ก็ดูจะไม่ให้ความหวังจากข้อตกลงของการประชุมครั้งนี้เช่นกัน โดยเธอได้ทวีตความเห็นที่สรุปได้ว่า COP26 จบสิ้นลงแล้ว และโดยภาพรวมก็คือไม่มีแก่นสารสาระอะไร
ส่วนนาย Antonio Guterres เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ก็ยอมรับเช่นกันว่า ข้อตกลงจากที่ประชุม COP26 ดังกล่าวเป็นผลจากการประนีประนอมซึ่งสะท้อนถึงผลประโยชน์ เงื่อนไข และความขัดแย้งเกี่ยวกับเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ในโลกขณะนี้ โดยถึงแม้จะมีก้าวสำคัญบางอย่างเกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็น่าเสียดายที่เจตนารมณ์ทางการเมืองซึ่งมีอยู่ร่วมกันนั้นยังไม่เพียงพอที่จะเอาชนะความขัดแย้งบางอย่างได้ และหายนะจากสภาพภูมิอากาศที่ปรวนแปรก็ยังคงรออยู่ตรงหน้าเรา หลังการประชุม COP26 สองสัปดาห์นี้แล้ว ที่ประชุมได้ตกลงว่าการประชุม COP27 เพื่อทบทวนแผนงานและคำมั่นสัญญาจะมีขึ้นในปีหน้า คือเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ตั้งไว้ทุก ๆ ห้าปี โดยการประชุม COP27 กำหนดจะจัดขึ้นที่เมือง Sharm-el-Sheikh ของอียิปต์ในปี 2022- ที่มา: AP, Reuters