จากการประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์เมื่อวันพฤหัสบดี มีการประกาศคำมั่นสัญญาจากประเทศผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ของโลกหลายประเทศที่จะเลิกใช้พลังงานดังกล่าวหรือจะยุติการสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแห่งใหม่ โดยถึงแม้คำสัญญาที่ว่านี้จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันทั้งในด้านรายละเอียดและกำหนดเวลาก็ตาม
แต่อังกฤษในฐานะประเทศเจ้าภาพก็ให้ข้อมูลว่ามีประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศ เช่น ยูเครน เวียดนาม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และชิลีที่ให้สัญญาเรื่องการกำหนดเส้นตายเพื่อเลิกใช้พลังงานถ่านหิน ถึงแม้ว่าบางประเทศ เช่น อินโดนิเซียจะตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถทำได้ตามเป้าหมายเรื่องนี้ก็ตาม
ขณะเดียวกันสหรัฐฯ แคนาดา เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศได้ร่วมลงนามในคำมั่นสัญญาที่จะให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพลังงานสะอาดมากกว่าจะสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิสในต่างประเทศแม้จะไม่ได้รับปากเรื่องการเลิกลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินโดยสิ้นเชิง
ความเคลื่อนไหวและการประกาศให้คำมั่นสัญญาเพื่อเลิกหรือลดการใช้พลังงานถ่านหินดังกล่าวนี้มีขึ้นขณะที่รายงานการวิเคราะห์ชิ้นใหม่จากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของ Global Carbon Project พบว่ามีมลภาวะจากเชื้อเพลิงประเภทนี้สูงขึ้นมากในปีนี้เมื่อเทียบกับของเมื่อปี 2019 ในช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดใหญ่ คือมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1 หมื่น 4 พัน 7 ร้อยล้านเมทริกซ์ตัน
จากการใช้ถ่านหินเฉพาะในปีนี้ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 5.7% จากเมื่อปีที่แล้ว รายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่าตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในประเทศจีนที่ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 7 พัน 6 ร้อยล้านเมทริกซ์ตัน ซึ่งก็เท่ากับกว่าครึ่งของการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกในปีนี้ด้วย