นายธนาคาร บริษัทประกัน และนักลงทุนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันราว 130 ล้านล้านดอลลาร์ ประกาศคำสัญญาที่จะผนวกเอาแผนงานต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของภาวะสภาพภูมิอากาศโลก เข้ามาเป็นหัวใจของการดำเนินกิจการงานของตน พร้อมมุ่งชักจูงหาแรงสนับสนุนมาผลักดันแนวทางการลงทุนในธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม (Green Investment) ตามรายงานของสำนักข่าว รอยเตอร์
มาร์ค คาร์นีย์ ผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งกลุ่ม Glasgow Finance Alliance for Net Zero (GFANZ) ประเมินว่า การที่โลกจะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดอุณหภูมิเฉลี่ยได้นั้น น่าจะต้องใช้เงินทุนราว 100 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ทศวรรษจากนี้ พร้อมกล่าวว่า อุตสาหกรรมการเงินนั้นจะต้องหาหนทางระดมทุนจากผู้ลงทุนภาคเอกชนเพื่อมาช่วยหนุนภาครัฐที่มีข้อจำกัดอยู่
ในส่วนของโครงการที่ คาร์นีย์ จัดตั้งขึ้นมานั้น เป็นความพยายามที่จะผลักดันให้สถาบันการเงินต่างๆ ร่วมรับผิดชอบและเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อหรือการลงทุนของตน เพื่อบังคับให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มใส่ใจเกี่ยวกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงที่ว่านี้ด้วย
เจน เฟรเซอร์ ซีอีโอ ของ ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม GFANZ ให้ความเห็นว่า การที่โครงการนี้เกี่ยวพันกับกองทุนที่มีมูลค่าสินทรัพย์ถึง 130 ล้านล้านดอลลาร์นั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ก็เตือนว่า ทุกฝ่ายจะต้องรวมทำงานด้วยกันอย่างระมัดระวังเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายให้ได้
ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินหลายแห่งที่มีสินทรัพย์รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของเงินทุนที่หมุนเวียนอยู่ทั่วโลก ออกแถลงการหลังเสร็จสิ้นการประชุมที่ประเทศสกอตแลนด์ซึ่งระบุว่า ธุรกิจที่เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ให้คำมั่นที่จะร่วม “รับผิดชอบในสัดส่วนที่เป็นธรรม” สำหรับการดำเนินการต่างๆ ที่จะช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลบนโลกนี้ให้ได้
คำประกาศดังกล่าวมีออกมาขณะที่ ผู้นำจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ อันมีจุดประสงค์ที่จะขอคำสัญญาจากประเทศต่างๆ ในการร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลง 15 องศาเซลเซียส แม้ว่าหลายคนจะแสดงความไม่แน่ใจว่า การประชุมครั้งนี้จะบรรลุเป้าหมายได้เพียงใด โดยเฉพาะในเรื่องของคำมั่นจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวที่อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวระบุว่า ผู้นำจากอย่างน้อย 19 ประเทศน่าจะประกาศคำมั่นของตนในวันพฤหัสบดี ว่าจะยุติการใช้งบประมาณรัฐสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลในต่างประเทศภายในปี ค.ศ. 2022
(ที่มา: สำนักข่าว รอยเตอร์)