ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศแผนงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะมุ่งลดการปล่อยก๊าซมีเทน ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งมีผู้นำจากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมหารือหนทางแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่
ในวันที่ 2 ของการประชุมที่จัดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาตินี้ ปธน.ไบเดน ระบุว่า สิ่งที่สหรัฐฯ มุ่งหวังจะทำตั้งแต่บัดนี้จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของคำมั่นต่อแผนระยะยาวเพื่อจะบรรลุเป้าหมายลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ ก็คือ “การลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ก๊าซมีเทน เป็นก๊าซที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนโดยตรง และถูกปล่อยออกมาจากการขนส่งและการผลิตถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ขณะที่ ปศุสัตว์ กระบวนการฝังกลบ และการทำการเกษตร ก็มีส่วนในการผลิตก๊าซนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ในวันอังคารตามเวลาในสหรัฐฯ รัฐบาลกรุงวอชิงตันได้เปิดตัวแผนการที่ดึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มาร่วมการลดการปล่อยก๊าซดังกล่าว ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ดำเนินตามเป้า Global Methane Pledge ซึ่งเป็นแผนงานที่บรรดาประเทศผู้ปล่อยก๊าซอันดับต้นๆ ของโลก ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงจากระดับที่บันทึกได้ในปี ค.ศ. 2020 ให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ. 2030
นอกจากนั้น ปธน.ไบเดน ยังพูดถึงการผ่านกฎหมายที่มุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ พร้อมๆ กับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 1 กิกะตัน ภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วย
และในวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งไม่ได้บินมาเข้าร่วมงานด้วยตนเองแต่ส่งสารผ่านสุนทรพจน์มายังที่ประชุมแทน ประกาศแผนงานแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมีรายละเอียดมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมพลังงาน การก่อสร้าง การขนส่ง และธุรกิจถ่านหิน ไฟฟ้า เหล็ก และซีเมนต์ โดยจะออกมาตรการสนับสนุนต่างๆ มาช่วย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “คาร์บอนซิงค์” (Carbon Sinks) ซึ่งก็คือ อ่างกักเก็บคาร์บอนฯ หรือ แหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้ง นโยบายการคลังและนโยบายภาษี และแผนส่งเสริมทางการเงินอื่นๆ
ปธน.สี ยังเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ให้ “ลงมือทำการต่างๆ ให้มากขึ้น” และช่วยส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ในการเดินหน้าแผนจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย
ในส่วนของผู้นำไทยนั้น ไตรศลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเดินทางมาร่วมการประชุม COP26 ด้วย ได้กล่าวย้ำถึงการร่วมกับนานาประเทศเพื่อลดปัญหาโลกร้อน โดยจะให้ความสำคัญด้านยุทธศาสตร์และนโยบายสำหรับภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งมาตรการสร้างแรงจูงใจในภาคเอกชนด้วย