ผู้นำกว่าร้อยประเทศประกาศเจตนารมณ์ที่จะยับยั้งการเสียพื้นที่ป่าไม้และความเสื่อมโทรมสภาพดิน แต่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังลังเลอยู่
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ในการประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ มีผู้นำของประเทศต่างๆ กว่า 120 ประเทศเข้าร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการใช้ที่ดินและผืนป่า หรือ Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use เพื่อทำงานร่วมกันในการยุติการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และความเสื่อมโทรมของพื้นดิน
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชาซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่ได้แสดงความมุ่งมั่นในเรื่องนี้
แม้ปฏิญญาที่บรรดาผู้นำกว่า 120 ประเทศลงนามแล้วจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็มีการระบุเป้าหมายเพื่อยุติการสูญเสียพื้นที่ป่าและความเสื่อมโทรมของผิวดิน รวมทั้งเพื่อฟื้นคืนสภาพทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวภายในปี ค.ศ. 2030 หรือในอีก 9 ปีจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือด้านการเงินจากภาครัฐและภาคเอกชนราว 19,000 ล้านดอลลาร์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา
ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่ป่าเขตร้อนอยู่ราว 15% ของโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนซึ่งทำให้โลกร้อน อย่างไรก็ดี ยังมีหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย ลาว กัมพูชา รวมทั้งอินโดนีเซียที่ยังไม่เข้าร่วมความตกลงดังกล่าวหรือแสดงท่าทีที่ไม่ชัดเจน
ขณะนี้ มาเลเซียและลาวอยู่ในกลุ่มหนึ่งใน 10 ประเทศแรกของโลกซึ่งสูญเสียพื้นที่ป่าเขตร้อนในปีที่แล้ว ตามข้อมูลของหน่วยงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมชื่อ World Resources Institute หรือ WRI ในสหรัฐฯ โดยกัมพูชาก็ติดอันดับ 11 ของรายชื่อนี้ด้วย
และหลังจากที่มีเสียงเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านรวมทั้งจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรื่องแผนที่จะเข้าร่วมในข้อตกลงดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนเวลา
ขณะนี้ มาเลเซียกับอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกที่ต้องอาศัยการถางป่าและการใช้พื้นที่ป่าพรุซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอน โดยตัวเลขของ WRI บ่งชี้ว่าพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายในทั้งสองประเทศเมื่อปีที่แล้วตกประมาณ 2 ล้านไร่ หรือราวกว่า 2 เท่าของพื้นที่มหานครกรุงลอนดอนเลยทีเดียว และ Charles Santiago นักการเมืองท้องถิ่นของมาเลเซียก็เชื่อว่ากลุ่มธุรกิจที่ทรงพลังในประเทศ คงพยายามขัดขวางเพื่อไม่ให้มาเลเซียสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ประกาศไว้สำหรับปี 2030
ทางด้านอินโดนีเซีย ซึ่งติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศที่สูญเสียพื้นที่ป่าเขตร้อนเมื่อปีที่แล้วเช่นกัน ตัวเลขของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม WRI ระบุว่า พื้นที่ป่าที่ต้องสูญหายไปในอินโดนีเซียมีมากเท่ากับพื้นที่ป่าที่ถูกโค่นลงในลาว กัมพูชา และมาเลเซียรวมกัน โดยถึงแม้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด้ จะได้ร่วมลงนามในปฏิญญาผู้นำในการประชุม COP26 เพื่อช่วยยุติการสูญเสียพื้นที่ป่าเมื่อต้นเดือนนี้ก็ตาม แต่ท่าทีของ Siti Nurbaya Bakar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซียในวันถัดมา ซึ่งโพสต์ทาง Facebook แสดงให้เห็นว่า ความมุ่งมั่นของอินโดนีเซียให้มีการทำลายป่าสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่ยุติธรรม ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามและความสงสัยเกี่ยวกับเจตนา รวมทั้งความจริงใจของอินโดนีเซีย และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมก็เกรงว่ากลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจจะพยายามขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาลกรุงจาร์กาตาร์ในเรื่องนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้วโฆษกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ได้ยืนยันว่า คำประกาศเป้าหมายของอินโดนีเซียเรื่องการทำลายป่าสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 นั้นสอดคล้องกับเจตนาในคำประกาศของผู้นำกว่า 120 ประเทศ แต่ Arief Wijaya ผู้บริหารของ WRI ในอินโดนีเซียก็ชี้ว่าท่าทีที่กลับไปกลับมาของหลายประเทศได้สร้างความสับสนว่าเจตนาที่แท้จริงของคำประกาศจากผู้นำเหล่านี้คืออะไร
และถึงแม้มาเลเซียกับอินโดนีเซียจะพยายามลดการสูญเสียพื้นที่ป่าลง แต่อีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ อย่างเช่น กัมพูชา ที่ยังคงเสียพื้นที่ป่าในปีที่ผ่านมา ส่วนลาวก็เสียพื้นที่ป่าเพิ่มติดต่อกัน 2 ปีโดยมีการเสียพื้นที่ป่ามากที่สุดในปีที่แล้วด้วย
และจากผลการวิจัยที่แสดงว่าพื้นที่ป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ Arief Wijaya จาก WRI ได้เตือนว่า แถบแนวป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มีบทบาทสำคัญต่อภาวะภูมิอากาศของโลก ต่ออุณหภูมิและต่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรมีประเทศหนึ่งประเทศใดในภูมิภาคนี้ที่จะละเลยเรื่องการลดการสูญเสียพื้นที่ป่าและทุกประเทศควรมุ่งหน้าเพื่อจัดการผืนป่าของตนให้มีความยั่งยืน