ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วุฒิสภาสหรัฐฯ กังวลคดียุบพรรคก้าวไกล ขณะสื่อนอกจับตาการเมืองไทย


แฟ้มภาพ: อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร่วมแถลงข่าวหน้าศาลรัฐธรรมนูญหลังมีคำพิพากษาเกี่ยวกับ นโยบายผลักดันการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรค เมื่อ 31 ม.ค. 2567
แฟ้มภาพ: อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร่วมแถลงข่าวหน้าศาลรัฐธรรมนูญหลังมีคำพิพากษาเกี่ยวกับ นโยบายผลักดันการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรค เมื่อ 31 ม.ค. 2567

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะประกาศคำตัดสินในคดีการยุบพรรคก้าวไกลในวันพุธนี้ สื่อหลายแห่งได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับอนาคตของการเมืองไทยอีกครั้ง ขณะที่ ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวด้วย

เว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ที่เปิดเผยเนื้อหาจดหมายที่ เบน คาร์ดิน ประธานคณะกรรมาธิการฯ ส่งให้กับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทยในเร็ว ๆ นี้และที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยยึดมั่นในค่านิยมที่สหรัฐฯ และไทยมีร่วมกันและเป็นหลักสำคัญในฐานะความเป็นหุ้นส่วนของสองประเทศ ด้วยการดำเนินการต่าง ๆ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยึดถือหลักการด้านประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมไว้

วุฒิสภาสหรัฐฯ กังวลคดียุบพรรคก้าวไกล
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:14 0:00

สว.คาร์ดิน ระบุในจดหมายที่ส่งถึงรมต.มาริษ ว่า “การเลือกตั้งปี 2566 ได้เห็นผู้ออกมาใช้สิทธ์มากมายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยจำนวนพลเมืองไทยกว่า 39 ล้านคนได้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงตามระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์(ไทยเคยบันทึกไว้)” และว่า “พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะครั้งสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและเสียงของชาวไทยกว่า 14 ล้านคน แต่แม้จะได้รับอาณัติที่ชัดเจน พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ยื่นคำร้องให้มีการยุบพรรคนี้เสีย”

ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่า “ถ้าหากพรรคก้าวไกลถูกยุบ คำตัดสินนี้จะเป็นการตัดสิทธิ์ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงหลายล้านคนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทันที” และว่า “การทำเช่นนี้เป็นการข่มขู่ที่จะบ่อนทำลายพันธกรณีของประเทศไทยต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (รวมทั้ง) ค่านิยมที่มีร่วมกันซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวความเป็นหุ้นส่วนในระดับทวิภาคีที่ดำเนินมากว่า 190 ปีของเรา”

ในช่วงท้ายของจดหมาย สว.คาร์ดินได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยเคารพในความต้องการของประชาชนและคงไว้ซึ่งค่านิยมแห่งระบอบประชาธิปไตย พร้อมแสดงความหวังว่า รัฐบาลจะนำพาประเทศผ่านพ้นช่วงเวลานี้ด้วยจิตมุ่งมั่นที่จะคงไว้ซึ่งประชาธิปไตยด้วยการเคารพเสียงของประชาชน

วุฒิสมาชิก เบน คาร์ดิน ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ
วุฒิสมาชิก เบน คาร์ดิน ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ

ความกังวลของประธานคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯ นี้เป็นเสียงสะท้อนล่าสุดจากกลุ่มผู้ที่จับตาดูความเป็นไปในการเมืองไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญประกาศเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมว่า จะมีคำตัดสินในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นฟ้องให้มีการยุบพรรคที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดนี้ เนื่องจากการมีนโยบายพูดถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ศาลจะสั่งให้เลิกการเดินหน้าเสนอนโยบายดังกล่าวไปตั้งแต่ต้นปีแล้วก็ตาม

สื่อเอ็นพีอาร์ (NPR) กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเพิ่งได้ก้าวเท้าเดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยบ้าง หลังผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลให้มีรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งต้องถูกขับไล่ไปถึง 3 ชุดในรอบ 8 ปี ก่อนจะมีรัฐบาลทหารขึ้นปกครองประเทศเป็นเวลาถึง 10 ปี ขณะที่ คดีความที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลายคดีนั้นเริ่มส่งสัญญาณถึงความวุ่นวายและการเกิดวิกฤตรอบใหม่แล้ว โดยมีกรณีของมาตรา 112 เป็นประเด็นสำคัญ

ศาสตราจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความแสดงความคิดเห็นในสื่อนิคเคอิเอเชียว่า การเมืองไทยกำลังจะกลับมาตั้งต้นใหม่เพื่อรักษาและคงไว้ซึ่งอำนาจเผด็จการที่แฝงตัวอยู่รวมทั้งอภิสิทธิ์ของสถาบันอนุรักษนิยมที่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นให้กับสื่อ ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) และกล่าวว่า การตัดสินคดียุบพรรคที่ชนะด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดในปีที่แล้วของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นว่า สถานะของระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นกำลังมุ่งสู่จุดที่เสื่อมลงแล้ว โดยอ้างถึงการจัดอันดับในรายงานดัชนีประชาธิปไตย EIU ปี 2023 (2023 EIU Democracy Index) ที่ระบุว่า ประเทศไทยร่วงหนักที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนและเป็น 1 ใน 10 ประเทศทั่วโลกที่ถูกปรับลงมากที่สุดถึง 8 อันดับมาอยู่ที่อันดับที่ 63 ของโลก

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ฐิตินันท์ยังกล่าวด้วยว่า การยุคพรรคก้าวไกลนั้นเป็นบทสรุปที่ทุกฝ่ายเข้าใจดีอยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น ในช่วงที่ยังมีการรอคำพิพากษาจากศาลรัฐธรรมนูญในคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในสัปดาห์นี้อยู่ และอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่รอวันที่ได้รับอิสรภาพเต็มตัวจากการได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจำคุกเหลือ 1 ปีในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ที่หมายถึง โอกาสที่จะกลับมามีบทบาททางการเมืองได้เต็มตัว โดยยังมีคดีว่าด้วยมาตรา 112 ที่ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลติดตัวอยู่ แสดงให้เห็นว่า กระบวนการด้านประชาธิปไตยของไทยนั้นได้ “ถูกล้มล้างไปอย่างสุขุมหลักแหลม” เสียแล้ว

  • ที่มา: เอ็นพีอาร์ (NPR) นิคเคอิเอเชีย รอยเตอร์และดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist)

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG