สื่อต่างประเทศเกาะติดคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยเมื่อวันพุธ ที่ชี้ว่า การหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีจุดมุ่งหมายแอบแฝงในการล้มล้างการปกครอง
รอยเตอร์รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันพุธว่า “การกระทำของผู้ถูกร้อง(นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลในเวลานั้น และพรรคก้าวไกล)แสดงให้เห็นถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในและผ่านการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ในรูปแบบของนโยบายของพรรค”
นอกจากคำตัดสินดังกล่าวจะเป็นแบบอย่างในการพิจารณาในอนาคตว่าด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ทางศาลรธน.ได้มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการรณรงค์หาเสียงในลักษณะที่บ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ ที่ทางศาลรธน.ระบุว่า เป็นศูนย์กลางของความเป็นชาติไทยอีกด้วย
ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังคำตัดสินที่มีออกมาเมื่อวันพุธว่า “คำวินิจฉัยในวันนี้ ไม่ได้กระทบเฉพาะพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่กระทบความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน”
เอพี รายงานว่า ผู้วิจารณ์กฎหมาย ม.112 มองว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องมือในการจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง และการเดินขบวนประท้วงของแกนนำนักเรียนนักศึกษาที่สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2020 นั้นพยายามผลักดันให้มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้อย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นประเด็นต้องห้ามในอดีตและนำไปสู่การดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มข้น
พรรคก้าวไกลที่กวาดเสียงข้างมากในการเลือกตั้งเมื่อปีก่อน ชูนโยบายการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 พร้อมกับการปฏิรูปด้านประชาธิปไตยอื่น ๆ ในการรณรงค์หาเสียงของพรรค ซึ่งชัยชนะของพรรคก้าวไกลได้สะท้อนว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไทยพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงหลังอยู่ภายใต้การปกครองโดยทหารมาเกือบทศวรรษ
แม้ว่าทางศาลรธน.จะไม่มีการกำหนดบทลงโทษต่อพรรคก้าวไกล แต่คำตัดสินที่มีออกมาคาดว่าจะเป็นการจุดประเด็นการดำเนินคดีทางกฎหมายโดยฝั่งตรงข้ามเพื่อหาทางยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์ทางการเมืองต่อแกนนำพรรคในประเด็นดังกล่าว
ปีเตอร์ มัมฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียและอาเซียนจาก Eurasia Group ให้ทัศนะกับบลูมเบิร์กว่า “คำตัดสินดังกล่าวสร้างโอกาสให้เกิดการยุบพรรคก้าวไกลและก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองและเสถียรภาพทางสังคม”
ด้าน ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักรัฐศาสตร์จาก ISEAS Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ ให้ทัศนะกับไทม์ว่า คำตัดสินนี้ “ขจัดความหวังในการเปลี่ยนแปลงสถานะการปกครองแนวอนุรักษ์นิยมที่เป็นอยู่ผ่านช่องทางรัฐสภา” และว่า “ขอบเขตที่ชัดเจนได้ถูกกำหนดแล้ว และสิ่งนี้ได้ทำให้บทบาทของพรรคก้าวไกลเผชิญกับวิกฤตด้านอัตลักษณ์ของพรรค”
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ในการต่อต้านพรรค นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยมายาวนาน ขณะที่ ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้ว่ามีอย่างน้อย 263 คนที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2020 เป็นต้นมา
- ที่มา: รอยเตอร์, เอพี, บลูมเบิร์ก และไทม์
กระดานความเห็น