เหล่านักเคลื่อนไหวขยายผลคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้พรรคก้าวไกลยุติการผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ด้วยการยื่นองค์กรอิสระให้ยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองผู้เกี่ยวข้องตลอดชีวิต ตามการรายงานของรอยเตอร์
ในวันศุกร์ ตามเวลาท้องถิ่น สนธิยา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นที่รู้จักจากการยื่นร้องเรียนประเด็นการเมืองต่อองค์กรอิสระต่าง ๆ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคก้าวไกล 44 คน ที่ไปลงชื่อเสนอร่างแก้ไข ม.112
สนธิยาระบุว่า หวังให้ทั้ง 44 รายถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมขั้นรายแรง และยังระบุด้วยว่า แผนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวถือเป็น “มรดกบาป”
พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว โดยมีนโยบายหาเสียงหลายประเด็น เช่น ทลายทุนผูกขาด ลดอิทธิพลของกองทัพในทางการเมือง รวมถึงข้อเสนอแก้ไข ม.112 ที่กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หลังเผชิญแรงต่อต้านจากสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหาร
คำร้องของสนธิยา พุ่งเป้าไปที่ ส.ส. ก้าวไกลจำนวนรวม 44 คน ซึ่ง 29 คนในนั้นยังดำรงตำแหน่งอยู่
คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธระบุว่าการหาเสียงด้วยนโยบายแก้ไข ม.112 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและสั่งให้ยุติการกระทำ
หนึ่งวันต่อมา เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันพฤหัสบดีให้ยุบพรรคก้าวไกล โดย กกต. จะพิจารณาคำร้องนี้ก่อนจะตัดสินใจว่า จะส่งต่อให้กับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการตัดสินหรือไม่ต่อไป
ส่วนสื่อบลูมเบิร์กรายงานว่า ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ เป็นอีกคนที่ยื่นเรื่องแบบเดียวกันต่อ กกต. เพื่อพิจารณายุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี
- ที่มา: รอยเตอร์, ข้อมูลบางส่วนจากบลูมเบิร์ก
กระดานความเห็น