หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่แล้ว ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนชี้ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเหมือนสัญญาณล่าสุดที่แสดงถึงการถอยหลังของประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยนักวิเคราะห์บางคนมองว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เท่ากับการผลักให้ประเทศไทยกลับไปสู่ยุคของการเมืองสีเสื้ออีกครั้งหนึ่ง
อย่างเช่นคุณฟรานซิส คาสโตร สมาชิกสภานิติบัญญัติของฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นว่าพรรคอนาคตใหม่นับเป็นตัวอย่างล่าสุดของบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ถูกคำสั่งให้ยุบพรรค และว่าเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่าพรรคการเมืองใดก็ตามซึ่งพยายามสั่นคลอนการครอบงำของกองทัพและกลุ่มผู้ที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้รับการยกเว้น
ส.ส.ของฟิลิปปินส์ผู้นี้ยังเสริมด้วยว่า คำวินิจฉัยครั้งล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญของไทยนับเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผู้นำกองทัพไทยยังไม่ยอมมอบคืนอำนาจบางส่วนให้กับประชาชนตามที่ได้ให้สัญญาไว้
ส่วนผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองคนอื่นก็มองว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้วซึ่งหลายคนหวังว่าจะเป็นการปูทางให้ไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบการมีตัวแทนในสภานั้น ถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายทหารเท่านั้น
นายอาเบล ดาซิลวา สมาชิกรัฐสภาของติมอร์เลสเต้ มองว่าคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญได้ลงโทษพรรคอนาคตใหม่รุนแรงเกินกว่าฐานความผิดตามที่มีการอ้างเหตุผลในคำวินิจฉัย และว่า ดูเหมือนว่าพรรคอนาคตใหม่ถูกลงโทษในลักษณะดังกล่าวเพราะเป็นพรรคการเมืองที่ท้าทายอำนาจของพรรครัฐบาล
ส่วนกลุ่ม Asean Parliamentarians for Human Rights หรือกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ชี้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการทำ "นิติสงคราม” ซึ่งรัฐบาลของหลายประเทศในสมาคมอาเซียนได้ใช้กฎหมายเพื่อปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง
โดยกลุ่มดังกล่าวได้ยกตัวอย่างการที่พรรค CNRP พรรคฝ่ายค้านสำคัญในกัมพูชาถูกสั่งยุบ และสมาชิกของพรรคก็ถูกตั้งข้อหาซึ่งไม่มีมูล หรืออย่างเช่นในฟิลิปปินส์ ซึ่งนักการเมืองฝ่ายค้านผู้วิพากย์ตำหนิประธานาธิบดีดูแตร์เต้ โดยเฉพาะนโยบายปราบปรามยาเสพติดของผู้นำฟิลิปปินส์ก็ถูกจำคุกหรือถูกตั้งข้อหาอาญาในคดีที่มีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง
สำหรับความเห็นจากนักรัฐศาสตร์ภายนอกภูมิภาคนั้น คุณสตีเวน เลวิสกี้ กับคุณเดเนียล ซีบล๊าท สองนักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิวัติเมื่อปี 2557 เพื่อล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำพาประเทศไทยเข้าสู่กลุ่มซึ่งประกอบด้วยประเทศเผด็จการหลายประเทศ เช่น ฮังการีและอียิปต์
และในหนังสือชื่อ How Democracies Die หรือ "ระบอบประชาธิปไตยได้ล้มตายไปอย่างไร" ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2561 นั้น นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทั้งสองได้ยกตัวอย่างการยึดอำนาจในประเทศไทย รวมทั้งการใช้อำนาจในทางที่ผิดของผู้ปกครองซึ่งแอบอ้างความเป็นประชาธิปไตยในบางประเทศ เช่น ตุรกีและโปแลนด์ ว่าล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยันว่าขณะนี้ระบอบประชาธิปไตยกำลังอยู่ในสภาวะที่ก้าวถอยหลังทั่วโลก