กัมพูชาออกโรงสกัดแผนการร่วมซ้อมรบของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งถูกมองว่า เป็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ที่ทดสอบความพยายามของอาเซียนในการรักษาสมดุลทางความสัมพันธ์กับจีน
พลเรือโทยูโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดตกลงที่จะเข้าร่วมการซ้อมรบครั้งแรกในทะเลจีนใต้ ในเดือนกันยายนนี้ โดยจะมุ่งเน้นการเสริมสร้าง “ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” ขณะที่ รอยเตอร์รายงานว่า โฆษกกองทัพอินโดนีเซีย ระบุว่า เหตุผลของแผนงานนี้คือ “ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่สูงขึ้นในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ทั้งนี้ การซ้อมรบดังกล่าวจะไม่มีการซ้อมปฏิบัติการรบ ตามคำประกาศของอินโดนีเซีย
แต่พลเอก วง พิไสน ผู้บัญชาการทหาร กองทัพบกพระราชอาณาจักรกัมพูชา ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า กัมพูชายังไม่ได้ตกลงว่าจะเข้าร่วมการซ้อมรบนี้ และว่า ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียเพียงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือ แต่กัมพูชา “และอีกหลายประเทศ” – โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นประเทศใด – ยังไม่ได้ตอบรับ
พลเอก วง พิไสน กล่าวด้วยว่า แถลงการณ์ร่วมที่ประชุมผู้บัญชาการทหารอาเซียนครั้งที่ 20 ที่จัดขึ้นที่บาหลีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “ไม่ได้มีการพูดถึงการร่วมซ้อมรบอาเซียนในทะเลจีนใต้” ด้วย
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว พลเอก ชุม โซเชียต โฆษกกระทรวงกลาโหมกัมพูชา บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาเขมร ว่า กองทัพกัมพูชายังไม่ได้ยืนยันต่อ “คำร้องขอ” ของอินโดนีเซีย และอ้างว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซีย ก็ยังไม่ได้ตอบรับไปด้วย
วีโอเอ ภาคภาษาเขมร ติดต่อไปยังสถานทูตอินโดนีเซีย สถานทูตไทย และสถานทูตเวียดนาม ในกรุงพนมเปญ เพื่อขอความเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบรับกลับมาภายในช่วงเช้าของวันจันทร์
ผู้เชี่ยวชาญบอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาเขมร ด้วยว่า แผนการร่วมซ้อมรบนี้น่าจะทำให้กรุงปักกิ่งไม่พอใจ เพราะจีนเดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้อย่างหนักหน่วงมาตลอด
หลิว เพิ่งหยู โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน บอกกับ วีโอเอ เมื่อวันจันทร์ว่า แม้จะยังไม่ทราบรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับแผนการซ้อมรบของอาเซียน “จีนเชื่อว่า ความร่วมมือด้านความมั่นคงและด้านกลาโหมระหว่างประเทศต่าง ๆ นั้นต้องนำไปสู่เสถียรภาพและสันติสุขในภูมิภาค พวกเขาไม่ควรยกระดับความตึงเครียดหรือบั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศทั้งหลาย”
วาน บุนนา นักวิจัยจาก Cambodian Institute for Cooperation and Peace บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาเขมร ว่า เดิมพันของการตัดสินใจของกัมพูชาในเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะแผนการซ้อมรบนี้มีแต่จะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียน และยกระดับความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ด้วย
ส่วน เส็ง สารี นักวิจัยด้านการเมืองจาก มหาวิทยาลัยแห่งเมลเบิร์น (University of Melbourne) บอกับ วีโอเอ ภาคภาษาเขมร เมื่อวันเสาร์ที่แล้วว่า กัมพูชาควรจะพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง เพราะการตัดสินใจใด ๆ ที่ออกมาจะกลายมาเป็นตัวบ่งชี้ว่า รัฐบาลพนมเปญเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับฝ่ายใดในประชาคมโลกกันแน่
- ที่มา: วีโอเอ