รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ร่วมประชุมที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ในสัปดาห์นี้ โดยมีประเด็นสำคัญเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เป็นประเด็นหลักของการหารือ
นักวิเคราะห์คาดว่า ฟิลิปปินส์น่าจะพยายามหยิบยกเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นมาหารือ ภายใต้นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่โดยการนำของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่มีจุดยืนค่อนข้างแข็งกร้าวกว่าประธานาธิบดีคนก่อนในเรื่องนี้
สมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ต่างต้องการให้อาเซียนมีจุดยืนร่วมกันเรื่องการจัดทำระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ (Code of Conduct for the South China Sea) แต่นักวิจารณ์กล่าวหาว่า จีนต้องการเจรจาเป็นรายประเทศมากกว่า และใช้กัมพูชาเป็นตัวแทนในการขัดขวางการจัดทำระเบียบปฏิบัติดังกล่าว รวมทั้งขัดขวางแนวทางการทูตที่ตรงข้ามกับจีน
เมื่อ 10 ปีที่แล้วตอนที่กัมพูชารับหน้าที่ประธานอาเซียนครั้งก่อน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 45 ปีที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนไม่สามารถจัดทำแถลงการณ์ร่วมกันได้ หลังจากที่กัมพูชาคัดค้านการระบุชื่อจีนไว้ในแถลงการณ์ว่าด้วยประเด็นทะเลจีนใต้ นำไปสู่การผิดใจกับฟิลิปปินส์และเวียดนามในเวลานั้น และกลายเป็นความผิดพลาดทางการทูตครั้งใหญ่ของกัมพูชาที่ถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของจีนในเวทีอาเซียน ซึ่งสร้างรอยร้าวภายในอาเซียนในเวลาต่อมา
การไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเมียนมา
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความพยายามของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน แห่งกัมพูชา ประธานอาเซียนปีนี้ ที่ต้องการผสานสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับรัฐบาลทหารเมียนมา ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นความแตกแยกภายในอาเซียน
สถานการณ์ในเมียนมายิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 คนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งการประกาศขยายเวลาใช้สถานการณ์ฉุกเฉินไปอีก 6 เดือนในวันจันทร์
นักวิเคราะห์ระบุว่า มีความปรารถนามากขึ้นในหมู่ผู้นำอาเซียนให้ประชาคมโลกยื่นมือเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ในเมียนมา และการประชุมรัฐมนตรีของอาเซียนในสัปดาห์นี้จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างแรงกระเพื่อมบนเวทีโลก แม้ยังคงมีความแตกแยกในหมู่สมาชิกอาเซียนก็ตาม
นักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ต่างแสดงความเห็นใจต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจาในเมียนมา และต่างต่อต้านการนำผู้นำทหารเมียนมากลับเข้าสู่การประชุมสุดยอดอาเซียนหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน สภาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights) กล่าวหาประเทศไทย กัมพูชา และลาว ว่าให้ความช่วยเหลือผู้นำทหารเมียนมา
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล่าวระหว่างเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนที่แล้ว แสดงความผิดหวังที่อาเซียนไม่สามารถหามาตรการร่วมกันเพื่อกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาและพลเอกมิน อ่อง หล่าย โดยระบุว่า "น่าเสียใจที่ต้องบอกว่าเราไม่เห็นสัญญาณด้านบวกในเรื่องเมียนมา" "ในทางตรงกันข้าม ยังคงมีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลทหารเมียนมา"
ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน
เศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด อัตราเงินเฟ้อสูง และสงครามในยูเครน ส่งผลให้ประชากรเกือบ 5 ล้านคนในอาเซียนต้องกลับไปอยู่ในภาวะยากจนที่สุดอีกครั้ง ตามรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank)
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัญหาความยากจนยังคงเป็นปัญหาหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินเฟ้อทำให้อำนาจการใช้จ่ายของประชาชนลดลง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้สำคัญก็ประสบความชะงักงันจากการะบาดของโควิด และการลงทุนจากต่างชาติก็น้อยลงไป
สมาชิกอาเซียนรายที่ 11 ?
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียนในสัปดาห์นี้ คือการรับ ติมอร์ตะวันออก เข้าเป็นสมาชิกรายที่ 11 ซึ่งขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากชาติสมาชิกเกือบทุกประเทศ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่า อุปสรรคสำคัญสองประการในเรื่องนี้คือ หนึ่ง ความสามารถของติมอร์ตะวันออกในการปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านเงินทุนสำหรับการเข้าร่วมอาเซียน และสอง คือความใกล้ชิดระหว่างติมอร์ตะวันออกกับจีน
นักวิเคราะห์ชี้ว่า "มีความกังวลในหมู่สมาชิกว่าติมอร์ตะวันออกอาจกลายเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงของจีนในเวทีอาเซียน ซึ่งหลายประเทศไม่ต้องการและกำลังคัดค้าน นำโดยสิงคโปร์"
ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนครั้งนี้จะมีประเทศเข้าร่วมหลายประเทศในฐานะคู่เจรจา รวมทั้ง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และรัสเซีย
- ที่มา: วีโอเอ