สมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เตรียมพร้อมจัดการซ้อมรบร่วมกันเป็นครั้งแรกในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดและความไม่แน่นอนในภูมิภาคนี้กำลังยกระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า อินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนเปิดเผยเรื่องนี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยระบุว่า การตัดสินใจแผนงานนี้เกิดขึ้นระหว่างการประชุมของผู้บัญชาการกองทัพจากทั้ง 10 ประเทศสมาชิก และว่า การซ้อมรบดังกล่าวจะจัดขึ้นในพื้นที่ทะเลนาทูนาเหนือ ซึ่งเป็นบริเวณทางใต้สุดของทะเลจีนใต้
รายงานข่าวจากสำนักข่าวอันตารา (Antara) ของรัฐบาลกรุงจาการ์ตา รายงานว่า พลเรือโทยูโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซีย กล่าวว่า การซ้อมรบนี้จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนและจะไม่มีการฝึกปฏิบัติการณ์สู้รบ แต่จะเน้นเรื่องของความมั่นคงและปฏิบัติการกู้ชีพทางทะเล เพราะแผนงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อจะเสริมสร้าง “ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน” โดยนอกจากเจ้าหน้าที่กองทัพของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ตัวแทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
จูเลียส วิดโจโจโน โฆษกกองทัพอินโดนีเซีย เปิดเผยด้วยว่า การซ้อมรบร่วมกันครั้งแรกของสมาชิกอาเซียนมีความเกี่ยวเนื่องกับ “ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติในระดับสูงในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นความสามัคคีภายในกลุ่มอาเซียนในทะเลจีนใต้ถูกท้าทายหลายต่อหลายครั้งโดยทั้งสหรัฐฯ และจีน
ความท้าทายที่ว่านี้อาจถูกแบ่งออกเป็นสองประเด็น อันได้แก่ การที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน และมาเลเซีย เผชิญหน้ากับจีนที่อ้างอธิปไตยในน่านน้ำนี้ซึ่งกินพื้นที่ไปถึงบริเวณที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซียด้วย และการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศเคยทำการร่วมซ้อมรบกับสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง
ทะเลจีนใต้ซึ่งมีเส้นทางเดินเรือเพื่อการขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าต่อปีถึงราว 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นพื้นที่ที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่จีนเดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์ของตนด้วยการส่งกองกำลังยามชายฝั่งและเรือประมงออกตระเวณตามจุดต่าง ๆ ที่ห่างจากชายฝั่งจีนเป็นระยะทางไกลถึง 1,500 กิโลเมตรเลยทีเดียว
จีนนั้นยังอ้างอธิปไตยของตนตามเส้นประ 9 เส้นจากแผนที่โบราณ ซึ่งศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินในปี ค.ศ. 2016 ว่า ใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายไม่ได้ จึงทำให้จีนไม่มี ‘สิทธิ์ตามประวัติศาสตร์’ ในบริเวณที่กล่าวอ้าง
อาเซียนพยายามผลักดันให้มีการจัดทำประมวลการปฏิบัติทางทะเล (maritime code of conduct) ร่วมกับจีนให้เสร็จสิ้นเพื่อลดความเสี่ยงของเหตุขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่กรุงปักกิ่งอ้างว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของตนให้ได้ แต่ก็ยังเกิดเหตุทะเลาะเบาะแว้งระหว่างประเทศสมาชิกและจีนขึ้นอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ในส่วนของแผนซ้อมรบอาเซียนที่จะเกิดขึ้นนี้ มีการประกาศออกมาหลังกรุงวอชิงตันเพิ่งเรียกร้องให้กรุงปักกิ่งยุติพฤติกรรม “ยั่วยุ” ในน่านน้ำที่ยังเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนกับหลายประเทศ ซึ่งเป็นการอ้างถึงเหตุการณ์เรือรบของฟิลิปปินส์และจีนเกือบชนกัน และเหตุการณ์นักบินของกองทัพจีนทำการบินเสี่ยงอันตรายใกล้ ๆ กับเครื่องบินลาดตระเวณของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้
นอกจากนั้น เรือของจีนยังมักล่วงล้ำเข้ามาในน่านน้ำทะเลนาทูนาเหนือ ที่อินโดนีเซียอ้างกรรมสิทธิ์ และเป็นจุดที่จะจัดการซ้อมรบร่วมครั้งแรกของอาเซียน จนทำให้ประชาชนในกรุงจาการ์ตาออกมาประท้วงกรุงปักกิ่งเป็นระยะ ๆ
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ที่ผ่านมา อาเซียนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า เป็นเพียงการรวมกลุ่มของคนที่ได้แต่พูดและไร้พิษสง (toothless talking shop) ขณะที่ หลักการกฎบัตรของกลุ่มที่บังคับให้ต้องมีฉันทามติในการตัดสินใจทุกเรื่องและการไม่แทรกแซงกิจการของแต่ละประเทศสมาชิก คือ ปัจจัยให้กลุ่มประเทศนี้ไม่มีกำลังจัดการเรื่องใด ๆ ได้เลย
- ที่มา: รอยเตอร์และเอเอฟพี