เป็นเวลาราว 1 ปีแล้วที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดตัวแนวคิดริเริ่ม ‘กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ หรือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) เพื่อสร้างกลุ่มพันธมิตรด้านการค้าการลงทุนกลุ่มใหม่ขึ้นมา และล่าสุด ตัวแทนของประเทศที่เกี่ยวข้องได้บรรลุความคืบหน้าการเจรจาความร่วมมือที่ทำเนียบขาวเรียกว่าเป็น “ข้อตกลงครั้งสำคัญ” แล้ว
แนวคิดริเริ่ม IPEF ที่รัฐบาลปธน.ไบเดนผลักดันให้มีการจัดตั้งนั้น จนถึงบัดนี้ มีรัฐบาลของ 14 ประเทศร่วมลงนามเป็นสมาชิกแล้ว
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตัวแทนจากประเทศสมาชิกทั้งหมดได้เดินทางมาร่วมประชุมที่สหรัฐฯ เพื่อหารือแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคนี้
จินา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เป็นผู้ประกาศรายละเอียดของแผนงานนี้ ซึ่งมีทั้งการจัดตั้งเครือข่ายรับมือวิกฤตที่จะทำหน้าที่แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการตั้งสภาแห่งใหม่เพื่อรับผิดชอบการประสานงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
มาร์ค มีลลี จากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council : USABC) อธิบายให้ วีโอเอ ฟังเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของแผนงานนี้ โดยสมมติสถานการณ์ ว่า “[หาก] ประเทศหนึ่งยอมตกลง เราก็จะไม่ดำเนินการสั่งห้ามการส่งออกถุงมือยาง เพื่อตอบโต้สถานการณ์ระบาดใหญ่ในอนาคต ... เราจะตกลงที่จะทำการทุกอย่างให้มั่นใจว่า เรามีการประสานงานกันหากจะต้องมีการออกมาตรการจำกัดการเดินทางทางอากาศด้วย”
ทั้งนี้ จีนไม่ได้เป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือนี้ (IPEF) แต่ตัวแทนสูงสุดด้านการค้าของกรุงปักกิ่งได้เข้ามาร่วมการประชุมที่จัดขึ้นที่นครดีทรอยต์ในครั้งนี้ด้วย
หวัง เหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ที่มาเข้าประชุมด้วย ได้พบกับรมต.ไรมอนโด ของสหรัฐฯ ก่อนจะร่วมหารือกับ แคเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในการประชุมนอกรอบ
ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังการหารือกับ รมต.หวังว่า ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีความสำคัญอย่างมากต่อทั้งสองประเทศ ในฐานะที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองก็ล้วนมีผลเกี่ยวพันกันเสมอ ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แรงงาน ธุรกิจ หรือชนชั้นกลาง แต่มีผลต่อโลกทั้งโลกเลยด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับทั้งสองประเทศอย่าง เบน จาง ซีอีโอของบริษัท Greater Pacific Industries ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการจัดหาผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการตลาดให้กับธุรกิจต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในนครซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า ยังไม่มีประเทศใดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มีความสามารถด้านการแข่งขันกับภาคการผลิตของจีนแม้แต่น้อย
จาง กล่าวว่า การจะพัฒนาประเทศในกลุ่ม IPEF ให้มีขีดความสามารถในการผลิตที่จะตอบสนองความต้องการสินค้าใด ๆ ได้เท่ากับจีนต้องใช้เวลาอีกนานแสนนาน เพราะสำหรับจีนนั้น ทันทีที่มีคนนำเสนอโครงการมา เพียงไม่นาน จีนก็นำเสนอออเดอร์ได้สมบูรณ์แล้ว
อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน กลายมาเป็นแรงกดดันให้กับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงธุรกิจของ จาง ให้ต้องดำเนินกลยุทธ์หาแหล่งผลิตสินค้าทางเลือกนอกจากจีนไว้ด้วย แต่มาตรการจำกัดต่าง ๆ ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งหมายถึงความยากลำบากในการหาตัวผู้ผลิตรายใหม่มาสำรองแทนผู้ผลิตในจีนนั่นเอง
ในเรื่องนี้ จาง จาก บริษัท Greater Pacific Industries กล่าวว่า “ทุกอย่างที่เราทำได้ ต้องทำผ่านระบบซูม (Zoom) และการประชุมวิดีโอคอลล์ แต่นั่นมันก็ไม่เหมือนกับการได้จับมือ นั่งรับประทานอาหาร” ซึ่งผู้บริหารรายนี้บอกว่า เป็นส่วนที่ทำให้คู่สนทนาได้เรียนรู้เกี่ยวกับว่าที่คู่ค้ามากขึ้น และการขาดซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวนั้นก็ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่า บริษัทใหม่ ๆ นี้น่าเชื่อถือเพียงใด ซึ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องเดิมพันเอานั่นเอง
ด้วยเหตุผลนี้เอง ธุรกิจหลายแห่งจึงไม่มีทางหรือโอกาสที่จะหาทางแยกตัวจากฐานการผลิตได้ด้วยตนเอง และการเดินหน้าแนวคิดริเริ่ม ‘กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ จึงกลายมาเป็นความหวังที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ไม่ต้องเสี่ยงเดิมพันมากในอนาคตอันใกล้นี้
- ที่มา: วีโอเอ