ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์อุปสรรคของสหรัฐฯ ในการคานอำนาจจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


Biden ASEAN
Biden ASEAN

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีกำหนดร่วมประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาในสัปดาห์หน้า และหวังจะใช้เวทีนี้กระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางอิทธิพลของจีน

บทบาทของสหรัฐฯและจีนในภูมิภาคนี้ ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบเสมือนสมรภูมิทางการทูตระหว่างสองมหาอำนาจ และแม้อเมริกาจะตั้งความหวังในการสร้างความคืบหน้าด้านต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นักวิเคราะห์เห็นว่า ความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะตีกรอบจีนน่าจะพบกับอุปสรรค

โจแอน ลิน เว่ยหลิง ผู้ประสานงานร่วมแห่งศูนย์ “อาเซียนศึกษา” ที่สถาบัน ISEAS Yusof Ishak ที่สิงคโปร์ กล่าวถึงความยากลำบากที่รอสหรัฐฯ อยู่ ในการประชุมสุดยอด สหรัฐฯ-อาเซียน วันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ประธานาธิบดีไบเดน มีกำหนดหารือด้วยตนเอง

เธอบอกว่า “จีนเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของภูมิภาคนี้ และจีนได้สร้างรากฐานความร่วมมือระดับปฏิบัติการกับอาเซียนไว้หลายด้าน ไปเรียบร้อยแล้ว”

ภายใต้สิ่งท้าทายดังกล่าว สหรัฐฯ หวังที่จะได้รับความร่วมมือกับอาเซียนในด้านต่าง ๆ เช่น การเดินเรือ การพัฒนาที่ยั่งยืน ระบบคมนาคมขนส่ง เศรษฐกิจ และการเชื่อมต่อกันของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน

สิ่งท้าทายอีกประการหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้คือ ท่าทีการรักษาสมดุลกับมหาอำนาจของประเทศต่าง ๆ ตามทัศนะของ ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch ฝ่ายเอเชีย

เขาบอกกับวีโอเอภาคภาษาเขมรว่า “ความจริงของภูมิภาคนี้คือ ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนมากพยายามอย่างสุดแรงเพื่อที่จะไม่ให้ตนเองถูกบังคับเลือกว่าอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ หรือ จีน”

“มีความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ ที่รัฐต่าง ๆ ต้องการได้ประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายและในเวลาเดียวกันก็สร้างภาระผูกพันให้น้อยที่สุด เพราะอาจทำให้เกิดปัญหากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

In this photo released by Xinhua News Agency, Chinese President Xi Jinping waves as he chairs the ASEAN-China Special Summit to commemorate the 30th Anniversary of ASEAN-China Dialogue Relations via video link from Beijing, China on Monday, Nov. 22, 2021.
In this photo released by Xinhua News Agency, Chinese President Xi Jinping waves as he chairs the ASEAN-China Special Summit to commemorate the 30th Anniversary of ASEAN-China Dialogue Relations via video link from Beijing, China on Monday, Nov. 22, 2021.

ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมต่างหวังที่จะกระตุ้นความร่วมมือพหุภาคี ผ่านการเป็นหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน หรือ U.S.-ASEAN Comprehensive Strategic Partnership

อีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความสลับซับซ้อนต่อการพบกันครั้งนี้คือ ประเด็นความขัดแย้งในจุดต่าง ๆ ของโลก ทั้งสงครามในยูเครน และการที่จีนมุ่งหมายที่จะควบคุมไต้หวัน

และภายในภูมิภาคเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้เอง ก็มีประเด็นร้อนจากการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว

แม้อาเซียนต้องการแสดงบทบาทเป็นผู้รักษาสันติภาพ แต่เมียนมาปฏิเสธการแทรกแซงใด ๆ จากภายนอก

ฟิล โรเบิร์ตสันแห่ง Human Rights Watch กล่าวว่า เมียนมาจะเป็นหัวข้อการหารือที่เป็นหัวใจของการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนที่กรุงพนมเปญ

เขากล่าวเสริมด้วยว่า เมื่อประเทศในอาเซียนต้องแสดงความมุ่งมั่นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน “รัฐบาลกรุงวอชิงตันไม่น่าจะได้ข้อตกลงใด ๆ ที่หนักแน่นเลย”

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG