ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์ซ้อมรบจีน-รัสเซีย: สัญญาณความร่วมมือแนบแน่นสองมหาอำนาจ


จีนและรัสเซียเผยแผนจัดการซ้อมรบร่วมกันในทะเลญี่ปุ่น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นสัญญาณล่าสุดของความร่วมมือทางทหารที่เพิ่มขึ้นของสองประเทศมหาอำนาจ และยังอาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต้านทานความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นของสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรในเอเชียด้วย

สตีเฟน นากีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาค แห่งมหาวิทยาลัยอินเตอร์เนชันแนล คริสเตียน (International Christian University) กล่าวกับวีโอเอว่า "รัสเซียกับจีนกำลังพยายามส่งสัญญาณไปถึงญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อความร่วมมือกับองค์การนาโต้ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนี้ และเพื่อพิสูจน์ว่าจีนและรัสเซียก็สามารถมีความสัมพันธ์กันในระดับเดียวกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้เช่นกัน"

นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า สำหรับรัสเซีย การซ้อมรบครั้งนี้คือการแสดงให้เห็นว่า รัสเซียยังคงมีศักยภาพในการจัดการความขัดแย้งต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันออก และสามารถทำงานร่วมกับจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเพื่อสร้างแรงกดดันต่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับญี่ปุ่น

ขณะที่จีนเองก็ต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับรัสเซียในช่วงเวลาสำคัญนี้เช่นกัน

เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศโครงการซ้อมรบ “Northern/Interaction-2023” ซึ่งเริ่มขึ้นแล้วในทะเลญี่ปุ่น และจะมีต่อเนื่องจนถึงวันอาทิตย์ที่ 23 ก.ค.นี้ โดยจะเป็นการซ้อมรบแบบใช้กระสุนปืนใหญ่จริง รวมถึงการซ้อมรบทางทะเลและต่อต้านเรือดำน้ำศัตรูด้วย

รัสเซียระบุว่า เป้าหมายของการซ้อมรบครั้งนี้คือการเพิ่มความร่วมมือทางทะเลระหว่างจีนกับรัสเซีย ตลอดจนการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในแถบเอเชียแปซิฟิก

ทั้งสองประเทศประกาศว่าจะมีเรือมากกว่า 10 ลำ และเครื่องบินทหารมากกว่า 30 ลำ เข้าร่วมในการซ้อมรบดังกล่าวด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่มีทั้งเกองทัพเรือและกองทัพอากาศของรัสเซียเข้ารว่มในการซ้อมรบที่จีนเป็นเจ้าภาพ อ้างอิงจากสื่อโกลบอลไทมส์ของทางการจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า "Northern/Interaction-2023" คือการซ้อมรบครั้งแรกในปีนี้ที่จัดขึ้นใกล้น่านน้ำของญี่ปุ่น แต่เมื่อปีที่แล้ว รัสเซียและจีนจัดการซ้อมรบร่วมกันอย่างน้อย 5 ครั้งในทะเลจีนตะวันออกและทะเลญี่ปุ่น ตามรายงานของ International Institute for Strategic Studies

Chinese navy officers of the People's Liberation Army stand guard near ships during a Russia-China naval drill at a port in Zhanjiang, Guangdong province, China, September 12, 2016. Picture taken September 12, 2016.
Chinese navy officers of the People's Liberation Army stand guard near ships during a Russia-China naval drill at a port in Zhanjiang, Guangdong province, China, September 12, 2016. Picture taken September 12, 2016.

เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ - ร่วมกดดันพันธมิตรอเมริกา

การซ้อมรบร่วมกันระหว่างจีนกับรัสเซีย มีขึ้นขณะที่ความสัมพันธ์ทางทหารของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แข็งแกร่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และในสัปดาห์นี้ ชาติพันธมิตรสามประเทศนี้ได้ซ้อมรบไตรภาคีร่วมกันเพื่อป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธในทะเลญี่ปุ่น ในกรณีที่เกิดภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ

ซ่ง จงปิง นักวิเคราะห์ด้านการทหารของจีน ให้ความเห็นว่า การซ้อมรบของจีนและรัสเซียคือ "การตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน" ต่อการซ้อมรบไตรภาคีดังกล่าว โดยมุ่งเน้นที่การฝึกป้องกันตนเองทางอากาศ การต่อต้านขีปนาวุธ ต่อต้านเรือรบและต่อต้านเรือดำน้ำศัตรู และคาดว่าจะมีการลาดตระเวนทั้งทางทะเลและอากาศร่วมกันหลังการซ้อมรบเสร็จสิ้นแล้วด้วย เพื่อแสดงถึงเสรีภาพในการเดินทางในบริเวณน่านน้ำแห่งนี้ที่ถือเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของจีนและรัสเซียไปยังแถบแปซิฟิกตะวันตก

ขณะที่ หลิน ยิง-ยู ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพจีนแห่งมหาวิทยาลัยทัมกัง (Tamkang University) ในไต้หวัน กล่าวกับวีโอเอว่า รัฐบาลจีนต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์ของรัสเซียในการป้องกันกองเรือของตนจากการโจมตีในสงครามยูเครน "เนื่องจากในช่วงสงคราม กองทัพยูเครนโจมตีด้วยขีปนาวุธและเครื่องบินรบใส่เรือของรัสเซีย กองทัพเรือรัสเซียจึงมีประสบการณ์ในการรับมือการโจมตีในลักษณะนั้น"

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ชี้ว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์คล้ายกันหากตัดสินใจโจมตีใส่ไต้หวัน ซึ่งไต้หวันก็จะใช้วิธีตอบโต้ด้วยขีปนาวุธและโดรนใส่เรือรบจีนเหมือนที่ยูเครนทำมาแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าจะมีการจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสงครามยูเครนระหว่างการซ้อมรบของจีนกับรัสเซียครั้งนี้ด้วย

Warships from various countries take part in multinational military exercise, “Aman” or peace exercise in the Arabian Sea near Karachi, Pakistan, Monday, Feb. 15, 2021.
Warships from various countries take part in multinational military exercise, “Aman” or peace exercise in the Arabian Sea near Karachi, Pakistan, Monday, Feb. 15, 2021.

'อินโด-แปซิฟิก' พื้นที่โชว์กำลังทางทหารชาติมหาอำนาจ

นักวิเคราะห์ หลิน ยิง-ยู เชื่อว่า จะมีการซ้อมรบระหว่างสองชาติมหาอำนาจในแถบเอเชียแปซิฟิกอีกหลายครั้งต่อจากนี้ เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์แบบ "ไร้ขีดจำกัด" ระหว่างกัน โดยเฉพาะในฝั่งของรัสเซียที่ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นทางการทูต และต้องการพึ่งพาจีนในฐานะพันธมิตรสำคัญที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศ

ขณะเดียวกัน เซิน หมิง-ซือ ผอ.สถาบันวิจัยด้านความมั่นคงและการป้องกันตนเองแห่งชาติ (Institute for National Defense and Security Research) ของไต้หวัน เชื่อว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรก็จะเพิ่มขนาดและจำนวนการซ้อมรบในภูมิภาคนี้เพื่อตอบโต้ต่อการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนและรัสเซียเช่นกัน

ถึงกระนั้น หลิน ยิง-ยู ชี้ว่า สิ่งที่ต้องจับตามองคือ ญี่ปุ่นจะปรับแก้สนธิสัญญาด้านความมั่นคงว่าด้วยการป้องกันประเทศ เพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือไม่ ภายใต้ภัยคุกคามจากรัสเซียทางทิศเหนือ จีนจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ และจรวดมิสไซล์จากเกาหลีเหนือที่ไม่รู้จะตกลงมาบริเวณไหน เมื่อใด

  • ที่มา: วีโอเอ

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG