สหรัฐฯ-จีน กับ ศึกสร้างพันธมิตรในเอเชียที่ร้อนแรงขึ้น

Chinese Foreign Minister Wang Yi, left, greets with Cambodian counterpart Prak Sokhonn in Phnom Penh, Cambodia, Sept. 12, 2021.

Your browser doesn’t support HTML5

US China Tug of War


ศึกชิงความเป็นผู้นำโลกระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกจับตาดูอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ทั้งสองประเทศเดินหน้าผูกสัมพันธ์สร้างพันธมิตรในเอเชียอย่างแข็งขัน ด้วยการดำเนินนโยบายเดินทางเยือนและหยิบยื่นความช่วยเหลือต่างๆ มากมาย

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกเดินสายเยือนหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งจะเสร็จสิ้นการเยือนภูมิภาคนี้ไปเมื่อก่อนหน้า ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสองประเทศมหาอำนาจในการช่วงชิงแรงหนุนจากรัฐบาลต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงขึ้น ขณะที่

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ประเทศที่มีขนาดเล็กทั้งหลายน่าจะมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือทั้งจากจีนและสหรัฐฯ ต่อไปได้ ตราบใดที่ยังสามารถหลีกเลี่ยงไม่ทำให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งเคืองได้

ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า ประเทศต่างๆ ในเอเชียน่าจะได้รับประโยชน์ในรูปของอุปกรณ์และการอบรมทางการทหารจากกรุงวอชิงตัน พร้อมๆ กับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากกรุงปักกิ่ง อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในทวีปยูเรเชีย ซึ่งจีนให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้มากมาย รวมทั้งความช่วยเหลือด้านวัคซีนโควิด-19 ที่ทั้งสองประเทศเร่งนำส่งให้ไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา

อเล็กซานเดอร์ วูวิง ศาสตราจารย์จากศูนย์ Daniel K. Inouye Asia-Pacific Center for Security Studies ซึ่งตั้งอยู่ในฮาวาย และเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ศึกช่วงชิงอำนาจอ่อน (Soft Power) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในเวลานี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อประเทศขนาดเล็กทั้งหลาย ที่เป็นเป้าหมายของการระดมอำนาจอ่อนที่ว่า แต่ขณะเดียวกัน โอกาสสำหรับประเทศเหล่านั้นจะกอบโกยผลประโยชน์จากศึกครั้งนี้เริ่มลดลงเรื่อยๆ แล้ว

Vietnamese Prime Minister Pham Minh Chinh and Chinese Foreign Minister Wang Yi walk into meeting room in Hanoi, Vietnam, Sep.11, 2021.

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รมต.หวังอี้ ของจีน เพิ่งเดินทางไปเยือนเวียดนาม ซึ่งเป็นจุดหมายแรกของแผนการเยือน 4 ประเทศ เพื่อหารือประเด็นการค้า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นทางการเมือง โดยฝั่งเวียดนามกล่าวว่า รัฐบาลกรุงฮานอย “ให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์กับจีนเป็นอันดับต้นๆ ของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตน” ซึ่งจุดยืนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความตึงเครียดในด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งพยายามผลักดันสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งขึ้นกับเวียดนามมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017

การเดินทางเยือนเวียดนามของรัฐมนตรีต่างประเทศจีนยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ เวียดนามลงนามในข้อตกลงการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีด้านกลาโหมจากญี่ปุ่นมาให้ตน โดยการเดินหมากดังกล่าวของเวียดนามถูกมองว่าเป็นการตอบโต้จีนที่พยายามทำการรุกคืบสร้างอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

การทูตวัคซีน

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศความพร้อมที่จะส่งวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1 ล้านโดสให้เวียดนาม พร้อมตกลงที่จะจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ในกรุงฮานอยด้วย

แต่ในระหว่างการเยือนเวียดนามครั้งนี้ รมต.หวังอี้ ได้สัญญาที่จะส่งมอบวัคซีนจำนวน 3 ล้านโดสให้รัฐบาลกรุงฮานอยเช่นกัน

ยุน ซุน ผู้อำนวยการร่วมของโครงการ East Asia แห่ง Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวียดนามแสดงให้เห็นว่า ประเทศแห่งนี้กำลังเป็นเป้าหมายของการแข่งขันระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอยู่

วีโอเอ ภาคภาษาเขมร รายงานเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยว่า จีนยังสัญญาที่จะส่งมอบวัคซีนจำนวน 3 ล้านโดสให้กับกัมพูชา ที่เพิ่งรับมอบเงินช่วยเหลือมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลกรุงปักกิ่งไป ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า กัมพูชานั้นโอนเอียงไปทางจีนมากกว่าสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด

เกมการสร้างสมดุล

นอกจากประเทศเพื่อนบ้านไทยทั้งสองแห่งที่กล่าวมาแล้ว รมต.หวังอี้ ของจีน เดินทางถึงสิงคโปร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากเผยแพร่ความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศว่า จีนนั้นหวังที่จะ “พัฒนาความร่วมมือ(กับสิงคโปร์)ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”

Singapore China

และขณะที่ ยุน ซุน ผู้อำนวยการรวมของโครงการ East Asia แห่ง Stimson Center ระบุว่า จีนและสหรัฐฯ ต่างมองว่า สิงคโปร์นั้น คือ ประเทศที่มีความเป็นกลางในเอเชีย อเล็กซานเดอร์ วูวิง จากศูนย์ Daniel K. Inouye Asia-Pacific Center for Security Studies มองว่า สิงคโปร์และเวียดนาม ประสบความสำเร็จใน “การสร้างสมดุล” ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ

ขณะเดียวกัน จีนและสหรัฐฯ เดินหน้าพุ่งเป้าไปยังฟิลิปปินส์ด้วย โดยทางรัฐบาลกรุงปักกิ่งเพิ่งสัญญาที่จะส่งมอบความช่วยเหลือให้กับรัฐบาลกรุงมะนิลา ซึ่งเพิ่งตกลงที่จะฟื้นฟูข้อตกลงความร่วมมือทางการทหาร Visiting Forces Agreement กับสหรัฐฯ ไปเมื่อเร็วๆ นี้ หลังกองทัพสหรัฐฯ ช่วยฝึกทหารฟิลิปปินส์เพื่อเตรียมรับมือกับปฏิบัติการใดๆ ของจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นจุดพิพาทระหว่างสองประเทศอยู่

หากใกล้ชิดสหรัฐฯ เกินไป

ในกรณีที่ประเทศใดแสดงความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เกินไป จีนอาจดำเนินมาตรการที่เป็นสัญญาณความไม่พอใจออกมาได้เสมอ ดังเช่นในกรณีของเกาหลีใต้ ที่รมต.หวังอี้ มีกำหนดเยือนในวันอังคารและวันพุธ

สตีเฟน เนกี รองศาสตราจารย์อาวุโสด้านการเมืองและการศึกษาระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย International Christian University ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า หลังกรุงโซลบรรลุตกลงกับกรุงวอชิงตันที่จะติดตั้งระบบตรวจจับขีปนาวุธที่มีความสามารถตรวจสอบทั้งจีนและเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2017 กรุงปักกิ่งออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดกรุ๊ปทัวร์เที่ยวเกาหลีใต้ทันที ซึ่งส่งผลให้อัตรานักท่องเที่ยวจีนลดลงถึงสองหลักเลยทีเดียว

กระนั้นก็ตาม สตีเวน คิม นักวิชาการจากสถาบัน Jeju Peace Institute ในเกาหลีใต้ กล่าวว่า กรุงโซลเหมือนจะไม่หวั่นกับท่าทีของจีนเท่าใด เพราะเกาหลีใต้เพิ่งกลายมาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความสามารถที่จะยิงขีปนาวุธนำวิถี จากเรือดำนำ “ที่ปฏิบัติการอย่างเงียบเชียบ” ของตนได้ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่จีนควรกังวลพอควร

สตีเฟน เนกี รองศาสตราจารย์ จากมหาวิทยาลัย International Christian University ให้ความเห็นว่า ในการเยือนเกาหลีใต้ในสัปดาห์นี้ รมต.หวัง น่าจะหยิบยกประเด็นความร่วมมือด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยมีนัยชัดเจนให้กรุงโซลตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์กับจีนไว้ให้ดี

วิถีทางการทูตเชิงรุกต่อเนื่อง

การออกทัวร์นานาประเทศในเอเชียของรัฐมนตรีต่างประเทศจีนครั้งนี้เกิดขึ้น หลัง ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางเยือนสิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ในเดือนกรกฎาคม ก่อนที่ รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จะเยือนเวียดนามและสิงคโปร์เช่นกันเมื่อเดือนที่แล้ว และรัฐมนตรีกลาโหมของจีนออกเดินทางเยือนหลายประเทศในเอเชียในเดือนนี้

SEE ALSO: คามาลา แฮร์ริส ย้ำความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาค ระหว่างเยือนสิงคโปร์

ยุน ซุน ผู้อำนวยการร่วมของโครงการ East Asia แห่ง Stimson Center กล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และจีน เร่งดำเนินแผนงานทางการทูตติดต่อกันอย่างหนักหน่วง ชี้ชัดว่า ทั้งสองมหาอำนาจกำลังเร่งระดับการช่วงชิงแรงหนุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งท้ายที่สุด อาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นประโยชน์มากมายสำหรับประเทศเล็กๆ ทั้งหลาย เพราะทั้งกรุงปักกิ่งและกรุงวอชิงตันคงไม่ยอมที่จะรอมชอมเพื่อให้ได้สิ่งที่ต่างต้องการอย่างแน่นอน