เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกรุงมะนิลาเพิ่งประกาศฟื้นฟูข้อตกลง Visiting Forces Agreement กับกองทัพสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังขู่เมื่อ 18 เดือนก่อนว่าจะยกเลิกแผนงานดังกล่าวไป โดยพัฒนาการเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งน่าจะไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หรือสร้างความประทับใจอันดีให้กับประชาชนชาวฟิลิปปินส์มากพอ
โดยระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์ของ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตรเต้ แห่งฟิลิปปินส์ ประกาศอย่างเป็นทางการว่า กรุงมะนิลาจะเดินหน้าทำตามข้อตกลงอายุ 22 ปีดังกล่าว ที่เรียกกันแบบย่อๆ ว่า VFA แม้ว่า ผู้นำฟิลิปปินส์จะกล่าวออกมาตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้วว่า ตนตั้งใจจะยกเลิกข้อตกลงนี้ หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธการออกวีซ่าให้กับวุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์รายหนึ่ง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ผู้มีส่วนสำคัญในการดำเนินแผนปราบปรามกลุ่มค้ายาเสพติดด้วยมาตรการรุนแรงและการทำวิสามัญฆาตกรรม ที่ทำให้รัฐบาลทั่วโลกไม่เห็นด้วยและออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ปธน.ดูเตร์เต้ ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปี ค.ศ. 2016 น่าจะเพิ่งตระหนักว่า จีนจะไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เมื่อ 5 ปีก่อนว่า จะนำส่งความช่วยเหลือและทำการลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นเม็ดเงินราว 33,000 ล้านดอลลาร์ ในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วของประเทศนี้
นอกจากนั้นการที่เรือสัญชาติจีนเข้ามาทอดสมอบริเวณแนวปะการังที่เป็นจุดพิพาทของทั้งคู่อยู่ เมื่อเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ทางการฟิลิปปินส์ยิ่งไม่พอใจ และกลายมาเป็นประเด็นเตือนกรุงมะนิลาว่า ข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยทางทะเลระหว่างทั้งสองประเทศยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ค้างคาอยู่
ยุน ซุน นักวิชาการอาวุโสและผู้อำนวยการร่วมโครงการเอเชียตะวันออก แห่งศูนย์ Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ถ้าหากรัฐบาลกรุงปักกิ่งทำตามสัญญาได้มากกว่าที่ทำมา ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปธน.ดูเตรเต้ อาจจะคงรักษาจุดยืนปฏิเสธการยกเลิกข้อตกลง VFA กับสหรัฐฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายฝ่ายเห็นตรงกันแล้วว่า คำสัญญาของจีนที่ให้กับปธน.ดูเตรเต้ ไม่เคยจะเกิดขึ้นจริงได้เลย
สื่อท้องถิ่นในฟิลิปปินส์รายงานเมื่อต้นปี ค.ศ. 2019 ว่า ณ เวลานั้น รัฐบาลกรุงมะนิลาได้รับความช่วยเหลือและการลงทุนจากจีนเป็นมูลค่าเพียง 4,700 ล้านดอลลาร์ จากยอดรวมที่สัญญาไว้ทั้งหมด
ในส่วนของข้อตกลง VFA นั้น สหรัฐฯ จะขายอาวุธยุทโธปกรณ์ ทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง และร่วมหารือความร่วมมือด้านการทหารกับฟิลิปปินส์ โดยกองทัพสหรัฐฯ จะได้รับอนุญาตให้เดินทางมาเข้าร่วมการฝึกซ้อมรบกับกองทัพฟิลิปปินส์ ในด้านงานเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายในประเทศ
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ปกครองฟิลิปปินส์ มาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นเวลากว่า 50 ปี ก่อนจะตกลงให้มีการประกาศอิสรภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และในสายตาของรัฐบาลกรุงวอชิงตันในปัจจุบัน ฟิลิปปินส์ คือ ตัวแทนของหนึ่งในห่วงโซ่พันธมิตรในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ที่ตนสามารถทำงานร่วมด้วยได้เพื่อสกัดกั้นความพยายามในการขยายอิทธิพลของจีน
ยุน ซุน แห่งศูนย์ Stimson Center กล่าวเสริมว่า ดูเตรเต้ น่าจะยอมรักษาข้อตกลง VFA ไว้ เพราะฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงต้นปีหน้า แม้ว่า ตามรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น ผู้นำแต่ละคนจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 1 วาระๆ 6 ปี แต่มีกระแสข่าวภายในประเทศว่า ซารา ดูเตรเต้ ผู้เป็นบุตรสาวมีแผนจะลงสมัครรับเลือกตั้ง
นอกจากนั้น ผลการสำรวจที่ทำไว้ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2016 โดยองค์กร Social Weather Stations ซึ่งตั้งอยู่ในนครเคซอนซิตี้ ของฟิลิปปินส์ ชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกองทัพ นิยมชมชอบสหรัฐฯ มากกว่า จีน
ฌอน คิง รองประธานบริษัท Park Strategies ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก เชื่อว่า ดูเตรเต้ หันมาคืนดีกับสหรัฐฯ เพราะต้องการกลบเกลื่อนเรื่องการเมืองของตน เพื่อเปิดโอกาสให้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งอื่นๆ ในอนาคตได้
ในความเป็นจริง หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ดูเตรเต้ ไม่ได้ชอบพอสหรัฐฯ และออกมาให้ความเห็นที่ก่อกระแสต้านสหรัฐฯ อยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อปีที่แล้ว ผู้นำฟิลิปปินส์ ประกาศชัดเจนว่า ตนพึงพอใจที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับกรุงปักกิ่ง มากกว่ากับกรุงวอชิงตันด้วย
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนในเวลานี้ แขวนอยู่กับประเด็นข้อพิพาทการแย่งชิงสิทธิ์พื้นที่ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและพลังงานสำรองสำคัญ โดยจีนไม่สนใจคำโต้แย้งของประเทศคู่พิพาทอื่นๆ และเดินหน้าทำการถมทะเลสร้างเกาะในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสั่งสมกำลังทางทหารของตน
ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองคลี่คลายลงไปครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2016 หลังจากรัฐบาลกรุงมะนิลาเป็นผู้ชนะในศาลโลกที่พิพากษาว่า การที่จีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่พิพาทของทะเลจีนใต้นั้นไม่ถูกต้อง ก่อนที่ ดูเตรเต้ จะริเริ่มการเข้าหาจีนเพื่อสานความสัมพันธ์กันใหม่
แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลฟิลิปปินส์เริ่มเข้าหารัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเจรจารายละเอียดข้อตกลง VFA ที่กรุงมะนิลา ต้องการให้สหรัฐฯ รับประกันว่าจะช่วยปกป้องตนในการต่อสู้เรื่องของพิพาทพื้นที่ทางทะเลกับจีน
อย่างไรก็ดี รายงานข่าวระบุว่า จนถึงบัดนี้ สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ยังไม่ได้นั่งลงเจรจาข้อตกลงนี้กันใหม่เลย
ยุน ซุน แห่งศูนย์ Stimson Center กล่าวว่า สำหรับทางจีนนั้น สื่อรัฐซึ่งติดตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์มาโดยตลอด เริ่มไม่พูดถึงประเด็นนี้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ขณะที่ กรุงปักกิ่งเองมีท่าทีผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังพยายาม “สร้างความร้าวฉาน” ระหว่างสองพันธมิตรนี้มานาน
ฌอน คิง รองประธานบริษัท Park Strategies กล่าวปิดท้ายว่า การที่ฟิลิปปินส์กลับมาคืนดีกับสหรัฐฯ อีกครั้งจะช่วยรัฐบาลกรุงวอชิงตันเดินหน้าประสานงานกับประเทศพันธมิตรอื่นๆ ในเอเชียได้มากขึ้น และ “การรักษาข้อตกลง VFA ไว้ พร้อมกับการเจรจาเมื่อต้นปีเกี่ยวกับการแบ่งปันภาระรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ยังทำให้รู้สึกว่า ประธานาธิบดี (โจ) ไบเดน สามารถหาเพื่อนและพันธมิตรมาช่วยประจันหน้ากับแผนการของจีนในการสร้างอิทธิพลและความเป็นผู้นำในภูมิภาค(นั้น) ได้มากขึ้นด้วย”