ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ร่วมโต๊ะหารือประเด็นนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ


The Academy of National Defense Science conducts long-range cruise missile tests in North Korea, as pictured in this combination of undated photos supplied by North Korea's Korean Central News Agency (KCNA) on Sept. 13, 2021.
The Academy of National Defense Science conducts long-range cruise missile tests in North Korea, as pictured in this combination of undated photos supplied by North Korea's Korean Central News Agency (KCNA) on Sept. 13, 2021.

คณะผู้แทนพิเศษจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เดินทางเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนจากญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว ในวันอังคาร เพื่อหารือกรณีโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ หลังรัฐบาลกรุงเปียงยางทำการทดสอบยิงขีปนาวุธไปเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า ซัง คิม ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเกาหลีเหนือ และ โนห์ คยู-ดุค ผู้แทนพิเศษจากเกาหลีใต้ ฝ่ายกิจการด้านความมั่นคงและสันติภาพคาบสมุทรเกาหลี เข้าร่วมประชุมกับ ทาเคฮิโร ฟูนาโคชิ อธิบดีกรมกิจการด้านเอเชียและโอเชียเนียของญี่ปุ่น เผื่อถกหนทางจัดกับการสถานการณ์ล่าสุดในเกาหลีเหนือ

เมื่อวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สื่อทางการของเกาหลีเหนือรายงานว่า กองทัพได้ทำการทดสอบ “จรวดขีปนาวุธพิสัยไกลที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่” โดยขีปนาวุธดังกล่าวมีความสามารถในการบินในระดับความสูงที่ค่อนข้างต่ำและมีระบบนำทางในตัว ซึ่งทำให้หลุดรอดจากการตรวจจับของเรดาร์ได้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ขีปนาวุธใหม่ของเกาหลีเหนือดูคล้ายกับขีปนาวุธ "โทมาฮอว์ก" ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้และมีพิสัยทำการ 1,600 กิโลเมตร ขณะที่ ทางเกาหลีเหนือส่งสัญญาณว่า ขีปนาวุธใหม่ของตนนั้นสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกาหลีเหนือมีหัวรบขนาดเล็กพอที่จะใช้ติดตั้งได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การทดสอบอาวุธใหม่ของเกาหลีเหนือครั้งล่าสุดเป็นการเปิดตัวอาวุธร้ายแรงชิ้นใหม่ของกรุงเปียงยาง ซึ่งเดินหน้าขยายสรรพกำลังกองทัพอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2019

ในส่วนของการประชุมที่กรุงโตเกียวนั้น ผู้แทนพิเศษจากทั้งสามประเทศได้ร่วมกันตอบคำถามผู้สื่อข่าวก่อนจะเริ่มหารือประเด็นต่างๆ โดย ซัง คิม ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ระบุว่า สถานการณ์ล่าสุดในเกาหลีเหนือเป็นการเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการติดต่อสื่อสารและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ โนห์ คยู-ดุค ผู้แทนพิเศษจากเกาหลีใต้ กล่าวเสริมว่า การที่ตัวแทนทั้งสามประเทศสามารถร่วมหารือวิธี “จัดการกับเกาหลีเหนือ โดยอ้างอิงถึงความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับความเร่งด่วนในการปลดอาวุธนิวเคลียร์” ถือเป็นเรื่องที่ดี

ที่ผ่านมา ซัง คิม พยายามยืนยันมาตลอดว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันยังคงยินดีที่จะใช้ช่องทางทางการทูตเพื่อจัดการกับกรณีของเกาหลีเหนือ แม้รัฐบาลกรุงเปียงยางจะปฏิเสธท่าทีดังกล่าวเสมอมา โดยอ้างว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อให้ตนเกิดความมั่นใจ เพราะยังคงดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเดินหน้าทำการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้เป็นประจำ

(ข้อมูลบางส่วนมาจากสำนักข่าว เอพี – รอยเตอร์ – เอเอฟพี)

XS
SM
MD
LG