ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: รอง ปธน. สหรัฐฯ เตรียมเยือนชาติอาเซียน มุ่งสานสัมพันธ์ในภูมิภาค


Vice President Kamala Harris speaks about the bipartisan infrastructure bill from the East Room of the White House in Washington, Tuesday, Aug. 10, 2021.(AP Photo/Susan Walsh)
Vice President Kamala Harris speaks about the bipartisan infrastructure bill from the East Room of the White House in Washington, Tuesday, Aug. 10, 2021.(AP Photo/Susan Walsh)

นักวิเคราะห์ระบุว่า กำหนดการเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ในสัปดาห์หน้า จะช่วยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แข่งขันกับอิทธิพลของจีนในภูมิภาคดังกล่าวได้

ไซโมน แซนเดอส์ โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า นางแฮร์ริสจะเดินทางเยือนศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ และอดีตคู่สงครามของสหรัฐฯ อย่างเวียดนาม โดยเธอมีกำหนดหารือกับทั้งสองประเทศเกี่ยวกับความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และความร่วมมือเพื่อสนับสนุนกติกาสากล

กำหนดการของนางแฮร์ริสมีขึ้นหลังจากพลเอกลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางเยือนทั้งสองประเทศและฟิลิปปินส์เมื่อปลายเดือนที่แล้ว และหลังจากนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประชุมออนไลน์กับชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม

ในขณะที่นางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ เดินทางเยือนไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมประกาศว่า สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและด้านโรคระบาดแก่ภูมิภาคนี้อีก 55 ล้านดอลลาร์

คณะผู้แทนสหรัฐฯ ในอาเซียน ระบุในแถลงการณ์ว่า กำหนดการเยือนภูมิภาคดังกล่าวของสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญต่อวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ ต่อ “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ทั้งนี้ สหรัฐฯ มักใช้คำดังกล่าว รวมถึงคำว่า “กติกาสากล” เพื่อสื่อถึงการเข้าถึงทะเลจีนใต้ได้อย่างเสรีโดยไม่ถูกปิดกั้น

ทั้งนี้ จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทับซ้อนกับเขตเศรษฐกิจทางทะเลของบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปินส์ และเวียดนาม โดยจีนส่งสัญญาณเตือนประเทศคู่กรณีด้วยการสร้างเกาะเทียมสำหรับการทหารและแล่นเรือผ่านบริเวณที่มีข้อพิพาท

FILE PHOTO: Philippine Coast Guard personnel survey several ships believed to be Chinese militia vessels in Sabina Shoal in the South China Sea, in a handout photo distributed by the Philippine Coast Guard on May 5 and taken according to source on April 2
FILE PHOTO: Philippine Coast Guard personnel survey several ships believed to be Chinese militia vessels in Sabina Shoal in the South China Sea, in a handout photo distributed by the Philippine Coast Guard on May 5 and taken according to source on April 2


แม้ว่าเมื่อปี ค.ศ.2016 ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะไม่รับคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือเส้นประเก้าเส้น ที่กำหนดให้พื้นที่ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรในทะเลดังกล่าวเป็นของจีน แต่จีนก็ยังคงมอบความช่วยเหลือด้านสาธารณปูโภคที่สำคัญและมอบวัคซีนโควิดให้ประเทศคู่พิพาทในทะเลจีนใต้ โดยจีนยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางทหารมากที่สุด และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชีย และขยายศักยภาพกองทัพเรือของตนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

บทวิเคราะห์ของศูนย์ Center for Strategic International Studies ในกรุงวอชิงตันที่เผยแพร่เมื่อปีค.ศ. 2019 ระบุว่า รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลีกเลี่ยงการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นนโยบายที่สวนทางกับนโยบายการค้าแบบดั้งเดิมของสหรัฐฯ และทำให้ภูมิภาคดังกล่าวเผชิญกับความไม่แน่นอนท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงต้องการพันธมิตรในภูมิภาคนี้เพื่อคานกับการขยายอำนาจของจีน โดยเมลิสซา บราวน์ อุปทูตของคณะผู้แทนสหรัฐฯ ประจำอาเซียน ระบุว่า รัฐบาลของนายไบเดนพยายามขยายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และสุขภาพกับอาเซียน

บทวิเคราะห์ของสถาบัน Foreign Policy Research Institute เมื่อเดือนมิถุนายน ระบุว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสำคัญกับบทบาทของสหรัฐฯ ด้านความมั่นคง โดยสหรัฐฯ มักส่งเรือรบ ขายอาวุธ และช่วยฝึกกองกำลังในภูมิภาคเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม ชาติสมาชิกอาเซียนมักไม่เข้าหามหาอำนาจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจนเกินไป

สตีเฟน เนกี รองศาสตราจารย์อาวุโสด้านการเมืองและการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคริสเตียนนานาชาติในกรุงโตเกียว ระบุว่า การที่สหรัฐฯ ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะ แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับภูมิภาคดังกล่าวในระยะยาว และเขาหวังว่าจะเห็นการทูตในระดับสูงเช่นนี้เพิ่มขึ้นต่อไป

XS
SM
MD
LG