เมื่อต้นเดือนกันยายน บริษัท "เซี่ยงไฮ้ อินเตอร์เเนชั่นเนล พอร์ต กรุ๊ป" ซึ่งเป็นกิจการของรัฐบาลจีนเข้าบริหารจัดการ ท่าเรือเมืองไฮฟาของอิสราเอล ที่เป็นศูนย์กลางการค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีสัญญาบริหารยาวนาน 25 ปี
ตัวอย่างดังกล่าวเเสดงให้เห็นถึงการขยายเครือข่ายท่าเรือภายใต้อิทธิพลของจีนในอย่างน้อย 60 ประเทศ ผ่านการลงทุนในท่าเรือราว 100 แห่งนอกแผ่นดินจีน
นอกจาก "เซี่ยงไฮ้ อินเตอร์เเนชั่นเนล พอร์ต กรุ๊ป" แล้ว บริษัทขนส่งทางเรือของจีนอื่นๆเช่น ไชน่า เมอร์เชนต์ส กรุ๊ป (China Merchants Group) และ คอสโค ชิปปิ้ง (COSCO Shipping) ยังร่วมช่วยสร้างเครือข่ายขนส่งทางเรือด้วย
COSCO Shipping เป็นผู้ที่กำลังแผ่ขยายกิจการท่าเรือในต่างประเทศ จากที่บริหารท่าเรือ 36 แห่งทั่วโลก ตั้งเเต่ในเอเชียอาคเนย์ไปจนถึงตะวันออกกลางและเขตเมดิเตอร์เรเนียน
ขณะนี้ COSCO กำลังพยายามขอซื้อหุ้นในท่าเรือประเทศเยอรมนีที่เมืองฮัมเบิร์ก คาดว่าจะทราบผลการเจรจาอีกไม่นานนี้
หากสำเร็จท่าเรือเมืองฮัมเบิร์ก จะเป็นการลงทุนโครงการที่ 8 ในยุโรปของ COSCO ในกิจการท่าเรือ ถือเป็นการสยายปีกของบริษัทที่ต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของท่าเรือพิราอุสประเทศกรีซ ที่เชื่อมต่อเส้นทางการค้าของยุโรป เอเชีย และแอฟริกา
อดีตรัฐมนตรีอังกฤษ เลียม ฟ็อกซ์ ที่เคยดูเเลงานกลาโหมและการค้าระหว่างประเทศ ร่วมเขียนบทความในสื่อ Daily Mail กับ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐฯโรเบิร์ต แมคฟาร์เลน
บทความดังกล่าวระบุว่า จีนเป็นเจ้าของท่าเรือ 96 แห่งทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นอิทธิพลด้านยุทธศาสตร์ที่เหนือประเทศอื่น "โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทหารแม้เเต่คนเดียว รวมทั้งเรือรบและอาวุธใดๆ"
การขยายเครือข่ายท่าเรือนี้คล้องจองกับแผนยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ภายใต้ "เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21" ที่เชื่อมเส้นทางการค้าจากจีนสู่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาเเละยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative หรือ "การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนของจีน รวมถึง อาจารย์ แซม บีตสัน แห่งมหาวิทยาลัย King's College ที่กรุงลอนดอน กล่าวว่า โดยรวมรัฐบาลประเทศต่างๆ เห็นความสำคัญทางเศรษฐกิจจากการลงทุนของจีนเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งยากที่จะปฏิเสธบทบาทของจีนเรื่องดังกล่าว
ส่วนเครก ซิงเกิลตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนแห่ง Foundation for Defense of Democracies กล่าวกับวีโอเอว่า ความเชื่อมต่อของท่าเรือเหล่านี้ภายใต้การบริหารของจีน ช่วยให้จีนใช้อิทธิพลการเมืองผ่านเครือข่ายนี้ได้ ไม่ใช่เเต่ในเฉพาะประเทศที่เป็นที่ตั้งของท่าเรือเเต่สู่ประเทศที่อยู่ใกล้เคียงด้วย
นอกจากนี้ท่าเรือพาณิชย์อาจถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางกลาโหมด้วย
จีนได้สร้างฐานทัพนอกประเทศแห่งเเรกที่ท่าเรือของประเทศจิบูติ ซึ่งอยู่บริเวณจุดเข้าทะเลเเดงและคลองซูเอซ
เครก ซิงเกิลตัน กล่าวว่า การเสริมจุดประสงค์ด้านการทหารให้กับท่าเรือที่จิบูติ สะท้อนว่าจีนอาจสนใจทำเช่นเดียวกันในอีกหลายประเทศ เช่น แทนซาเนีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน และเมียนมา
นอกจากนี้ ประเด็นที่สร้างปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและอิสราเอลหลักประเด็นหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา คือการที่อิสราเอลให้จีนเข้าซื้อท่าเรือเมืองไฮฟา ซึ่งเป็นบริเวณที่กองเรือที่หกของทัพเรืออเมริกันเทียบท่าอยู่ โดยทางอเมริกันกังวลว่าท่าเรือนี้จะถูกจีนถูกใช้เพื่อการสอดเเนม
อายัล พินโค อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอิสราเอล บอกกับวีโอเอว่าความกังวลดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเพราะ "คุณจะอะไรก็ได้ที่ต้องการ คุณคือเจ้าของที่"