Your browser doesn’t support HTML5
ในการเปิดเผยยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สัญญาว่าจะรักษาสมดุลอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะ "อินโด - แปซิฟิก" ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ดังกล่าว ตามด้วย ยุโรป และตะวันออกกลาง
นักวิเคราะห์ต่างจับตามองยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ในช่วงที่จีนกำลังขยายอิทธิพลอย่างเข้มแข็งในเอเชีย จนทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงสงสัยคือ สหรัฐฯ จะควบคุมอำนาจของจีนได้อย่างไร โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งหลายประเทศกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์
แต่ในขณะที่การแข่งขันแย่งชิงอำนาจในแถบนี้ยังดำเนินต่อไป ดูเหมือนหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ แสดงความต้องการที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ เพื่อหันไปเพิ่มศักยภาพและความสำคัญทางเศรษฐกิจแทน
เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐฯ โฮเซ่ มานูเอล จี โรมูอัลเดซ (Jose Manuel G. Romualdez) กล่าวปราศรัยประจำปีเมื่อเร็วๆ นี้ว่า "การพัฒนาและฟื้นฟูโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ คือภารกิจหลักอันดับหนึ่งของรัฐบาลประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตรเต้"
และว่า "สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ขณะนี้เริ่มบรรเทาความตึงเครียดลงแล้ว หลังจากที่ฟิลิปปินส์เริ่มพัฒนาความร่วมมือกับจีนเพื่อแก้ปัญหานี้ และโครงการก่อสร้างของจีนในทะเลจีนใต้ก็ระงับลงเช่นกัน"
ทูตฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้พูดคุยกับรัฐบาลจีน ทั้งแบบทวิภาคี และผ่านที่ประชุมระดับภูมิภาค คือ อาเซียน ในเรื่องการลดความตึงเครียดในทะเลแถบนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้ โครงการก่อสร้างเกาะเทียมและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการทหารของจีนในทะเลจีนใต้ ได้ก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างจีนกับประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะ เวียดนามและฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ประธานาธิบดีดูเตรเต้ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ดูเหมือนการเจรจาระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์จะมุ่งเน้นไปที่การค้าและการลงทุน มากกว่าประเด็นการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้
ปัจจุบัน จีนดูเหมือนจะกลายเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่สำหรับโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ในฟิลิปปินส์ ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรกับฟิลิปปินส์มาอย่างยาวนาน
แต่เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐฯ โฮเซ่ โรมูอัลเดซ กล่าวปกป้องท่าทีของฟิลิปปินส์ว่า เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการสานสัมพันธ์กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและคู่ค้าต่างๆ ของฟิลิปปินส์
ทูตโรมูอัลเดซยังได้ระบุถึงข้อตกลงที่ฟิลิปปินส์ทำกับญี่ปุ่น ว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดังกล่าวของฟิลิปปินส์ และว่าขณะนี้ จีนและญี่ปุ่นต่างกำลังแข่งขันเพื่อเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งในฟิลิปปินส์
โดยก่อนหน้านี้ โตเกียวได้ตกลงที่จะให้เงินทุนในการก่อสร้างระบบรถไฟใต้ดินในกรุงมะนิลา
ทูตฟิลิปปินส์ยังบอกด้วยว่า ต้องการเห็นสหรัฐฯ มีบทบาททางเศรษฐกิจในฟิลิปปินส์มากกว่านี้ด้วย
ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์บางคนที่ Center for Strategic and International Studies’ (CSIS) และสถาบันการป้องกันประเทศของฟิลิปปินส์ ชี้ว่า กลยุทธ์ที่ฟิลิปปินส์ใช้ในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นวิธีที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้อยู่
ขณะเดียวกัน คุณแฮงก์ เฮนดริคสัน (Hank Hendrickson) อดีตทูตสหรัฐฯ และผู้บริหารของ US-Philippines Society กล่าวว่า แม้ฟิลิปปินส์กำลังเอนเอียงไปหาจีนและญี่ปุ่นมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ แต่ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะในมุมมองของอาเซียน สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้รักษาสมดุลในภูมิภาคนี้
ขณะที่ฟิลิิปปินส์เองก็มีความสำคัญกับยุทธศาสตร์ใน "อินโด - แปซิฟิก" ของสหรัฐฯ เช่นกัน
นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ คือ Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) และ Bilateral Strategic Dialogue (BSD) ควรถูกใช้เป็นแนวทางในการผสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีอย่างเป็นรูปธรรม หลังการเจรจาหารือคร่าวๆ ระหว่าง ปธน.ทรัมป์ กับ ปธน.ดูเตรเต้ ที่กรุงมะนิลา เมื่อไม่นานนี้ด้วย