ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้วเป็นต้นมา เมื่อประธานาธิบดีโรดริโก้ ดูแตร์เต้ เข้ารับตำแหน่ง ฟิลิปปินส์มีท่าทีแยกตัวออกห่างจากนโยบายและอิทธิพลของสหรัฐฯ หลังจากที่ถูกตำหนิวิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายปราบปรามยาเสพติด
แต่เมื่อปลายเดือนกันยายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ได้บอกกับประธานคณะอนุกรรมการกิจการเอเซียตะวันออกของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่าฟิลิปปินส์ต้องการกลับมามีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ อย่างแข็งขันอีกครั้ง
สหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์นั้นเป็นพันธมิตรทางทหารอย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 และขณะนี้สหรัฐฯ ก็เป็นประเทศผู้ลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในฟิลิปปินส์ ด้วยจากเม็ดเงินลงทุนถึงกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์ และมีมูลค่าการค้าซึ่งกันและกันกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
โดยขณะนี้ผู้จ้างงานรายใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์คือบริษัท Convergys ซึ่งเป็นธุรกิจอเมริกันจ้างงานถึงกว่า 60,000 ตำแหน่งในฟิลิปปินส์
นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังมีส่วนสนับสนุนด้านเศรษฐกิจอย่างสำคัญต่อฟิลิปปินส์ด้วย จากการอนุญาตให้แรงงานฟิลิปปินส์ทำงานในตำแหน่งครูและพยาบาลได้ และในจำนวนชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศกว่า 10 ล้านคน ราว 3.4 ล้านคนทำงานอยู่ในสหรัฐฯ และส่งเงินกลับประเทศปีละหลายพันล้านดอลลาร์ด้วยกัน
ถึงกระนั้นก็ตาม ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ดูเหมือนจะมาพร้อมกับเงื่อนไขผูกพันบางอย่าง เช่นเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ระงับแผนการขายปืนไรเฟิลชนิดโจมตี 26,000 กระบอก และระงับเงินช่วยเหลือ 9 ล้านดอลลาร์สำหรับการฝึกอบรมต่อต้านยาเสพติดเพื่อประท้วงนโยบายปราบปรามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูแตร์เต้
แต่ก็ดูเหมือนว่าแรงกดดันจากกองทัพฟิลิปปินส์ รวมทั้งทัศนะในทางบวกของประชาชนฟิลิปปินส์ซึ่งราว 70% ในขณะนี้ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจสหรัฐฯมากกว่าประเทศอื่น อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประธานาธิบดีดูแตร์เต้ ต้องเปลี่ยนท่าที
อาจารย์ Carl Thayer ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกที่มหาวิทยาลัย University of New South Wales ในออสเตรเลีย บอกว่า ฟิลิปปินส์อาจถูกกดดันให้ผ่อนปรนท่าทีเกี่ยวกับสหรัฐฯ ลง จากฐานะของฟิลิปปินส์ที่เป็นประธานสมาคมอาเซียนในปีนี้
และจากบทบาทสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค เพราะขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องพึ่งพาความสนับสนุนจากวอชิงตันทั้งในด้านการค้าและด้านความมั่นคง