ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศพันธมิตรอีก 8 ประเทศ เดินทางมาถึงกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ในวันอาทิตย์ เพื่อร่วมประชุม ASEAN Summit และ East Asia Summit ในสัปดาห์นี้ โดยมีประเด็นด้านการค้า การลงทุน และความมั่นคง เป็นประเด็นหลัก
ในการประชุมสุดยอดกลุ่มอาเซียนที่กรุงมะนิลาในสัปดาห์นี้ นอกจากการลงนามเพื่อสนับสนุนการยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และการสร้างสันติภาพในทะเลจีนใต้ คาดว่าประเทศสมาชิกอาเซียนยังจะร่วมลงนามทางการค้าหลายฉบับ รวมทั้งการหารือมาตรการปกป้องแรงงานต่างด้าวในแต่ละประเทศด้วย
สำหรับในการประชุม East Asia Summit ซึ่งมีประเทศพันธมิตร 8 ประเทศ รวมทั้ง สหรัฐฯ รัสเซีย ญี่ปุ่น และ จีน ร่วมประชุมกับกลุ่มอาเซียนนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า บรรดาผู้นำอาเซียนต่างต้องการเห็น ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ให้คำรับรองว่าจะให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ต่อไป ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร เพื่อคานอำนาจของจีน ถึงแม้ต่างเชื่อว่าจะไม่มีการทำข้อตกลงใหญ่ๆ เกิดขึ้น ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในอาเซียน รวมถึงข้อตกลงซื้อขายอาวุธ
คาดว่า บรรดาผู้นำอาเซียนต่างต้องการผูกสัมพันธ์อันดีกับ ปธน.ทรัมป์ ด้วยการยอมรับนโยบาย “อเมริกามาก่อน” หรือ “America First” ของผู้นำสหรัฐฯ รวมทั้งออกเสียงสนับสนุนความพยายามของกรุงวอชิงตันในการยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ของกรุงเปียงยาง แลกกับความช่วยเหลือจากทางรัฐบาลสหรัฐฯ
อาจารย์ ตรึง เหงียน แห่งภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ Ho Chih Minh University of Social Science and Humanities ยกตัวอย่าง เวียดนาม ที่มีอเมริกาเป็นตลาดใหญ่สำหรับการส่งออก และยังต้องการให้รัฐบาลอเมริกันช่วยเหลือในการต้านทานอำนาจทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ด้วย
นักวิชาการชาวเวียดนามผู้นี้บอกว่า รัฐบาลกรุงฮานอยต้องการได้รับคำยืนยันจาก ปธน.ทรัมป์ ว่าจะยังคงรักษาบทบาทนำในการปกป้องสิทธิในการเดินเรือในแถบทะเลจีนใต้ รวมทั้งการตอบสนองต่อท่าทีก้าวร้าวของจีนที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ประเทศในอาเซียนอาจพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เพื่อไม่ให้จีนเกิดความไม่พอใจ ในขณะที่ ปธน.ทรัมป์ ก็อาจไม่มีอะไรเสนอเป็นการตอบแทนประเทศในอาเซียนมากนัก หากพิจารณาจากหลักการแบบ “อเมริกามาก่อน”
ขณะเดียวกัน คุณคริส เช็ง นักวิชาการแห่ง S.Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ เชื่อว่า รัสเซียจะยังไม่มีบทบาทมากนักในการประชุม East Asia Summit ครั้งนี้ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับรัสเซียยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า ค่อยเป็นค่อยไป และไม่แนบแน่นเหมือนจีนกับสหรัฐฯ
สำหรับในประเด็นด้านการค้าและการลงทุน คาดว่าประเด็นใหญ่คือความพยายามของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ที่ต้องการดึงการลงทุนจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ให้เข้ามาในประเทศของตน
ซึ่งในกรณีนี้ คุณโจอี้ คอมเซปซิออน แห่งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ ASEAN ให้ความเห็นว่า อาจเกิดการแข่งขันกันเองในหมู่ประเทศอาเซียน เพื่อยื้อแย่งเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ
นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าวว่า การแข่งขันในหมู่ประเทศสมาชิกนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียน และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และการกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึงก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายหลักการของอาเซียน ที่ก่อตั้งมาครบ 50 ปีในปีนี้เช่นกัน
(ผู้สื่อข่าว Ralph Jennings รายงานจากกรุงมะนิลา / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)