กระทรวงการเกษตรของจีนกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จะบังคับใช้คำสั่งห้ามการประมงที่เข้มงวดกว่าเดิมในทะเลจีนใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ เพื่อปกป้องทรัพยากรปลาในทะเล
รัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่งเคยประกาศใช้คำสั่งห้ามทำการประมงในทะเลจีนใต้มาก่อนหน้านี้ โดยครั้งเเรกประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1995 และมีการจับเรือประมงที่ละเมิดคำสั่ง
และหากจีนใช้คำสั่งนี้อีก นักวิเคราะห์ชี้ว่าจีนเสี่ยงที่จะทำลายความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมากับเวียดนามและฟิลิปปินส์
Fabrizio Bozzato นักวิจัยผู้ช่วยที่เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Tamkang ในไต้หวัน กล่าวว่า จีนได้ประกาศที่จะบังคับใช้คำสั่งห้ามการประมงนี้โดยไม่ปรึกษากับชาติอื่นๆ ที่อ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลเเห่งนี้
เขากล่าวว่า หากจีนปรึกษากับเวียดนามและฟิลิปปินส์เสียก่อน สถานการณ์คงไม่เป็นเช่นนี้ เขาคิดว่าจีนต้องการแสดงให้ทุกคนเห็นว่าจีนเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ทั้งหมด เเละมีสิทธิ์เพียงผู้เดียวในการใช้ทรัพยากรทางทะเลในทะเลจีนใต้
คุณเติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ นักวิจัยทุนที่สถาบันศึกษาเอเซียอาคเนย์ (ISEAS) ในสิงคโปร์ กล่าวว่า เป็นไปได้ที่เวียดนามกับฟิลิปปินส์จะไม่ใส่ใจต่อคำสั่งนี้ของจีน เเละปล่อยให้เจ้าของเรือประมงเเต่ละเจ้าตัดสินใจกันเองว่าจะละเมิดคำสั่งนี้หรือไม่
เขากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับชาวประมงท้องถิ่นที่จะเสี่ยงต่อการถูกจับกุมโดยเรือลาดตระเวณของจีนหรือไม่ ซึ่งชาวประมงเหล่านี้ถูกจับกุมมานับครั้งไม่ถ้วนเเล้ว
ด้าน Herman Kraft นักรัฐศาสตร์เเห่ง University of Philippines Diliman กล่าวว่าทางการฟิลิปปินส์จะหลีกเลี่ยงการออกคำเเนะนำให้เรือประมงของตนเพิกเฉยต่อคำสั่งห้ามของจีน เพราะการออกคำเตือนใดๆ อาจจะดูเหมือนเป็นการอ่อนข้อต่อจีน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าคำสั่งห้ามการประมงชั่วคราวในทะเลจีนใต้โดยทางการจีน ยังละเมิดต่อคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก
คำตัดสินของศาลในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ชี้ว่า คำสั่งห้ามการประมงที่คล้ายกันนี้เมื่อปี 2012 ไม่เคารพต่อสิทธิ์ของฟิลิปปินส์ในการจัดการแหล่งทรัพยากรทางทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ ที่กินพื้นที่ 200 ไมล์ทะเลจากเเนวชายฝั่งของประเทศ
เติมศักด์ เฉลิมพลานุภาพ กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าเวียดนามกับฟิลิปปินส์อาจจะออกมาท้าทายคำสั่งห้ามการประมงชั่วคราวของจีนนี้อย่างเเข็งขัน เนื่องจากคำพิพากษาของคณะอนุญาโตตุลากรที่ชี้ว่า จีนไม่มีความชอบธรรมตามกฏหมายในการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ขัดเเย้งหลายจุดในทะเลจีนใต้
เเต่เขากล่าวว่าจีนต้องการใช้คำสั่งห้ามการประมงชั่วคราวนี้ในการเเสดงสิทธิ์์ตามกฏหมายในการควบคุมพื้นที่ขัดเเย้งในทะเลจีนใต้ เพราะเท่าที่ผ่านมาทางการจีนปฏิเสธคำตัดสินของศาลโลกอย่างเเข็งขันมาตลอด
National Geographic รายงานเมื่อราวกลางปีที่แล้วว่า ทะเลจีนใต้ให้ผลผลิตปลาปีละ 16 ล้าน 6 เเสนตัน และอุตสาหกรรมการประมงจ้างงานถึง 3 ล้าน 7 เเสนคน แต่แหล่งปลาในทะเลจีนใต้กำลังลดลงหลังจากทำการประมงกันมานานหลายสิบปี
ด้านหนังสือพิมพ์ People’s Daily ของจีนรายงานว่า คำสั่งห้ามการประมงในเขตทะเลจีนใต้นี้ จะยาวนานกว่าครั้งก่อนราวหนึ่งเดือน และเข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับลักษณะของการทำประมง
แต่ทางสถาบัน Lawfare ในสหรัฐฯ กล่าวในข้อเขียนเเสดงความคิดเห็นว่า คำสั่งห้ามครั้งใหม่นี้ไม่ได้ระบุถึงสัญชาติของชาวประมง
(รายงานโดย Ralph Jennings / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)