ญี่ปุ่นประสบปัญหาในการกระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธภายในประเทศในช่วงที่กำลังพยายามเพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันประเทศเพื่อรับมือการขยายกำลังทหารของจีนในทะเลจีนตะวันออก
รัฐบาลกรุงโตเกียวจัดสรรงบประมาณ 315,000 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาด้านการทหารในช่วง 4 ปีข้างหน้า แต่บริษัทเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมรายใหญ่ของญี่ปุ่นยังคงลังเลที่จะผลิตอาวุธเพิ่มขึ้น
บริษัทเทคโนโลยีญี่ปุ่น
บริษัทญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกมักมีชื่อเสียงในด้านการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือรถยนต์ เช่น มิตซูบิชิ (Mitsubishi) โตชิบา (Toshiba) หรือซูบารุ (Subaru) แต่จริง ๆ แล้วบริษัทเหล่านี้ยังเป็นผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ด้วย
มิตซูบิชิ คือ ผู้ผลิตเครื่องบินรบและขีปนาวุธให้แก่กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (Japan Self-Defense Forces) โตชิบา คือ ผู้ผลิตแบตเตอรีคุณภาพสูงที่นำไปใช้ด้านการทหาร และซูบารุผลิตเฮลิคอปเตอร์ทหารเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีบริษัทไดกิน (Daikin) ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศชั้นนำซึ่งมีบริษัทสาขาที่ผลิตกระสุนด้วย
รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า เวลานี้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการให้บรรดาบริษัทอุตสาหกรรมเหล่านี้เพิ่มการผลิตยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ มากขึ้น แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ
มาตรการห้ามการส่งออกอาวุธ
นักวิเคราะห์ เท็ตสุโอะ โคตานิ แห่งสถาบันเพื่อกิจการต่างประเทศของญี่ปุ่น ให้ทัศนะว่า ญี่ปุ่นเพิ่งยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกอาวุธเมื่อปี 2014 ดังนั้นจึงมีบริษัทญี่ปุ่นเพียงไม่กี่รายที่สามารถส่งอาวุธออกไปขายในตลาดต่างประเทศได้
"ที่ผ่านมา ลูกค้าของบริษัทอาวุธในญี่ปุ่นคือกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่บริษัทเหล่านี้จะทำกำไรจากการขายอาวุธ ดังนั้นจึงมีบริษัทรายย่อยหลายแห่งที่ต้องออกจากธุรกิจนี้ไป" โคตานิกล่าว
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทญี่ปุ่นมากกว่า 100 แห่งที่ต้องออกจากอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธไป อ้างอิงจากบริษัทวิเคราะห์ด้านการเงิน นิคเคอิ (Nikkei)
เท็ตสุโอะ โคตานิ กล่าวด้วยว่า "รัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรการอุดหนุนบรรดาบริษัทผลิตอาวุธในประเทศ เพราะไม่ต้องการพึ่งพาบริษัทต่างชาติมากเกินไป ในความพยายามสร้างศักยภาพในการป้องกันตนเอง"
พันธมิตรชาติตะวันตก
เมื่อต้นปีนี้ ญี่ปุ่น อิตาลี และอังกฤษ ประกาศโครงการความร่วมมือพัฒนาเครื่องบินรบไอพ่นรุ่นใหม่ ชื่อว่า เทมเปสต์ (Tempest) โดยมีบริษัทมิตซูบิชิเข้าร่วมในโปรเจคนี้ด้วย ขณะเดียวกัน รัฐบาลกรุงโตเกียวก็จัดทำมาตรฐานด้านอาวุธใหม่ให้สอดคล้องกับของสหรัฐฯ และยุโรป
แกรนท์ นิวแชม อดีตนายพันแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ และผู้ประสานกับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น กล่าวว่า ความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ คือส่วนสำคัญที่สุดในด้านการทหารของญี่ปุ่น ดังนั้น ญี่ปุ่นควรรู้ว่าจะต้องใช้งบประมาณด้านการทหารของตนไปตรงจุดไหน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารผู้นี้กล่าวกับวีโอเอว่า "ญี่ปุ่นยังไม่มีกองบัญชาการเหล่าทัพร่วม นั่นหมายความว่าทัพบก ทัพเรือและทัพอากาศ ยังไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ดีเท่าที่ควร โดยรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจว่าจะเริ่มจัดทำในปี 2025 ซึ่งอาจช้าเกินไป"
และว่า ขณะนี้ยังไม่มีกองบัญชาการร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเช่นกัน แม้สองประเทศจะเป็นพันธมิตรทางทหารร่วมกันมานานกว่า 60 ปี ซึ่งควรมีการจัดการเรื่องนี้โดยด่วน
แรงต้านจากประชาชน
เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่างต่อต้านการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร แต่ผลการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมชี้ให้เห็นว่า มากกว่า 40% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการให้ญี่ปุ่นเพิ่มขนาดของกองกำลังป้องกันตนเอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 29% เมื่อ 5 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์รายงานว่า บริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ของญี่ปุ่นต่างลังเลที่จะกระโจนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาวุธ เพราะเกรงว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทถูกผูกติดกับกองทัพมากเกินไป
มาซาฮิโกะ อาราอิ หัวหน้าฝ่ายระบบป้องกันตนเองของบริษัทมิตซูบิชิ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า แม้ตนหวังว่าการเข้าร่วมในการ "สร้างความมั่นคงปลอดภัย" ของญี่ปุ่นจะช่วยเสริมสร้างประโยชน์ให้แก่บริษัท แต่ก็ยังมีความกังวลเช่นกันว่าเมื่อสิ้นสุดช่วง 5 ปีของการทุ่มงบประมาณลงไปในด้านการทหารเพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพเสร็จสิ้นแล้ว อนาคตของบริษัทหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร
- ที่มา: วีโอเอ และรอยเตอร์