ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ญี่ปุ่นรำลึกวันครบรอบทิ้งระเบิดปรมาณู ท่ามกลางความตึงเครียดในอินโด-แปซิฟิก


คาซูมิ มัตสุอิ นายกเทศมนตรีฮิโรชิมาและตัวแทนของครอบครัวผู้สูญเสียนำส่งรายชื่อของเหยื่อระเบิดปรมาณูที่อนุสาวรีย์ที่ระลึกระหว่างพิธีรำลึกวันสำคัญนี้ ที่สวนอนุสรณ์สถานสันติภาพ ในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2023
คาซูมิ มัตสุอิ นายกเทศมนตรีฮิโรชิมาและตัวแทนของครอบครัวผู้สูญเสียนำส่งรายชื่อของเหยื่อระเบิดปรมาณูที่อนุสาวรีย์ที่ระลึกระหว่างพิธีรำลึกวันสำคัญนี้ ที่สวนอนุสรณ์สถานสันติภาพ ในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2023

ญี่ปุ่นจัดงานรำลึกวันครบรอบ 78 ปีของเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูลงเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งทำให้มีพลเมืองเสียชีวิตนับแสนและนำมาซึ่งการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2

กองทัพอากาศของสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกเข้าใส่เมืองฮิโรชิมาในเช้าวันที่ 6 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1945 และอีก 3 วันต่อมา ก็ดำเนินปฏิบัติการแบบเดียวกันในเมืองท่า นางาซากิ อันส่งผลให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศว่า ญี่ปุ่นขอยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม

มีการประเมินว่า มีประชาชน 215,000 คนเสียชีวิตทันทีหลังการทิ้งระเบิดเข้าใส่เมืองทั้งสองแห่ง ขณะที่ สถิติอาการป่วยจากกัมมันตภาพรังสีและโรคมะเร็งเพราะระเบิดปรมาณูทำให้มีผู้เสียชีวิตตามมาอีกนับหมื่นคนในช่วงหลายปีต่อมาด้วย

หนึ่งในผู้ที่เดินทางมายังฮิโรชิมาเพื่อร่วมพิธีรำลึกวันที่ประวัติศาสตร์ไม่มีวันลืมนี้คือ ซุอิจิ คิโด จากจังหวัดกิฟุ ซึ่งทุ่มเทชีวิตเพื่อรณรงค์ให้มีการปลดอาวุธนิวเคลียร์และการสร้างสันติภาพ และเขาก็บอกกับ วีโอเอ ว่า สิ่งที่เขาพยายามทำนั้นอาจกำลังเสียเปล่าแล้ว

ประชาชนเข้าร่วมกันสวดภาวนาที่ด้านหน้าของอนุสาวรีย์ที่ระลึกเหยื่อระเบิดปรมาณู ในสวนอนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2023
ประชาชนเข้าร่วมกันสวดภาวนาที่ด้านหน้าของอนุสาวรีย์ที่ระลึกเหยื่อระเบิดปรมาณู ในสวนอนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2023

คิโด กล่าวว่า ในเวลานี้ คนทั่วโลกกำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะกลายมาเป็นผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ฮิบาคุชะ (hibakusha) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งกองทัพรุกรานยูเครน ซึ่งทำให้ภาวะดังกล่าวดูใกล้ความเป็นจริงขึ้นทุกขณะ เพราะโอกาสของการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

และแม้ญี่ปุ่นเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ซึ่งมีเนื้อหาลดการตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเอง การรับรู้ถึงภัยคุกคามจากจีนและเกาหลีเหนือที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านทำให้ญี่ปุ่นเริ่มพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจุดยืนที่ว่า และเริ่มยกเครื่องกองกำลังป้องกันตนเองของประเทศอย่างมีนัยสำคัญแล้ว

เท็ตสุโอะ โคทานิ จาก Japan Institute of International Affairs ในกรุงโตเกียว กล่าวว่า ช่องว่างด้านความพร้อมทางทหารของญี่ปุ่นและจีนที่ห่างกันมากยิ่งทำให้ผู้นำด้านการเมืองญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญของการลดช่องว่างที่ว่า ขณะที่ ประชาชนชาวญี่ปุ่นเองก็สนับสนุนแนวคิดนี้ หลังเกิดสงครามในยูเครนขึ้น

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาบะ ได้เริ่มเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของประเทศและให้มีการตีความรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย และกระบวนการที่ว่าก็เริ่มมีพลวัตที่ชัดเจนเร่งด่วนขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยเอกสารด้านนโยบายที่รัฐบาลโตเกียวเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้วระบุว่า จะมีการเพิ่มงบกลาโหมของประเทศเป็น 2 เท่าภายในปี ค.ศ. 2027 และจะเร่งยกระดับความสามารถด้านการโจมตีฐานทัพของต่างชาติด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG