ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ญี่ปุ่นเล็งทบทวนรัฐธรรมนูญ หวังอนุญาตให้มีกองทัพรับภัยคุกคามเพื่อนบ้าน


กองเรือป้องกันตนเองของญี่ปุ่น แสดงศักยภาพที่อ่าวซากามิ
กองเรือป้องกันตนเองของญี่ปุ่น แสดงศักยภาพที่อ่าวซากามิ

ในสัปดาห์นี้ ญี่ปุ่นทำพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อปีค.ศ. 1945 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคนและถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

และในขณะที่รัฐธรรมนูญซึ่งนำมาใช้หลังสงครามโลกได้ระบุไว้ว่า ห้ามญี่ปุ่นมีกองทัพ แต่ภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งจีนและเกาหลีเหนือก็กำลังทำให้จุดยืนในเรื่องนี้เปลี่ยนไป

ซูอิชิ ไคโดะ ชายชาวญี่ปุ่นวัย 83 ปี หนึ่งในกลุ่มผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูเมื่อ 78 ปีที่แล้ว ซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกว่า "ฮิบากุชา" เล่าให้ฟังว่า "ผมได้ยินเสียงเครื่องบิน และเมื่อเงยหน้าขึ้นมองก็พบแสงสว่างจ้าและเสียงระเบิดดังลั่น ผมลอยไปไกลราว 20 เมตรและสลบไป คุณแม่ถูกไฟเผาที่ใบหน้าและอก ส่วนผมถูกไฟไหม้ใบหน้าครึ่งซีก"

ภาพความเสียหายที่เมืองฮิโรชิมา ไม่กี่สัปดาห์หลังจากถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูเมื่อปี 1945
ภาพความเสียหายที่เมืองฮิโรชิมา ไม่กี่สัปดาห์หลังจากถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูเมื่อปี 1945

ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตทันทีจากระเบิดปรมาณูสองลูกราว 215,000 คน และมีอีกหลายหมื่นคนที่เสียชีวิตเพราะอาการป่วยจากกัมมันตภาพรังสีในช่วงหลายเดือนหรือหลายปีต่อมา

ไคโดะและผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูอีกจำนวนมากจากทั่วโลก เดินทางไปยังเมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 78 ปีที่แล้ว และเพื่อร่วมกันเผยแพร่ข้อความแห่งสันติภาพ

"ประชาชนทุกคนบนโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็น 'ฮิบากุชา' เนื่องจากสงครามในยูเครน ซึ่งเป็นอันตรายยิ่งกว่าที่ผ่านมา" ไคโดะกล่าว

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นใช้รัฐธรรมนูญที่ห้ามการมีกองทัพ และต่อต้านการเข้าร่วมสงคราม แต่ท่าทีของญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนไปเนื่องจากความตึงเครียดและกิจกรรมทางทหารที่เพิ่มขึ้นในแถบอินโด-แปซิฟิก

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธหลายลูกไปตกในทะเลญี่ปุ่น ขณะที่จีนเพิ่มกิจกรรมทางทหารรอบไต้หวันและทะเลจีนใต้ ซึ่งญี่ปุ่นมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ

ภาพความเสียหายที่เมืองฮิโรชิมา ไม่กี่สัปดาห์หลังจากถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูเมื่อปี 1945
ภาพความเสียหายที่เมืองฮิโรชิมา ไม่กี่สัปดาห์หลังจากถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูเมื่อปี 1945

เท็ตสุโอะ โคตานิ แห่งสถาบันกิจการต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan Institute of International Affairs) ให้ทัศนะว่า "มีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนในด้านศักยภาพของการป้องกันประเทศ ซึ่งขณะนี้ผู้นำการเมืองของญี่ปุ่นตระหนักว่าเราควรอุดช่องว่างตรงนี้ ขณะที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นเองก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวมากขึ้นเนื่องจากเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน"

รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมอีกสองเท่าภายในปี 2027 และติดตั้งศักยภาพในการโจมตีฐานทัพของศัตรู ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกห้ามมานานหลายสิบปี

เท็ตสุโอะ กล่าวว่า ทัศนคติของชาวญี่ปุ่นที่มีต่ออาวุธนิวเคลียร์ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยปัจจุบันชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาระบบป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับฮิบากุชาจำนวนมากที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูมาแล้ว รวมทั้งซูอิชิ ไคโดะ ต่างยังคงกังวลต่อความคิดที่เปลี่ยนไปดังกล่าว และเชื่อว่า "สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำความเข้าใจคือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศต่าง ๆ นั้นไม่สามารถแก้ไขจัดการได้ด้วยการใช้กำลังทหาร"

และในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่และทันสมัย ฮิบากุชาเหล่านี้ต่างหวังว่า บทเรียนจากฮิโรชิมาและนางาซากิจะไม่ถูกลืมเลือนเร็วเกินไป

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG