ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนเล็งฟื้นเวทีถกญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ หวังเขย่ากลุ่มก้อนพันธมิตรสหรัฐฯ


หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน (ขณะนั้น) ขณะพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากปาปัว นิวกินี (ที่มา: แฟ้มภาพ/AP)
หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน (ขณะนั้น) ขณะพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากปาปัว นิวกินี (ที่มา: แฟ้มภาพ/AP)

รัฐบาลกรุงปักกิ่งมีแผนจัดประชุมระดับสูงระหว่างตัวแทนรัฐบาลกรุงโซลและกรุงโตเกียว เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนสหรัฐฯ จัดประชุมผู้นำกับทั้งสองชาติ ผู้เชี่ยวชาญประเมิน ท่าทีของจีนสอดคล้องกับการกระชับสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือและรัสเซีย

รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น โยชิมาสะ ฮายาชิ เปิดเผยเรื่องแผนการของจีนระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เสนอให้จัดเวทีหารือดังกล่าวระหว่างการพบกันในเวทีอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ข้อเสนอดังกล่าวมีขึ้นหลังเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้เชิญประธานาธิบดี ยูน ซุก ยอล แห่งเกาหลีใต้ และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ร่วมพูดคุยกันในการประชุมผู้นำสามฝ่ายที่แคมป์เดวิด รัฐแมริแลนด์ ในวันที่ 18 สิงหาคมที่จะถึงนี้

การพูดคุยระหว่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นนั้นห่างหายไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ รวมถึงการแข่งขันอิทธิพลด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน หลิว เป็งหยู กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเกาหลีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่ากรุงปักกิ่งต้องการที่จะฟื้นฟูและพัฒนาความร่วมมือสามฝ่ายร่วมกับรัฐบาลกรุงโซลและกรุงโตเกียว

ในเวทีหารือที่เมืองชิงเต่า ประเทศจีน เมื่อ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา หวัง อี้ ขอให้ตัวแทนจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นยืนข้างจีนในการพัฒนาเอเชียด้วยการฟื้นฟูความร่วมมือระหว่าง 3 ชาติเช่นกัน

อีแวนส์ เรเวียร์ อดีตรักษาการณ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มองว่าเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องมีช่องทางติดต่อสื่อสารกับจีน ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าจีนมีวาระที่สร้างความท้าทายต่อทั้งสองชาติและต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างไรด้วย

“เป้าหมายของจีนนั้นรวมถึงการมีอำนาจนำในภูมิภาค ลดอำนาจและสมรรถนะของพันธมิตรสหรัฐฯ - ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ - สาธารณรัฐเกาหลี และสกัดกั้นวอชิงตัน โซล และโตเกียวจากการเคลื่อนวาระร่วมกันในการสนับสนุนภูมิภาคที่เปิดกว้างและเสรี”

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง โซล โตเกียวและวอชิงตันจะต้องไม่พลาดที่จะอยู่ในจังหวะก้าวที่สอดคล้องใกล้เคียงกันขณะที่กำลังก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้” เรเวียร์กล่าว

อีกด้านหนึ่ง จีนก็มีความพยายามที่จะกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียและเกาหลีเหนือด้วย โดยทางจีนมีการส่งผู้แทนระดับสูงไปเยือนกรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และยังมีการประกาศร่วมกันว่าจะยกระดับความสัมพันธ์กันด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

นอกจากจีนแล้ว รัสเซียยังได้ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เซอร์เกย์ ชอยกู ไปเยือนกรุงเปียงยางในวาระครบรอบ 70 ปีสัญญาสงบศึกในสงครามเกาหลีเมื่อเดือนเดียวกันด้วย โดยผู้แทนทั้งสองชาติได้รับการต้อนรับจากผู้นำสูงสุด คิม จอง อึน และชมพาเหรดแสดงแสนยานุภาพทางทหารร่วมกัน

แดเนียล รัสเซล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา มองว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งเชื่อว่าตนเองอยู่ในการต่อสู้แข่งขันระยะยาวกับสหรัฐฯ ชาติตะวันตก รวมถึงเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และมองเกาหลีเหนือและรัสเซียเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการต่อสู้นี้

“เหล่าผู้นำของจีนอาจจะเชื่อว่าภัยคุกคามที่สร้างขึ้นโดยเกาหลีเหนือและรัสเซียนั้นเป็นคุณกับผลประโยชน์ของจีนด้วยการโยกย้ายหรือดูดทรัพยากรของตะวันตก” รัสเซลกล่าว

เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังมองด้วยว่า ข้อเสนอเพื่อการพูดคุยจากจีน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ที่นักลงทุนกำลังหนีออกจากตลาดจีน และฐานการผลิตที่ย้ายออกจากจีนไปที่อินเดียหรือเวียดนาม การเข้าหาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จึงมีเป้าหมายทั้งเพื่อดึงดูดการลงทุน การผลิต ความสัมพันธ์ทางการทูต รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของทั้งสองชาติให้มาที่จีนมากขึ้น

โจเซฟ เดทรานี อดีตผู้แทนพิเศษในเวทีพูดคุยเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์เมื่อต้นทศวรรษที่ 2000 มองว่าจีนต้องการสร้างภาพว่าความพยายามใด ๆ ที่จะโดดเดี่ยวเศรษฐกิจของจีน ก็จะส่งผลกระทบต่อคู่ค้าสำคัญอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นด้วย และไม่คิดว่าท่าทีของจีนจะส่งผลกระทบอะไรระหว่างสหรัฐฯ กับอีกสองชาติดังกล่าว

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG